อันที่จริงผมก็เขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานไปก็ไม่น้อย บางเรื่องก็เป็นเคสที่ซับซ้อนพลิกล็อคที่ทำให้คนอ่านหลายคนอาจจะงงได้ เช่น กรณีพนักงานยื่นใบลาออกแล้วจะขอใช้สิทธิพักร้อนตามส่วน (Prorate) ในปีที่ลาออกได้หรือไม่ ซึ่งหลายคนก็ตอบผิดกันไปเป็นส่วนใหญ่ลองไปหาอ่านย้อนหลังดูนะครับ
แต่วันนี้ผมได้รับคำถามที่เบสิกมาก ๆ ที่ถามมาทางไลน์คือถ้าถูกบริษัทเลิกจ้างจะได้รับเงินอะไรบ้าง?
ก็เลยกลับมาเป็นข้อคิดสำหรับตัวผมเองว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่รู้ในเรื่องพื้นฐานของกฎหมายแรงงานตลอดจนสิทธิที่ตัวเองควรได้รับในเบื้องต้น
ผมก็ขอ Back
to the basic นำเรื่องพื้นฐานมาคุยกันอีกครั้ง
อย่าหาว่าผมเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนเลยนะครับ
เพราะคนที่ไม่รู้จริง ๆ ก็ยังมีอยู่อย่างที่บอกไปแล้ว
ผมสรุปเป็นข้อ
ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายอย่างนี้ครับ
1.
กรณีที่พนักงานถูกบริษัทแจ้งเลิกจ้าง
ให้พนักงานขอหนังสือเลิกจ้างจากบริษัทและที่สำคัญคือพนักงานต้องไม่เขียน
(หรือเซ็น) ใบลาออกนะครับ เพราะถ้าเขียนใบลาออกเมื่อไหร่จะไปฟ้องร้องอะไรภายหลังไม่ได้
และจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น
2.
หนังสือเลิกจ้างของบริษัทจะต้องระบุชัดเจนว่าวันที่มีผลเลิกจ้างคือวันที่เท่าไหร่เดือนปีอะไร
สาเหตุที่เลิกจ้างคืออะไร
3.
หากพนักงานถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา
119 ของกฎหมายแรงงาน เช่น
ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อบริษัท,
จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย,
ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายร้ายแรง,
ฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมซึ่งบริษัทได้เคยตักเตือนเอาไว้แล้ว,
ขาดงาน 3 วันติดต่อกันขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร,
ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้ถูกจำคุก
พนักงานจะต้องได้รับค่าชดเชยตามอายุงานตามาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน
แต่ถ้าพนักงานกระทำความผิดที่ผมบอกมาข้างต้นจะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น
4.
ถ้าจะให้ยกตัวอย่างการถูกเลิกจ้างแล้วได้รับค่าชดเชยมีอะไรบ้าง
ก็เช่น ถูกเลิกจ้างเพราะสุขภาพไม่ดีไม่สามารถทำงานได้,
ผลงานไม่ดีทำงานไม่ได้ตามเป้าตาม KPIs, ความคิดเห็นขัดแย้งกับบริษัทจนทำงานร่วมกันต่อไปไม่ได้,
ศรศิลป์ไม่กินกันไม่ถูกชะตากับหัวหน้า, บริษัทขาดความไว้วางใจ
(แต่ไม่มีหลักฐานว่าทำผิดอะไร), เป็น Deadwood ที่ไม่สามารถจะพัฒนาหรือเติบโตต่อไปกับบริษัทได้,
การเกษียณอายุ ฯลฯ
5.
ค่าชดเชยที่พนักงานจะได้รับตามมาตรา 118 โดยสรุปมีดังนี้
-
อายุงานตั้งแต่ 120 วันไม่เกิน
1 ปี ได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30
วัน
-
อายุงาน 1 ปีไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 90 วัน
-
อายุงาน 3 ปีไม่เกิน 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 180 วัน
-
อายุงาน 6 ปีไม่เกิน 10
ปี ได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 240 วัน
-
อายุงาน 10 ปีไม่เกิน 20 ปี ได้รับค่าชดเชยอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 300 วัน
-
อายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
ได้รับค่าชดเชยอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 400 วัน
6.
หากพนักงานถูกเลิกจ้างด้วยเหตุพิเศษ เช่น
เลิกจ้างเนื่องจากมีการรื้อปรับระบบหรือ Re-Engineering หรือถูกเลิกจ้างเนื่องจากบริษัทย้ายสถานประกอบการไปจากที่เดิมไปที่ใหม่
เช่น ปิดบริษัทจากสมุทรสาครแล้วย้ายไปตั้งใหม่ที่ระยอง
แล้วทำให้มีผลกระทบคือพนักงานไม่สามารถย้ายไปทำงานที่ใหม่ได้เพราะจะกระทบต่อชีวิตครอบครัวความเป็นอยู่ของพนักงาน
แบบนี้บริษัทจะต้องจ่าย “ค่าชดเชยพิเศษ” ตามมาตรา 120-122 ของกฎหมายแรงงาน (ไปหาอ่านเพิ่มเติมนะครับ) อีกด้วย
7.
หากแจ้งเลิกจ้างทันที เช่น แจ้งวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไป
บริษัทจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (บางคนจะเรียกว่า “ค่าตกใจ”) อีก 1-2 เดือน
(แล้วแต่ว่าแจ้งเลิกจ้างก่อนหรือหลังวันจ่ายค่าจ้างของบริษัท) ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างอีกด้วย
8.
ทั้งค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าควรจะต้องจ่าย
ณ วันที่มีผลเลิกจ้าง ที่ผมเคยทำคือเตรียมเช็คเอาไว้ให้เรียบร้อย
เมื่อแจ้งเลิกจ้างพนักงานว่าพรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้ว ก็จะยื่นหนังสือเลิกจ้างให้พร้อมกับมอบเช็คค่าชดเชย+ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมทั้งเงินเดือนงวดสุดท้ายให้พนักงาน
พร้อมทั้งให้พนักงานเซ็นรับเช็คไปในวันที่แจ้งเลิกจ้างเลย เป็นการจ่ายนอก Payroll
ที่ต้องทำแบบนี้เพราะถ้าหากบริษัทดึงเช็งจ่ายค่าชดเชยช้า หรือยื้อไปเรื่อย
ๆ ก็อาจเป็นเหตุให้พนักงานไปฟ้องว่าบริษัทเจตนาประวิงเวลาการจ่ายค่าชดเชย
(หรือส่อเจตนาไม่จ่ายค่าชดเชย) ซึ่งก็อาจทำให้บริษัทต้องเสียค่าปรับได้ บริษัทอย่าเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่ายเลยครับ
9.
ค่าชดเชยจะแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ได้หรือไม่?
ตอบว่า “ไม่ควรครับ” เพราะกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดให้แบ่งจ่ายค่าชดเชยเป็นงวด
ๆ ถ้าหากพนักงานไม่ยินยอมให้ผ่อนชำระก็อาจเป็นสาเหตุให้พนักงานฟ้องบริษัทเรียกร้องดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระได้อีก
หวังว่าท่านที่สงสัยในเรื่องนี้คงจะมีความเข้าใจชัดเจนขึ้นแล้วและภาวนาให้ท่านไม่ใช่คนที่ถูกเลิกจ้างนะครับ
เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ
……………………………….