วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

20 คำถามเกี่ยวกับการลาออก - ตอนที่ 1


            ผมมักจะได้รับคำถามเกี่ยวกับการลาออกจากในห้องอบรมหรืออีเมล์มาสอบถามอยู่บ่อยครั้งก็เลยขอรวบรวมคำถามและคำตอบทั้งหลายมาไว้ตรงนี้ เผื่อใครสนใจก็มาหาอ่านได้เลย หรือถ้าใครจะเพิ่มเติมคำถาม-คำตอบแล้วนำมาต่อท้ายจากที่ผมเขียนไว้เพื่อเป็นการแชร์ความรู้และเป็นประโยชน์กับผู้สนใจก็ยินดีนะครับ

1.      ถาม : หัวหน้าเรียกมาบอกให้เขียนใบลาออกจะทำยังไงดี

ตอบ : อยู่ที่ตัวเราแหละครับ ถ้าเราไม่อยากจะลาออกก็ไม่ต้องเขียน (และเซ็นชื่อใน) ใบลาออก เราก็ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานต่อไป แต่ถ้าบริษัทอยากจะให้เราออกจากบริษัทจริง ๆ เขาก็ต้องแจ้งเลิกจ้างพร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน และค่าบอกกล่าวล่วงหน้ามาให้เรา

2.      ถาม : ถ้าเรายื่นใบลาออกเอง จะได้รับค่าชดเชยเหมือนกับถูกเลิกจ้างหรือไม่

ตอบ : ถ้าลูกจ้างยื่นใบลาออกจะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ ครับ เนื่องจากเป็นความประสงค์จะลาออกของตัวลูกจ้างเอง

3.      ถาม : หากบริษัทมีระเบียบเรื่องการเกษียณอายุ พนักงานยังคงต้องเขียนใบลาออกหรือไม่ และเมื่อเกษียณอายุจะได้รับค่าชดเชยหรือไม่

ตอบ : หากบริษัทมีระเบียบเรื่องการเกษียณอายุพนักงานไม่ต้องเขียนใบลาออกครับ จะถือว่าพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเมื่อครบกำหนดเกษียณอายุตามระเบียบของบริษัท ซึ่งบริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน) ให้กับลูกจ้างอีกด้วยครับ

4.      ถาม : หัวหน้าสามารถใช้อำนาจ (ของหัวหน้า) บังคับให้เราเขียนและเซ็นใบลาออกได้ไหม

ตอบ : ตอบเหมือนข้อ 1 คือถ้าเราไม่เขียนหรือไม่เซ็นใบลาออก ใครก็มาบังคับไม่ได้ครับ

5.      ถาม : แต่ถ้าหัวหน้าบังคับให้เราเขียนใบลาออก แล้วเราก็ยอมเขียนและเซ็นใบลาออกให้หัวหน้าไปจะมีผลยังไง

ตอบ : ก็มีผลคือเราก็จะพ้นสภาพการเป็นพนักงานของบริษัทในวันที่เราระบุเอาไว้ในใบลาออก โดยบริษัทก็จะต้องจ่ายค่าจ้างให้เราถึงวันสุดท้ายที่เราทำงานครับ


ตอบ : การลาออกเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างจากทางฝั่งลูกจ้าง เมื่อเซ็นใบลาออกไปแล้วก็เท่ากับพนักงานแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว พนักงานจะไปฟ้องศาลแรงงานว่าเราถูกข่มขู่จากนายจ้างก็จะต้องมีพยานหลักฐานที่แน่นหนาพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นได้ว่ามีการข่มขู่ยังไง หนักหนาสาหัสยังไง ถ้าไม่เซ็นใบลาออกเราจะถูกประทุษร้ายหรือมีอันตรายถึงชีวิตยังไง ฯลฯ เพื่อให้ศาลท่านพิจารณา แต่ถ้าจะไปฟ้องศาลโดยอ้างลอย ๆ ว่าถูกข่มขู่โดยไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ท่านลองคิดเองนะครับว่าจะชนะคดีหรือไม่

7.      ถาม : หัวหน้าเรียกไปด่าแล้วพูดว่า “ถ้าไม่พอใจก็ลาออกไป” หรือ “คุณลาออกไปเถอะทำงานไปคุณก็ไม่มีวันก้าวหน้าหรอก” แล้วเราก็ไปเขียนใบลาออกโดยถือว่าเราถูกข่มขู่ให้ลาออกได้หรือไม่

ตอบ : อย่างที่ตอบไปแล้วว่าคำพูดเหล่านี้ไม่ใช่การข่มขู่หรือการปิดกั้นไม่ให้เรามาทำงานที่แสดงว่าจะเลิกจ้าง ดังนั้นถ้าพนักงานเขียนใบลาออกก็ถือว่าเป็นการสมัครใจลาออกเอง ไม่ใช่การถูกข่มขู่ครับ

