วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2563

ได้เงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะพอ?

             ผมมักจะเห็นการตั้งคำถามทำนองนี้ตามเว็บไซด์ดัง ๆ มาเป็นสิบปีจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการตั้งคำถามทำนองนี้อยู่ก็เลยอยากจะแชร์ไอเดียและประสบการณ์ของผมต่อคำถามนี้อย่างนี้ครับ        

            ผมว่าการตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญ

          มีคำพูดหนึ่งบอกไว้ว่าถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครรู้เรื่องอะไรมากน้อยแค่ไหนก็ดูจากคำตอบ แต่ถ้าเราอยากจะรู้ว่าเขาฉลาดคิดไหมให้ดูจากคำถาม

            ถ้าตั้งคำถามข้างต้นว่า “ได้เงินเดือน.......บาทจะพอกินได้ยังไง?”

จะทำให้ความคิดของเราแคบลงแค่เพียงว่า “พอ” หรือ “ไม่พอ”

            คิดอย่างนี้แล้วเราอยากจะทำงานต่อไปไหม และเราจะมีความสุขกับการทำงานไหมล่ะครับ?

            เพราะถ้าเราตั้งคำถามอย่างนี้แน่นอนว่าเราจะไม่พอใจกับผู้บริหาร ไม่พอใจที่บริษัททำไมถึงให้เงินเดือนเราน้อยแค่นี้เอง จะไปพอกินได้ยังไง ทำไมบริษัทถึงเอาเปรียบเราอย่างนี้ ฯลฯ

          เพราะเรื่องของเงินเดือนน่ะ “ให้เท่าไหร่ก็ไม่เคยถึงใจคนรับ” หรอกครับ

เข้าทำนอง “มีน้ำครึ่งแก้วเองจะพอกินเหรอ..หรือเรายังโชคดีนะที่มีน้ำอยู่ตั้งครึ่งแก้ว” เราจะคิดแบบไหนนั่นแหละ ถ้าเราคิดในอีกด้านหนึ่งว่าดีเท่าไหร่แล้วที่เรายังมีเงินเดือนเท่านี้ในขณะที่คนอื่นที่เขารายได้น้อยกว่าเราก็ยังมีอีกไม่น้อยเลยนะนั่น

เรามัวแต่คาดหวังอยากจะให้เงินเดือนมากกว่านี้จนลืมคิดว่าเราจะบริหารเงินเดือนที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันให้ดีแล้วหรือเปล่า?

          รายรับได้เท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับเราจะควบคุมรายจ่ายยังไงต่างหาก

            ถ้าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายมือเติบไม่วางแผนการใช้จ่ายให้ดีแล้ว ต่อให้เราได้เงินเดือนเป็นแสนก็ไม่พอใช้ครับ!

          ถ้าเราเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า “เราจะเก็บเงินได้มากที่สุดเดือนละเท่าไหร่”

หรือ “เราจะบริหารรายรับของเรายังไงดี” จะดีกว่าไหม?

            เมื่อเราเปลี่ยนคำถามแบบนี้แล้ว เราก็จะมีไอเดียในการจัดการเงินเดือนที่เราได้รับอยู่ทุกเดือนเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น

1.      เริ่มต้นทำบัญชีรับ-จ่ายในแต่ละเดือนเพื่อดูว่ารายรับแบบคงที่คือเงินเดือนจากงานประจำเดือนละเท่าไหร่ เรามีหนทางที่จะหารายได้เสริมอะไรเพิ่มเติมจากนี้ได้บ้างหรือไม่ เช่น การหาของมาขายผ่านออนไลน์ ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กนอกเวลางานเพื่อเพิ่มรายรับอีกทางหนึ่ง

2.      สำรวจดูค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนว่าอะไรบ้างที่ค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) เช่น ค่าเช่าที่พัก, ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งค่าใช้จ่ายคงที่เหล่านี้มีอะไรบ้างที่มากเกินไปในเวลานี้ เช่น ค่าเช่าที่พัก หรือค่าโทรศัพท์มือถือ แพงเกินความจำเป็นหรือไม่

3.      ค่าใช้จ่ายแบบแปรผัน (Variable Cost) ที่ไม่จำเป็นและสามารถตัดออกได้ เช่น การไปเที่ยวเตร่สังสรรค์มากเกินไป, การรูดบัตรเครดิตซื้อของที่ “อยาก” ได้ แต่ไม่ใช่ของที่จำเป็น หรือการซื้อของฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

4.      โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตรูดซื้อของควรจะต้องมีเงินในบัญชีเพียงพออยู่แล้ว ไม่ใช่รูดบัตรโดยยอมเสียดอกเบี้ยแบบเอาเงินจากบัตรใบหนึ่งไปโปะจ่ายหนี้ให้อีกใบหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนี้รับรองว่าดินจะพอกหางหมูในเวลาไม่กี่เดือนและก็จะถูกเจ้าหนี้ตามล่าในที่สุด

5.      ไม่ควรสร้างหนี้ในขณะที่ตัวเองยังไม่พร้อม เช่น ซื้อรถหรือคอนโดและต้องผ่อนจนเกินความสามารถที่จะส่งเงินผ่อนในอนาคตได้ ถ้ายังไม่พร้อมก็ควรจะต้องเช่า หรือเดินทางด้วยพาหนะสาธารณะไปก่อน

6.      การเป็นหนี้นอกระบบกำลังเป็นการสร้างหายนะให้กับตัวเองในอนาคต ให้หลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด

            มาถึงตรงนี้ผมจึงอยากสรุปตรงที่ว่าไม่ว่าเราจะมีรายได้เดือนละเท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับเรามีแผนในการออมเงินของเราเดือนละเท่าไหร่ แทนที่เราจะเอาแต่แบมือขอหรือรอความหวัง (ที่เป็นไปได้ยาก) จากคนอื่น เราหันกลับมาปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีขึ้นไม่ดีกว่าหรือ

            ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนดีกว่าการไปรอหวังพึ่งคนอื่นครับ

          เพราะถ้าเราคิดแต่จะหาทางเรียกร้องให้บริษัทเพิ่มเงินเดือนเราให้มากขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อย ๆ โดยไม่หันกลับมาทบทวนพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองให้เหมาะสมแล้ว ต่อให้มีรายได้เดือนละเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอสำหรับคนที่ไม่คิดที่จะสร้างวินัยในการออมให้กับตัวเองหรอกครับ

                                              ......................................