เรื่องนี้ผมว่าหลายบริษัทจะมีการเขียนไว้ในข้อบังคับการทำงานหรือเป็นกฎระเบียบของบริษัทเอาไว้เพื่อป้องปรามไม่ให้พนักงานลงเวลาแทนกัน
และมักจะระบุเอาไว้ว่าการกระทำแบบนี้ถือเป็นการทุจริตเป็นความผิดร้ายแรงที่บริษัทสามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด
ๆ ทั้งสิ้น
คำถามคือถ้าบริษัทจับได้ว่าพนักงานลงเวลาแทนกันปุ๊บจะสามารถเลิกจ้างปั๊บแล้วไม่จ่ายค่าชดเชยโดยอ้างว่าพนักงานฝ่าฝืนกฎระเบียบคำสั่งของบริษัท
หรืออ้างข้อ 4
มาตรา 119 ของกฎหมายแรงงานคือ “4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว
เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน....”
ได้หรือไม่?
ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นดีไหมครับ
นส.A
จะไปติดต่อลูกค้านอกบริษัทในช่วงบ่ายก็รู้ว่ารถติดมากคงกลับมารูดบัตรออกตอนเย็นที่บริษัทไม่ทันแหง
ๆ แถมบริษัทลูกค้าที่จะไปติดต่อก็อยู่ทางเดียวกับบ้านนส.A จะย้อนไปย้อนมาทำไม
นส.A ก็เลยฝากบัตรไว้ที่นส.B เพื่อนซี้ให้ช่วยรูดบัตรตอนเย็นแทนให้ทีเพราะฉันจะไปติดต่องานกับลูกค้าแล้วจะเลยกลับบ้านไปเลย
นส.B
ก็จัดการรูดบัตรแทนให้นส.A
ปรากฎว่ารปภ.เห็นว่านส.B
รูดบัตรแทนให้เพื่อนก็เลยแจ้งมาที่ฝ่ายบุคคลและหัวหน้าของนส.A
และ B ทั้งฝ่ายบุคคลและหัวหน้าของนส.A และ
B ก็เรียกทั้งสองคนมาสอบถามแล้วทั้งสองคนก็เล่าไปตามที่ผมบอกมาข้างต้น
พร้อมทั้งบอกว่าตัวเองไม่ได้ทุจริตสักหน่อย
แต่ฝ่ายบุคคลและหัวหน้าของทั้งสองคนก็มีข้อสรุปตรงกันว่าทั้งนส.A และ
B ทำผิดกฎระเบียบและทุจริตต่อหน้าที่ด้วยการรูดบัตรลงเวลาแทนกันถือเป็นความผิดร้ายแรง
ก็เลยทำเรื่องไปถึงกรรมการผู้จัดการทำหนังสือเลิกจ้างทั้งสองคนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด
ๆ ทั้งสิ้นเพราะทั้งสองคนทำผิดร้ายแรงเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับพนักงานคนอื่น
ผมว่าทั้งผู้บริหารและ
HR หลายคนคงคิดว่าบริษัทจะสามารถเลิกจ้างนส.A และ
B โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้แน่นอนใช่ไหมครับ?
ลองดูคำพิพากษาศาลฎีกานี้ดูสิครับ
ฎ.3095/2537 “การตอกบัตรแทนกันช่วงเลิกงานไม่ได้ค่าจ้างเพิ่ม
นายจ้างไม่เสียหายแต่เป็นการผิดข้อบังคับการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง..”
จากกรณีข้างต้นเมื่อดูจากข้อเท็จจริงแล้วถามว่าพนักงานทั้งสองคนมีความผิดในเรื่องรูดบัตรแทนกันไหมก็ตอบได้ว่า
“ผิด” ครับ แต่ความผิดนี้ “ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง”
เพราะไม่ได้เป็นการทุจริตน่ะสิครับ
ถ้าเลิกจ้างบริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะจากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น
ศาลท่านดูตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบกันด้วย แม้บริษัทจะอ้างว่าในกฎระเบียบของบริษัทบอกว่าการลงเวลาแทนกันถือเป็นการทุจริต
แต่ในข้อเท็จจริงทั้งสองคนไม่ได้ทุจริตนี่ครับ
ดังนั้น
ในกรณีนี้สิ่งที่บริษัทควรทำก็คือบริษัทควรออกหนังสือตักเตือนพนักงานทั้งสองคนว่าห้ามรูดบัตรลงเวลาแทนกันอีก
ถ้ารูดบัตรแทนกันอีกบริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะบริษัทได้เคยตักเตือนในเรื่องนี้ไว้แล้ว
แล้วถ้าพบว่ามีการฝ่าฝืนผิดซ้ำคำเตือนนี้อีกบริษัทก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ
แล้วแบบไหนล่ะที่บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่พนักงานลงเวลาแทนกันโดยเข้าข่ายทุจริต?
ก็เช่น..บริษัทสั่งให้นส.A ทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 17.00-22.00
น.แต่พอถึงเวลาทำโอทีนส.A กลับแว๊บไปดูหนังกับแฟนแล้วก็กลับบ้านไปเลยโดยไม่ได้มาทำโอที
แล้วฝากบัตรให้นส.B ช่วยรูดบัตรแทนให้ด้วย
แล้วเอาค่าโอทีมาแบ่งกัน
อย่างนี้แหละครับเข้าข่ายทุจริตเพราะรับเงินค่าโอทีของบริษัทไปแล้วแต่ไม่ได้ทำงานให้บริษัทจริง
แถมยังเอาเงินค่าโอทีมาติดสินบนเพื่อนให้รูดบัตรกลับบ้านแทนเสียอีก
พฤติการณ์แบบนี้แหละครับถึงจะเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่
และบริษัทสามารถเลิกจ้างทั้งสองคนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน
ประเด็นหลักที่สำคัญในเรื่องนี้ก็คือ..ให้ดูที่ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
และข้อเท็จจริงนั้นเข้าข่ายทุจริตเป็นความผิดร้ายแรงจริงหรือไม่
ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านจะจับหลักได้แล้วและสามารถจัดการเกี่ยวกับการลงเวลาแทนกันได้อย่างถูกต้องแล้วนะครับ
.................................
ฟัง Podcast คลิ๊ก : https://www.podbean.com/media/share/pb-9bgg8-e0362f?utm_campaign=i_share_ep&utm_medium=dlink&utm_source=i_share