วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อ้างว่าจะลาออกแต่หายไปเฉยๆ..ผลจะเป็นยังไง?

          “เพื่อนฝากผมมาให้ถามอาจารย์ว่าเขาถูกหัวหน้าปฏิบัติไม่ดีกับเขามาก ๆ ถ้าเขาจะลาออกโดยไม่ยื่นใบลาออก คือวันพรุ่งนี้เขาจะไม่ไปทำงานที่บริษัทนั้นอีกต่อไปได้ไหมครับ”

            เรื่องที่ผมคิดว่าคนที่เป็นหัวหน้าหรือ HR จะพบเจออยู่ในปัจจุบันก็คือการที่พนักงานลาออกไปโดยไม่ยื่นใบลาออกแต่จะใช้วิธีหายไปเฉย ๆ ไม่บอกกล่าวอะไร โดยเฉพาะพนักงานที่เพิ่งเข้ามาใหม่บางคนเมื่อทำงานไปแล้วไม่ชอบงานที่ทำก็หายจ้อยไปเฉย ๆ โดยไม่เขียนใบลาออกซะงั้น ทั้ง ๆ ที่ทุกบริษัทจะมีกฎระเบียบเรื่องการลาออกคล้าย ๆ กันคือหากพนักงานที่อยากจะลาออกก็ต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน

            Back to the basic เราลองกลับมาดูเรื่องของการลาออกในกฎหมายแรงงานกันก่อนดีไหมครับ?

            ผมขอยกบางส่วนของมาตรา 17 เฉพาะในส่วนของการลาออกมาดังนี้ครับ

มาตรา ๑๗  สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน....

จากมาตรา 17 ข้างต้นอธิบายภาษาชาวบ้านก็คือ

1.      สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลาก็หมายถึงสัญญาจ้างพนักงานประจำนั่นแหละครับ

2.               ถ้าพนักงานจะลาออกก็ควรจะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้าแต่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าเกิน 3 เดือน ซึ่งปกติทั่วไปบริษัทต่าง ๆ มักจะมีระเบียบเรื่องการลาออกคือให้พนักงานยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันหรือ 1 เดือนซึ่งก็ถือว่ายังอยู่ในระยะเวลาตามมาตรา 17 ครับ

เอาล่ะครับ..อธิบายมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าท่านจะทราบหลักของการลาออกกันแล้วนะครับ

            นั่นคือถ้าพนักงานที่จะลาออกกลับทำตัวเป็นนินจาหายไปเฉย ๆ แล้วไม่ยื่นใบลาออกโดยแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้าก็ถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17

เพราะแม้พนักงานจะอ้างว่า “ก็บอกหัวหน้าแล้วนี่ว่าจะลาออกก็น่าจะพอแล้ว” แต่พูดแล้วไม่มีเอกสารหลักฐานอะไรมายืนยันกับบริษัทว่าต้องการจะลาออกนี่ครับ!

            ดังนั้นถ้าพนักงานอ้างว่าบอกหัวหน้าไปแล้วว่าจะลาออกแต่ไม่ยื่นใบลาออกแล้วเล่นหายไปเฉย ๆ นี่บริษัทก็อาจจะถือเป็นสาเหตุการเลิกจ้างเนื่องจากพนักงานละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 119

และที่สำคัญคือหากบริษัทเลิกจ้างพนักงานในความผิดข้อนี้ บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น

            ถ้าเรื่องนี้เป็นคดีไปถึงศาลก็ต้องมาสืบพยานกันให้วุ่นวายอีกว่าพนักงานพูดว่าจะลาออกจริงหรือไม่ เมื่อไหร่ ฯลฯ แค่คิดก็วุ่นแล้วครับ แต่ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกก็จะมีความชัดเจนและไม่ต้องมาวุ่นวายแบบนี้

แถมพนักงานยังเสียประวัติอีกต่างหากเพราะเวลาไปทำงาน (ทดลองงาน) ที่บริษัทแห่งใหม่แล้วเขาเช็คประวัติกลับมาที่บริษัทเดิมแล้วที่เดิมก็ให้ข้อมูลไปว่า “ถูกเลิกจ้าง” ไม่ใช่การลาออกตามปกติ นี่ท่านว่ามันจะดีกับตัวเราไหมล่ะครับ?

หวังว่าท่านที่คิดจะลาออกโดยไม่ยอมยื่นใบลาออกคงจะทราบแล้วนะครับว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ถึงแม้หัวหน้าหรือบริษัทจะมีพฤติกรรมไม่ดีกับเรายังไงการตาม ถึงหัวหน้าจะร้ายแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายเหมือนหัวหน้าก็ได้นี่ครับ

การไปแกล้งป่วนหัวหน้าหรือป่วนบริษัทด้วยการอ้างว่าบอกลาออกด้วยปากเปล่าแล้วไม่ยื่นใบลาออกน่ะ มันไม่เป็นผลดีกับใครเลยแม้แต่กับตัวเองก็ตาม

แต่การแสดงเจตนาลาออกด้วยการเขียนและยื่นใบลาออกให้ทางบริษัทอย่างถูกต้องชัดเจนด้วยความเป็นมืออาชีพจะทำให้ไม่เกิดปัญหาวุ่นวายตามมาในภายหลังจะดีกว่าไหมครับ

 

………………………………

ฟังพ็อดแคสต์คลิ๊ก

https://tamrongs.podbean.com/e/ep117%e0%b8%ad%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%88%e0%b8%b0%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%ad%e0%b8%ad/