วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนปริญญาตรีในรอบ 38 ปีเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่าย

             เห็นชอบตั้งกระทู้อยู่บ่อยครั้งว่าเงินเดือนเท่านี้เองจะพอกินเหรอแถมมีตารางรายได้-ค่าใช้จ่ายมาหักกลบลบกันให้ดูด้วยว่าได้เงินเดือนเท่านี้ค่าใช้จ่ายเท่านั้นจะพอกินพอใช้ในแต่ละเดือนไหม

            ในวันนี้ผมก็เลยอยากจะนำเรื่องนี้มานำเสนอในอีกมุมหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นมุมของคนที่ทำงานด้านค่าตอบแทนมาโดยตลอดเวลา 38 ปี แม้ในปัจจุบันก็ยังติดตามข้อมูลเหล่านี้อยู่เสมอ ยิ่งวันนี้เป็นยุคของ Big data ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องคุยกันด้วยข้อมูลมากกว่าการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเพื่อให้ได้ข้อคิดบางอย่าง

            ผมจึงนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างเงินเดือนเริ่มต้นวุฒิปริญญาตรี ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าอาหาร ค่าเดินทางโดยรถเมล์ ราคาทองคำ และเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีในปี 2525/2554/2563 ดังนี้



            บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องเริ่มที่ปี 2525 ก็ตอบได้ว่าเพราะผมเริ่มทำงานในเดือนมีนาคม 2525 ก็เลยขอนำข้อมูลตั้งแต่ปีที่ผมเริ่มทำงานเป็นตัวตั้งต้น และผมได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 3,500 บาท

            ถ้าจะถามว่าทำไมถึงถัดมาเป็นปี 2554 ก็เพราะในปี 2555-56 เรามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจากวันละ 215 บาทเป็น 300 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 40%) ที่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากกับโครงสร้างค่าจ้างทั้งประเทศ ผมก็เลยขอจับเอาช่วงก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งประวัติศาสตร์ครับ

            และปี 2563 ก็คือปีนี้คือปีปัจจุบันนี่แหละครับ

            จากตารางข้างต้นผมสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1.      ในช่วง 38 ปีที่ผ่านมาพบว่าอัตราเงินเดือนปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% ในขณะที่ค่ารถเมล์เพิ่มเฉลี่ยปีละ 6% ค่าอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 19% ราคาทองคำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% ราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2% ดีเซลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ส่วนการขึ้นเงินเดือนประจำปีมีค่าเฉลี่ย 8% ต่อปี

ผมมีข้อสังเกตว่าคนที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาจนจบปริญญาตรีกลับมีเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนต่ำกว่าคนที่ไม่ต้องเรียนอะไรเลย (คือคนที่รับค่าจ้างขั้นต่ำ) เฉลี่ยปีละ 3%

หรือแม้แต่เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยประมาณปีละ 8% (ในรอบ 38 ปี) ก็ยังต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำเสียเสียอีก

คือเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีจะต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉลี่ยปีละ 4% เสียอีกแน่ะ!

ตรงนี้แหละครับที่ผมมองว่าเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าการมองในเชิงข้อมูลข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปีไหนมีการเลือกตั้งสส.ก็จะมีการหาเสียงแบบประชานิยมเอาใจฐานเสียงด้วยการสัญญาว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด

ดูแล้วก็ย้อนแย้งกับนโยบายของหลายรัฐบาล (ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม) ที่อยากจะให้ประเทศเรามีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากขึ้น แต่กลับมาจูงใจ Unskilled ให้รอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากนักการเมืองที่อยากเอาใจฐานเสียงแบบไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าของตัวเองซื้อเสียง แต่ไปล้วงเงินในกระเป๋าของคนอื่น (คือบริษัทเอกชน) ให้จ่ายแทนด้วยการออกกฎหมายให้เอกชนจ่ายตามค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาล

แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่เราถึงจะขยับชั้นขึ้นไปสู่ Skilled Labor กันล่ะ เรื่องนี้ก็น่าคิดนะครับ

2.      เรายังโชคดีที่ราคาน้ำมันในระยะหลัง ๆ มานี้ไม่ได้พุ่งกระฉูดเหมือนเมื่อปี 2554 จึงทำให้ปัญหาของคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนในเรื่องของค่าน้ำมันไม่ได้สูงมากมายอะไรนักเมื่อเทียบกับอดีต ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตว่าเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของค่าน้ำมันโดยเฉลี่ยต่อปีจะต่ำกว่าทุกหมวดในตารางนี้

3.      เมื่อดูตารางเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนปริญญาตรีเปรียบเทียบกับค่ารถเมล์แบบเจาะลึกลงไปตามภาพนี้



