วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การจ้างงานแบบ Gig คืออะไร?


อันที่จริงผมเคยเขียนเรื่องนี้มาสัก 2-3 ปีแล้วเห็นจะได้ แต่เนื่องจากเห็นว่าตอนนี้ก็เป็นช่วงของวิกฤติโควิดที่เราเจอกันอยู่และแนวโน้มของการจ้างงานแบบ Gig ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ก็เลยเอากลับมานำเสนอใหม่ให้คนที่ยังไม่เคยรู้เรื่องนี้รวมถึงคนที่กำลังสนใจเรื่องนี้ได้นำไปคิดต่อยอดกันดูนะครับ

คนรุ่น BB (Baby Boomer) Gen X หรือ Gen Y ตอนต้นคงคุ้นเคยกับสภาพการทำงานแบบนายจ้าง-ลูกจ้าง คือบริษัทรับเข้ามาทำงานก็ทำงานกันไปจนเกษียณ เป็นการจ้างงานระยะยาว

แต่ในยุคปัจจุบันสภาพการจ้างเปลี่ยนไปจากการจ้างงานระยะยาวแบบสมัยก่อนมาเป็นการจ้างงานแบบเป็นจ็อบ ๆ กันไป เป็นการจ้างงานแบบที่เรียกว่า "Gig"

Gig มาจากคำแสลงคือการจ้างวงดนตรีมาเล่นเป็นครั้ง ๆ ตามผับนั่นแหละครับ จ้างมาเพื่อการทำงานเฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วก็จบกันไป

ทุกวันนี้เราก็เริ่มเห็นการจ้างงานแบบ Gig ในบางบริษัทแล้ว เช่น การจ้างคนที่มีประสบการณ์ทำงานด้านบัญชีมาปิดบัญชีให้กับบริษัทโดยไม่ต้องจ้างพนักงานเข้ามาเป็นพนักงานบัญชี

ถ้าจะถามว่าการจ้างแบบ Gig และ Outsource แตกต่างกันยังไง?

ก็ตอบได้ว่าการจ้างแบบ Outsource มักเป็นการจ้างพนักงานจากอีกบริษัทหนึ่งให้ส่งพนักงานมาทำงานให้กับบริษัทของเรา ซึ่งบริษัทที่ถูกว่าจ้างนั้นยังเป็นนายจ้างตัวจริงของพนักงาน Outsource และพนักงานที่ถูกส่งมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นพนักงานแบบไม่มีทักษะในงานที่ทำ (Unskilled Worker) หรืออาจจะมีทักษะบ้างแต่ต้องมาสอนงานเพิ่มเติมให้ไม่นานก็ทำได้

ส่วนการจ้างแบบ Gig มักเป็นการจ้างตัวบุคคล (ที่อาจเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง) ที่มีความรู้และประสบการณ์ตรงในแต่ละด้านเพื่อเข้ามาเป็นทั้งที่ปรึกษาและลงมือปฏิบัติงานที่ได้รับการว่าจ้างให้เสร็จสิ้นไปตามแต่ละโครงการที่ตกลงกันเป็นเรื่อง ๆ เป็นจ็อบ ๆ  ไป

หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นการจ้างคนที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดีมาทำหน้าที่ที่ปรึกษาและลงมือทำแบบ Operation ให้เสร็จสิ้นได้ด้วยนั่นเองครับ

ซึ่งการจ้างคนมาทำงานแบบ Gig ไม่ได้เป็นการจ้างแรงงาน แต่เป็นการจ้างในลักษณะจ้างทำของคล้ายการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำงานให้จบเป็นงาน ๆ ไป จึงไม่เกิดสภาพการจ้างแบบนายจ้าง-ลูกจ้าง ไม่ต้องมามีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานกันในภายหลัง ลักษณะก็เหมือนการจ้างวงดนตรีมาแสดงในงานแต่งงานอย่างที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นแหละครับ เล่นดนตรีเสร็จจบงานก็จบกันไป

