วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564

ค่าตอบแทน-(คุณ)ค่าคน-ค่างาน สัมพันธ์กันยังไง?

             ผมเคยเขียนสมการหนี่งเอาไว้คือ

          ค่าตอบแทน(เงินเดือนเป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทน)    =          P+C

            P หมายถึง Performance หรือผลการปฏิบัติงาน ส่วน C หมายถึง Competency คือสมรรถนะหรือความสามารถที่ประกอบด้วย K=Knowledge=ความรู้ในงานที่ทำ S=Skills=ทักษะในการลงมือทำงานนั้น และ A=Attributes=คุณลักษณะภายในตัวของผู้ปฏิบัติว่าเหมาะสมกับงานที่ทำมาก-น้อยแค่ไหน

            ซึ่ง P+C คือคุณค่าในตัวคนที่ทำงานนั้น ๆ ถ้าองค์กรเห็นว่าพนักงานคนใดมีคุณค่า (หรือ P+C) มากก็มักจะต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้ถูกองค์กรอื่นดึงตัวไป

            หรือถ้าพนักงานคิดว่าองค์กรไม่เห็นคุณค่าในตัวเขาเท่าที่ควรเขายังได้เงินเดือนน้อยกว่าคุณค่าที่เขามี เขาก็จะลาออกไปอยู่องค์กรที่ให้เงินเดือนเหมาะกับคุณค่าที่มีในตัวเขา

          แล้ว “ค่างาน” (Job Value) ที่มาจากการประเมินค่างานล่ะจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับค่าตอบแทน-ค่าคนในสมการข้างต้นยังไง?

            เพื่อให้เห็นภาพความสัมพันธ์ในภาพรวมทั้งหมดระหว่าง “ค่าตอบแทน-ค่าของคน-ค่างาน” ผมเลยนำภาพความเกี่ยวข้องกันทั้งหมดมาอธิบายตามนี้ครับ


1.      ถ้าพนักงานคนไหนมีผลงาน/ผลการปฏิบัติงาน (Performance) ที่ดีหรือมีสมรรถนะ/ขีดความสามารถ (Competency หรือมี K-S-A ที่เหมาะตรงกับงานที่รับผิดชอบ) องค์กรก็ควรจะต้องปรับเงินเดือน (หรือปรับค่าตอบแทนอื่น ๆ) เพิ่มให้เพื่อรักษาพนักงานที่มี “คุณค่า” หรือมี P+C คนนั้นเอาไว้ให้คงอยู่กับองค์กร

2.      ค่างาน (Job Value) ในภาพกล่องขวาสุดเกิดจากการประเมินค่างานโดยตำแหน่งที่มีค่างานสูง มีงานและความรับผิดชอบสูงกว่าจะถูกจัดอยู่ใน Job Grade ที่สูงกว่าตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบและมีค่างานที่ต่ำกว่า

3.      ในบรรทัดแถวล่างสุดผมสมมุติว่าเป็นตำแหน่ง “พนักงาน” ซึ่งตำแหน่งงานนี้จะมีความสำคัญของงานและความรับผิดชอบอยู่ในระดับที่ (1) หรือเรียกว่าอยู่ใน Job Grade (1) ตามค่างาน (Job Value) ที่ถูกคณะกรรมการประเมินค่างานของบริษัทประเมินเอาไว้ เมื่อองค์กรแต่งตั้งให้พนักงานคนใดมาทำงานในตำแหน่งที่อยู่ใน Job Grade (1) ก็จะได้รับเงินเดือนอยู่ในกรอบที่กำหนดเอาไว้ตามโครงสร้างเงินเดือนนี้ ผมสมมุติว่าใน Job Grade (1) มีกรอบการจ่ายเงินเดือน 10,000-20,000 บาท

4.      บรรทัดถัดขึ้นมาผมสมมุติว่าเป็นตำแหน่ง “หัวหน้าแผนก” ตำแหน่งงานนี้จะมีค่างาน (Job Value) คือมีความสำคัญของงานและความรับผิดชอบอยู่ในระดับที่ (2) ซึ่งคณะกรรมการประเมินค่างานได้พิจารณาแล้วเห็นว่าตำแหน่งหัวหน้าแผนกมีงานและความรับผิดชอบในค่างานสูงกว่าค่างานในตำแหน่งพนักงาน Job Grade (1) ดังนั้นเมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนใน Job Grade (2) โดยเปรียบเทียบกับตลาดแข่งขันแล้วจะมีกรอบการจ่ายสูงกว่า Job Grade (1) คือมีกรอบการจ่ายอยู่ที่ 20,001-40,000 บาท