            จะเห็นได้ว่าในปี 2563 ค่ารถเมล์ (รถเมล์ร้อน) จะคิดเป็น 7.6% ของเงินเดือน ถ้าจะว่าไปแล้วก็ทำให้เราเห็นว่าอัตราส่วนนี้ลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 38 ปีที่แล้ว ซึ่งแสดงว่าทุกรัฐบาลคงจะมีนโยบายเหมือนกันคือตรึงราคารถเมล์เอาไว้โดยตลอด (ค่ารถเมล์นี่ก็เป็นเรื่องการเมืองไม่แพ้เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำแหละครับ) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมขสมก.ถึงขาดทุนสะสมมาจนถึงทุกวันนี้

            แต่ข้อคิดคือปัจจุบันการเดินทางของคนทำงานมีสารพัดอย่าง เช่น รถตู้, รถไฟฟ้า, เรือ, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ ซึ่งราคาของการเดินทางเหล่านี้คงมีอยู่แล้วตามสื่อต่าง ๆ แต่ที่ผมหยิบค่ารถเมล์มาเปรียบเทียบเพียงเรื่องเดียวเพราะสมัยผมทำงานมีแต่รถเมล์เป็นหลักก็เลยเอาค่ารถเมล์มาใช้น่ะครับ

4.      ผมทำตารางเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของค่าอาหารต่อเงินเดือนในรอบ 38 ปีดังนี้ครับ



            จากตารางข้างต้นผมใช้ค่าอาหารเฉลี่ยในกทม.เราจะเห็นว่าเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของค่าอาหารต่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ในรอบ 38 ปีที่ผ่านมา พูดง่าย ๆ ว่าหาเงินมาได้เท่าไหร่ก็หมดไปกับค่ากินอาหาร (ซึ่งยังไม่ได้นับเรื่องการสังสรรค์ดื่มกินฟุ่มเฟือยนะครับ) ที่จำเป็นมื้อละประมาณ 50 บาทวันละ 3 มื้อนี่ก็ปาเข้าไป 30% ของเงินเดือนแล้วครับ ในขณะที่เมื่อตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ค่าอาหารจะอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น

            ค่าอาหารนี่ผมหมายถึงไปซื้อข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวกินนะครับ ดังนั้นถ้าใครทำอาหารกินเองได้ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้อีกพอสมควร แต่ก็....นะ..คนทำงานน่ะในวันทำงานปกติก็ต้องไปซื้อเขากินอยู่แล้ว จะทำกินเองก็คงจะเป็นวันหยุดล่ะมังครับหรือถ้าใครอยู่ในย่านที่ค่าอาหารถูกกว่ามื้อละ 50 บาทก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ลดลงได้พอสมควร แต่ก็เป็นสัจธรรมว่าราคาที่ถูกลงก็จะถูกลดปริมาณหรือคุณภาพลงด้วยเช่นเดียวกัน

5.      มีเงินนับเป็นน้อง ถ้ามีทองก็นับเป็นพี่ ผมก็เลยขอนำเอาราคาทองคำซึ่งมักใช้อ้างอิงกับเรื่องค่าเงินมาเปรียบเทียบให้ท่านดูดังนี้ครับ



            จากตารางข้างต้นสมัยผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ถ้าผมจะเก็บเงินเพื่อซื้อทอง (สมมุติว่าทั้งเดือนไม่ต้องกินต้องใช้อะไรเลย) ผมใช้เวลาเพียง 1 เดือนนิด ๆ ผมก็จะซื้อทองได้ 1 บาท

          แต่ในปัจจุบัน (2563) ผมต้องเก็บเงินไว้ประมาณ 2 เดือนถึงจะซื้อทองได้ 1 บาท!

            ในอีกมิติหนึ่งจะเห็นได้ว่าเปอร์เซ็นต์ความห่างระหว่างราคาทองคำกับเงินเดือนเพิ่มขึ้น (จากปี 2525 ถึง 2563) ถึงประมาณ 4 เท่าตัว (จาก 21% ถึง 87%)

          หรือจะบอกว่าค่าเงินบาทลดลงไปมากเมื่อเทียบกับราคาทองคำก็ได้ครับ!

            อย่างที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้นแหละว่าผมอยากจะนำเสนอข้อมูลชุดนี้ในมุมมองที่แตกต่างไปจากที่เคยมีการนำเสนอกันทางสื่อต่าง ๆ ผมก็เลยใช้ข้อมูลเงินเดือนย้อนหลัง 30 กว่าปี รวมถึงข้อมูลค่าใช้จ่ายบางตัวที่เห็นได้ชัด ๆ หรือราคาทองคำเพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เห็นในอีกรูปแบบหนึ่ง

          จากประเด็นที่ผมบอกมาทั้งหมดข้างต้นจึงมีข้อสรุปคือ

1.      เรามีเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นเงินเดือนสำหรับนักศึกษาจบใหม่ (ในบทความนี้ใช้คุณวุฒิปริญญาตรี) ที่ต่ำมากในรอบ 38 ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