ข้อสังเกตในการจ้างงานแบบ Gig คือ

1. ผู้รับจ้างจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ในงานมากพอจะเป็นที่รับเป็นที่ยอมรับของผู้ว่าจ้างซึ่งแน่นอนว่ามือใหม่หรือมือสมัครเล่นคงไม่สามารถรับงานแบบ Gig ได้ นึกถึงนักแสดงหรือนักดนตรีที่มีฝีมือก็ได้ครับที่จะเป็นดาราคิวทองทำนองนั้นแหละ

2. ผู้รับจ้างจะมีอิสระในการรับงานมากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือคนที่ทำงานแบบ Gig ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอและมีความรับผิดชอบที่สูงตามมาด้วย ถ้าขาดความรับผิดชอบก็จะเกิดการบอกต่อและจะเสียชื่อจนอาจไม่มีคนจ้างในที่สุด เปรียบไปก็คล้ายกับดาราที่เรื่องเยอะมีเรื่องเสียชื่อเสียงเยอะก็จะไม่มีคนจ้างนั่นแหละครับ

3. เทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นการทำงานแบบ Online ทำงานที่ไหนก็ได้ ติดต่องานหรือประชุมผ่านสื่อออนไลน์ มีการส่งงานทางออนไลน์ อาจมีการเข้าไปทำ Workshop เพื่อให้มีการปฏิบัติงานจริงและติดตามผลการปฏิบัติเพื่อนำเสนอผลงานให้กับลูกค้า ฯลฯ ดังนั้นใครที่แอนตี้เทคโนโลยี ไม่ปรับตัวหรือเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะอยู่ยาก

4. การแข่งขันของคนที่รับงานแบบ Gig จะสูงขึ้น ผู้รับจ้างจะต้องพัฒนาความสามารถของตัวเองให้ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้างและจะต้องมีความรับผิดชอบสูงถึงจะได้งาน เพราะผู้ว่าจ้างจะมีตัวเลือกอื่นที่มีประสบการณ์ตรงตามที่ต้องการเข้ามาเป็นคู่แข่งเพื่อเปรียบเทียบ

5. การได้งานจากผู้ว่าจ้างในวันนี้ไม่ได้แปลว่าเขาจะจ้างเราตลอดไป เมื่อไหร่ Performance ตก หรือเขาไม่ Happy กับเรา เราก็มีสิทธิถูก Terminate สัญญาได้ทันที

เรื่องการจ้างงานแบบ Gig ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนที่เคยทำงานมาโดยมีประสบการณ์ตรงไม่ว่าจะเป็นงานไหน เช่น งาน Logistic, IT, บัญชี, HR, ระบบคุณภาพ ฯลฯ แบบที่เคยทำงานด้าน Operation หน้างานจริง ๆ เคยเล่นจริงเจ็บจริงจนมีทั้งความรู้และประสบการณ์ดี ๆ ที่พร้อมจะมาทำงานได้ทั้งแบบที่ปรึกษา+ปฏิบัติได้จริงจนงานสำเร็จ จะแตกต่างไปจากงานที่ปรึกษายุคเก่าที่เก่งแต่ในตำราหรือทำตาม Template ที่บริษัทแม่ให้มา หรือแค่เพียงเขียนแผนผังสร้างทฤษฎีขึ้นมาแบบมโนเอาเอง พอจะเอามาใช้จริงก็ Implement ไม่ได้เพราะขาดประสบการณ์ด้าน Operation ไม่เคยทำงานนั้นมาจริง

คำถามปิดท้ายคือเราเตรียมพร้อมแล้วหรือยังกับการจ้างงานแบบ Gig?

ฟังพ็อดแคสต์เรื่องนี้คลิ๊ก https://tamrongs.podbean.com/e/ep91%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a%e0%b8%81/

…………………………..