5.      เมื่อดูสมการแถวล่างสุด (1) จะเห็นได้ว่าถ้าหากพนักงานยังคงทำงานเหมือนเดิม มีผลการปฏิบัติงานเหมือนเดิม มีความรู้/ทักษะ/คุณลักษณะภายในที่ใช้ในงานเท่าเดิมก็ย่อมจะได้รับเงินเดือนอยู่ในกรอบการจ่าย 10,000-20,000 บาท เพราะองค์กรจะพิจารณาว่า P+C ยังคงเท่าเดิม ดังนั้นคุณค่าในตัวพนักงานที่ทำงานคงอยู่ในค่างาน (Job Value) ปัจจุบันใน Job Grade (1)

6.      แต่ถ้าพนักงานคนไหนที่มีผลการปฏิบัติงานดีกว่าเดิม (P เพิ่มขึ้น) หรือมีสมรรถนะความสามารถ (มี Competency หรือมี K-S-A) เพิ่มขึ้น จนสามารถเลื่อนขึ้นไปรับตำแหน่งงานที่มี “ค่างาน” (Job Value) และมีความรับผิดชอบสูงขึ้นใน Job Grade (2) ก็ย่อมจะทำให้พนักงานคนนั้นมี “คุณค่า” ในตัวคนเพิ่มสูงขึ้น จึงควรจะต้องได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนให้ขึ้นไปอยู่ในกรอบการจ่ายที่สูงขึ้น (ในกรณีนี้คือ 20,001-40,000 บาท) ตามค่างานของ Job Grade (2) ตามไปด้วย

7.      จากสมการดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “ค่างาน” หรือ Job Value จึงเป็นเรื่องของความสำคัญของตำแหน่งงานที่องค์กรกำหนดไว้ก่อนหน้านี้จากการประเมินค่างานเป็นมาตรฐาน ส่วน “ค่าของคน” (P+C) เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลว่าคนไหนจะมีผลงานหรือมีขีดความสามารถจะรับผิดชอบงานที่มีค่างานสูงขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่

ถ้าคน ๆ ไหนมีค่าของคนเพิ่มสูงขึ้น (พัฒนาตัวเองให้มี P+C เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา) ก็

ย่อมจะมีโอกาสก้าวขึ้นไปรับผิดชอบงานที่มีค่างาน (Job Value) สูงขึ้น และก็จะทำให้ “ค่าตอบแทน” (Compensation) เพิ่มตามไปด้วย

8.      ในทางกลับกันถ้าพนักงานคนไหนไม่เพิ่ม “ค่าของคน” ในตัวเอง (ไม่เพิ่ม P+C) ก็ย่อมจะทำให้หัวหน้าหรือผู้บริหารไม่เห็นคุณค่าในตัวคนที่มากพอที่จะไว้วางใจให้ก้าวขึ้นไปรับผิดชอบในตำแหน่งที่มีค่างานที่สูงขึ้นได้ จึงไม่จำเป็นจะต้องปรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนให้เพิ่มขึ้นและเมื่อถึงจุดสูงสุดของกรอบการจ่ายก็จะทำให้คน ๆ นั้นเงินเดือนตัน เพราะค่าของงานในตำแหน่งมีอยู่เพียงเท่านั้นเอง

9.      จะเห็นได้ว่า P+C ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานมานาน หรือการเรียนจบคุณวุฒิที่สูงขึ้นแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับคนไหนจะสามารถพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างผลงานและเพิ่มศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถในตัวเองจนเป็นที่ยอมรับขององค์กรได้มากแค่ไหนต่างหาก

10.   ดังนั้นจึงอธิบายสมการที่ผมเขียนเอาไว้คือ ค่าตอบแทน    =   P+C   ได้ว่าถ้าคน ๆ ไหนไม่พัฒนาตัวเองให้ผลงาน (P) ดีขึ้นกว่าเดิม หรือมีขีดความสามารถ (C) เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมก็จะต้องได้รับค่าตอบแทน (หรือเงินเดือน) เท่าเดิม เพราะตัวแปรด้านขวาของสมการคงเดิม แต่ถ้าใครสามารถเพิ่ม P หรือเพิ่ม C ให้มากขึ้นก็จะมีผลทำให้ค่าตอบแทน (หรือเงินเดือน) เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเสมอ และ P+C ที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้คน ๆ นั้นมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบงานที่มีค่างาน (Job Value) สูงขึ้นกว่าเดิมและจะทำให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมในที่สุด

                   จากที่ผมอธิบายมาทั้งหมดก็เชื่อว่าจะทำให้ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ได้เข้าใจเหตุผลความสัมพันธ์ของ

                  สมการดังกล่าวและเห็นความสำคัญในการพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มคุณค่าในตัวเองให้พร้อมที่จะรับผิดชอบค่างานในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้แล้วนะครับ

          จึงสรุปตามหลักของไอน์สไตน์ได้ว่า “มีแต่คนเสียสติเท่านั้นที่ทำทุกอย่างเหมือนเดิม (คือ P+C เท่าเดิม) แต่หวังให้ผลลัพธ์ (คือค่าตอบแทนหรือเงินเดือน) แตกต่างไป”

            จริงไหมครับ?

                                                            ................................