2.      เปอร์เซ็นต์ราคาอาหารต่อเงินเดือน (โดยเฉพาะในกทม.หรือเมืองใหญ่) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากประมาณ 95% (จาก 15.4% เป็น 30%)

3.      เปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีของทุกบริษัทโดยเฉลี่ยคือ 5% ต่อปี (ก่อนปี 2540 เรามีการขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยประมาณ 10% แต่หลังจากปี 2543 เราจะขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 5% มาโดยตลอด)  ซึ่งต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเสียอีก แสดงให้เห็นว่าตลาดค่าตอบแทนภายใน (ของบริษัท) โตไม่ทันตลาดค่าตอบแทนภายนอกบริษัท ตรงนี้จึงทำให้หลายองค์กรมีปัญหาว่าทำไมคนรุ่นหลังเข้ามาทำงานถึงได้เงินเดือนไล่หลังหรือแซงคนที่เขามาทำงานก่อนหน้านี้

4.      ค่าของเงินที่ลดลงไปมากเมื่อเทียบกับราคาทองคำจาก 21% กลายเป็น 87% หรือ 4 เท่า จะทำให้มนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ ๆ ตั้งหลักปักฐานได้ยากกว่าสมัยก่อน เพราะแค่จะซื้อทองมาเก็บก็ยังทำได้ยากกว่าสมัยก่อน ยังไม่ต้องพูดถึงการไปผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ

5.      สำหรับผู้บริหารองค์กรและ HR เมื่อเห็นตัวเลขข้อมูลแบบนี้แล้วก็คงเป็นการบ้านที่จะต้องกลับไปขบคิดต่อว่าเราควรจะทำยังไงเพื่อรักษาคนดีมีคุณภาพเอาไว้กับเราให้ได้เพื่อป้องกันปัญหาการขาดคนขึ้นไปทดแทนคนเก่าที่ลาออกหรือเกษียณไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการคิดแผนการทำ Succession Plan หรือการวาง Career Path ตลอดจนแผนกลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนเพื่อรักษาคนในและจูงใจคนนอกให้อยากมาร่วมงานกับเรา ฯลฯ

6.      ส่วนฝั่งที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แทนที่จะตั้งคำถามว่า “เงินเดือนแค่นี้จะพอกินเหรอ?” แล้วก็ไม่ยอมพัฒนาตัวเองก็จะต้องยอมรับชะตากรรมว่าถ้าเราจะได้รับการขึ้นเงินเดือนประมาณค่าเฉลี่ยคือปีละ 5% ก็จะถูกคนรุ่นใหม่แซงไปเรื่อย ๆ แทนที่จะเอาเวลาไปคิดแค้นต่อว่าหัวหน้าหรือคิดโกรธบริษัทที่ขึ้นเงินเดือนให้เราน้อยทำให้ไม่พอกิน ก็สู้เอาเวลาไปคิดพัฒนาตัวเองให้มี “ของ” หรือมีผลงานมีศักยภาพในงานให้ตรงกับที่องค์กรต้องการและอยากจะเก็บรักษาเราไว้ ถ้าองค์กรเห็นความสำคัญเขาก็จะต้องปรับเงินเดือนหรือ Promote เรา แต่ถ้าองค์กรไม่เห็นว่าเรามีคุณค่าก็ถึงเวลา “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” ได้แล้วล่ะ

7.      หรือถ้าเราแจ๋วกว่านั้นคือมีไอเดียดี ๆ ค้นหาความสามารถในตัวเองที่ตอบโจทย์ตลาดได้เร็วก็ควรจะผันตัวเองไปทำงานที่เราถนัดแบบ Start up หรือเป็นผู้ประกอบการเองจะดีกว่ากว่าการมาเป็นมนุษย์เงินเดือนไหม

8.      ส่วนคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ในตอนนี้เมื่อเห็นข้อมูลข้างต้นก็ต้องเริ่มคิดหารายได้เสริมให้มากกว่าที่ได้รับจากบริษัทเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจะดีไหม ซึ่งวันนี้เราจะเห็นคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมีอาชีพเสริมเช่นขายของออนไลน์, ขายของตามตลาดนัดในวันหยุด, เป็นตัวแทนขายตรง ฯลฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ

“เราเรียนรู้เรื่องราวในอดีตเพื่อมาทำปัจจุบันให้ดี ถ้าทำปัจจุบันดีแล้วอนาคตย่อมดีตามไปด้วย” หวังว่าข้อมูลในบทความนี้คงจะทำให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเกิดไอเดียที่จะเริ่มคิดทำอะไรบางอย่างในการวางแผนในปัจจุบันสำหรับองค์กรและตัวของท่านเองเพื่อให้มีอนาคตที่ดีต่อไป

เป็นกำลังใจให้กับทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างนะครับ

 

………………………….