วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

ควรยกเลิก JD ดีหรือไม่?

        คำถามข้างต้นนี้อาจเกิดจากแนวคิดที่ว่าปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานอย่างรวดเร็ว ถ้าคนทำงานมัวแต่ทำงานตาม JD (Job Description) ก็จะติดกรอบและจะทำงานตาม JD เท่านั้น โดยไม่ยอมทำงานที่นอกเหนือ JD แม้หัวหน้าจะบอกจะสั่งให้ทำงานอื่นก็จะยังยืนยันที่จะทำงานตาม JD ของตัวเองเท่านั้น ซึ่งจะทำให้องค์กรเกิดปัญหา

          ก็เลยสรุปว่าถ้าคนทำงานติดกรอบติด JD แบบนี้ก็ควรยกเลิก JD ไปเสียเลยจะดีกว่า!

            ถ้าจะถามผมว่าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ไหม?

            เรามา Back to the basic กันก่อนดีไหมครับว่าการทำ JD มีวัตถุประสงค์หลักคือ….

1.      เพื่อให้คนใหม่ (คนเข้าใหม่หรือคนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาหรือถูกโยกย้ายมา) รู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไรบ้าง จะต้องรับผิดชอบอะไรบ้างในตำแหน่งนี้

2.      เพื่อให้เจ้าของตำแหน่ง (ก็คือคนที่ทำในปัจจุบัน) เข้าใจตรงกันกับหัวหน้าว่างานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง

แล้วถ้าไม่มี JD จะเกิดอะไรขึ้น?

1.      เกิดปัญหาในการสรรหาคัดเลือก ถ้าบริษัทจะสรรหาคัดเลือกจ้างคนนอกเข้ามาทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ จะกำหนดคุณสมบัติของคนที่ต้องการได้ยังไง สเป็คของผู้สมัครจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหรือไม่ เพราะขนาดมี JD ที่ระบุงานและความรับผิดชอบ, คุณวุฒิการศึกษา, ประสบการณ์ทำงาน ฯลฯ ที่ชัดเจนก็ยังมีปัญหาดราม่าระหว่าง HR กับ Line Manager อยู่บ่อยไปว่า HR หาคนไม่ตรงสเป็ค การหาคนที่ใช่ที่เหมาะกับตำแหน่งก็มีแนวโน้มจะใช้ความรู้สึกมากกว่าข้อมูล ก็จะเกิดปัญหาได้คนมีคุณสมบัติไม่เหมาะกับตำแหน่งตามมา

2.      เกิดปัญหาในการวัดความสำคัญของตำแหน่งงานในองค์กร JD ใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก (แต่มักถูกมองข้าม) ตัวหนึ่งในการนำไปประกอบการประเมินค่างาน (Job Evaluation) และจะนำผลจากการประเมินค่างานไปทำโครงสร้างเงินเดือนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ต่อไป ถ้าไม่มี JD การประเมินค่างานจะเกิดปัญหาเป๋ไปเป๋มาเพราะไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับความรับผิดชอบของตำแหน่งต่าง ๆ ในบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ครั้นจะใช้การบอกเล่าด้วยวาจามันก็คงจะดูไม่ Professional จริงไหมครับ

3.      เกิดปัญหาในการทำโครงสร้างเงินเดือนและการบริหารค่าตอบแทน ทำให้เราไม่รู้ว่าตำแหน่งไหนสำคัญมากน้อยกว่าตำแหน่งไหนจะทำให้การ Match Job กับตลาดเพื่อทำโครงสร้างเงินเดือนผิดเพี้ยนได้ง่าย ซึ่งผมเคยบอกเรื่องความสำคัญของโครงสร้างเงินเดือนไปในหลายโอกาสแล้วว่าเป็นกติกาด้านการจ่ายค่าตอบแทนที่บริษัท “จะต้อง” มี ถ้าไม่มีโครงสร้างเงินเดือนก็จะย้อนกลับไปสู่ยุคการจ่ายค่าตอบแทนแบบใช้ความรู้สึกและอคติกับตัวบุคคลมากกว่าการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม Staff Cost บวม และไม่สามารถรักษาคนที่เก่งและดีเอาไว้ได้

4.      เกิดปัญหาในการประเมินผลการปฏิบัติงาน เมื่อไม่มี JD ลูกน้องต้องทำงานไปตามที่หัวหน้าสั่งการ ซึ่งหัวหน้าแต่ละคนก็จะมีสไตล์ในการทำงานที่แตกต่างกัน ถ้าลูกน้องทำงานกับหัวหน้าที่มี Judgement ที่ดี มีการสื่อสารที่ดีสม่ำเสมอต่อเนื่อง ติดตามงานและ Feedback การทำงานของลูกน้องโดยตลอดก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปเจอหัวหน้าที่สั่งแล้วลืม หรือคิดว่าลูกน้องต้องเองรู้สิว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องคิดเองเป็น ฯลฯ เมื่อถึงเวลาพิจารณาผลการปฏิบัติงานท่านลองคิดต่อนะครับว่าจะเกิดปัญหาในการประเมินผลงานจากหัวหน้าประเภทนี้หรือไม่ ซึ่งผลจากการประเมินก็จะนำไปสู่การขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือการจ่ายโบนัสที่ไม่เป็นธรรมในที่สุด

5.      เกิดปัญหาในการฝึกอบรมและพัฒนา ถ้าองค์กรจะทำระบบพัฒนาสมรรถนะในหน้าที่งานหรือ Functional Competency หรือการทำ Skill Metrix หรือ Skill Mapping ก็ตามจำเป็นต้องใช้ JD มาดูว่าในตำแหน่งต่าง ๆ ต้องการการพัฒนาแบบไหนยังไง เพื่อนำมาสู่การทำแผนพัฒนารายบุคคลเพื่อให้มีความพร้อมในการรับตำแหน่งที่สูงขึ้น และยังรู้ด้วยว่าในตำแหน่งที่สูงขึ้นนั้นจะต้องมีงานหรือความรับผิดชอบอะไรบ้าง ต้องการขีดความสามารถ (Competency) แบบไหน

6.      เกิดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ หากมีกรณีพิพาทด้านแรงงาน เช่น พนักงานไปร้องเรียนแรงงานเขตพื้นที่ หรือไปฟ้องศาลแรงงานว่าบริษัทกลั่นแกล้งรังแกลดตำแหน่งเขาลงจนทำให้เขาอับอายขายหน้าเสียศักดิ์ศรี ศาลท่านก็ต้องขอดูหลักฐาน JD ว่าตำแหน่งเดิมรับผิดชอบอะไร JD ตำแหน่งใหม่ทำงานอะไร ลักษณะงานต่างกันยังไง ฯลฯ บริษัทจะเอาอะไรไปชี้แจงให้แรงงานเขตฯ หรือศาลเข้าใจครับ

ที่สำคัญคือเมื่อทำ JD แล้วไม่ได้แปลว่าจะใช้ JD นั้นไปตลอดชีวิตโดยไม่มีการ Update นะครับ!

เช่น ในปัจจุบันมีสถานการณ์โควิด บริษัทอยากให้ทุกคนช่วยกัน สนับสนุนกันโดยไม่ทำงานแบบไซโลหรืองานใครงานมันก็ไม่ต้องยกเลิก JD หรอกครับ

เพียงให้หัวหน้าของแต่ละหน่วยงานก็ประชุมพูดคุยกับลูกน้อง (จะประชุมทั้งหมดหรือเป็นรายบุคคลก็ได้) ว่าในภาวะวิกฤติการณ์แบบนี้หัวหน้าอยากให้ลูกน้องคนไหนทำอะไรที่เพิ่มเติมจาก JD ปัจจุบันบ้าง แล้วก็ให้ลูกน้อง Update JD กลับมาให้หัวหน้าดูว่าเข้าใจตรงกันหรือยัง จะได้ทำงานต่อไปด้วยเป้าหมายเดียวกันด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน

ซึ่งการ Update JD เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ใช้เวลานานแบบยุคที่ใช้กระดาษแล้ว เพราะ JD ควรทำเป็นไฟล์เก็บในคอมฯ ก็เพียงลูกน้องเปิดไฟล์ JD ของตัวเองแล้วก็ Update งานที่เปลี่ยนแปลงลงไปแล้วก็อีเมล์ส่งหัวหน้ากับ HR ให้รู้ว่าตอนนี้รับผิดชอบอะไรบ้าง

ผมกลับมองว่าปัญหาของลูกน้องที่อ้างว่าจะทำงานเฉพาะใน JD ของตัวเองโดยไม่ยอมช่วยเหลือทีม ไม่ยอมช่วยเหลือเพื่อนพนักงานในฝ่ายอื่นไม่ได้เกิดจากปัญหาของการมี JD นะครับ

แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากตัวลูกน้องคนนั้น ๆ ต่างหาก!

ผมเปรียบเทียบเหมือนกับท่านมีคนขับรถ ท่านสั่งให้คนขับรถเหยียบคันเร่งขับให้เร็วกว่านี้ แต่คนขับรถบอกว่า “ผมขับเร็วกว่านี้ไม่ได้ครับนาย เพราะดูเข็มความเร็วตอนนี้ 90 กม./ชั่วโมงแล้วครับนายผมว่าความเร็วแค่นี้ก็พอแล้ว”

ถ้าเราบอกคนขับรถว่าตอนนี้บนมอเตอร์เวย์เขาให้วิ่งได้ 120 กม./ชั่วโมงแล้ว แต่คนขับรถก็ยังไม่ยอมขับให้เร็วกว่า 90 กม./ชั่วโมง

ถามว่าปัญหานี้เกิดจากเครื่องมือคือตัวมาตรวัดความเร็วหรือเกิดจากคนขับรถครับ?

ถ้าเราจะยกเลิกเครื่องมือที่สำคัญตัวนี้โดยเอากระดาษไปปิดมาตรความเร็ว คนขับจะได้ไม่เห็นมาตรและขับรถได้เร็วขึ้นจะแก้ปัญหานี้ได้จริงหรือไม่ จะเกิดอันตรายที่คนขับเหยียบคันเร่งไปถึง 150 หรือมากกว่านี้เพราะไม่เห็นมาตรความเร็วหรือไม่ หรือเราควรจะเปลี่ยนคนขับคนใหม่ แบบไหนจะดีกว่ากัน?

ปัญหาเกิดจากตัวคนก็ควรจะต้องแก้ที่ตัวคน เพราะถ้าปัญหาเกิดจากตัวคนแต่ไปยกเลิกเครื่องมือที่เป็น Ground Rule ที่สำคัญ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกในอนาคต

ที่พูดมาทั้งหมดท่านคงจะทราบแล้วนะครับว่าผมเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิก JD

ส่วนท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้จะคิดเห็นยังไงก็เป็นสิทธิของท่านโดยใช้หลักกาลามสูตรนะครับ