8.      ถาม : ถ้าเขียนใบลาออกไปแล้วยื่นให้กับหัวหน้า แล้วจะเปลี่ยนใจไม่ลาออกควรทำยังไง

ตอบ : ก่อนจะยื่นใบลาออกให้หัวหน้าขอให้คิดให้ดี ๆ เพราะถ้ายื่นใบลาออกไปแล้วการลาออกก็จะมีผลลาออกตามวันที่ระบุเอาไว้ในใบลาออก ถ้าหากจะไปเปลี่ยนใจทีหลังว่าจะไม่ลาออกก็ต้องไปพูดคุยกับหัวหน้าซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทางบริษัทแล้วล่ะครับว่าเขาจะว่ายังไง ถ้าเขายังอยากให้เราทำงานต่อไปเขาก็ควรจะต้องคืนใบลาออกกลับมาให้เราแล้วเราก็อาจจะขอให้เขาฉีกทิ้ง (หรือเราจะขอฉีกใบลาออกทิ้งเองก็ได้) ให้เห็นกันตรงนั้นไปเลย แต่ถ้าเขาไม่อยากให้เราทำงานต่อไปใบลาออกก็จะมีผลตามวันที่เราระบุเอาไว้แหละครับ ผมถึงบอกว่าก่อนยื่นใบลาออกคิดให้ดี ๆ เพราะถ้ายื่นไปแล้วก็จะอยู่ที่การตัดสินใจของบริษัทแล้วครับ

9.      ถาม : การยื่นใบลาออกจะต้องยื่นล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบของบริษัทหรือไม่ ถ้าไม่ยื่นตามระเบียบของบริษัทจะมีความผิดหรือไม่ บริษัทจะมีสิทธิไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายได้หรือไม่

ตอบ : เมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออกและระบุวันที่มีผลเอาไว้วันใดเมื่อถึงวันที่ระบุไว้ก็จะมีผลทันทีไม่จำเป็นต้องให้ใครมาอนุญาตแต่อย่างใด แต่ถ้าลูกจ้างไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัทแล้วทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทก็มีสิทธิไปฟ้องศาลแรงงานว่าการที่ลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ทำตามระเบียบการลาออกนั้น ทำให้บริษัทเสียหายไปกี่บาทกี่สตางค์เพื่อให้ศาลท่านวินิจฉัย แต่บริษัทไม่มีสิทธิไปหักเงินเดือนงวดสุดท้ายโดยอ้างว่าลูกจ้างทำผิดกฎระเบียบไม่ได้ครับ ดังนั้นพูดง่าย ๆ คือเมื่อพนักงานยื่นใบลาออกก็จะมีผลพ้นสภาพในวันที่ระบุเอาไว้ในใบลาออกทันที แม้การยื่นใบลาออกของลูกจ้างไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของบริษัทก็ตาม แต่ถามว่าพนักงานที่ดีควรยื่นใบลาออกวันนี้ให้มีผลในวันพรุ่งนี้ทันทีหรือไม่ล่ะ และการลาออกก็ควรจะลาออกด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกันจะดีกว่าหรือไม่ ก็เท่านั้นแหละครับ

10.   ถาม : บริษัทจะออกระเบียบห้ามพนักงานลาพักร้อนเมื่อยื่นใบลาออกได้หรือไม่ หรือถ้าพนักงานยื่นใบลาออกบริษัทจะถือว่าพนักงานสละสิทธิการลาพักร้อนได้หรือไม่

ตอบ : แบ่งสิทธิเป็น 2 ส่วนคือ

1.      สิทธิพักร้อนสะสม ถ้าพนักงานมีวันลาพักร้อนสะสมอยู่เท่าไหร่ก็สามารถยื่นใบลาออกพร้อมทั้งยื่นขอลาพักร้อนสะสมตามสิทธิที่มีอยู่ได้ ถ้าบริษัทไม่อนุมัติให้ใช้สิทธิพักร้อนสะสม บริษัทก็ต้องจ่ายคืนกลับมาเป็นเงินตามจำนวนวันลาพักร้อนสะสมที่พนักงานมีสิทธิอยู่
2.      สิทธิพักร้อนตามส่วนในปีที่ลาออก ในส่วนนี้พนักงานไม่มีสิทธิครับ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าพนักงานยื่นใบลาออกในปีใดสิทธิในการลาพักร้อนตามส่วน (หรือ Prorate) ในปีที่ลาออกนั้นจะถูกยกเลิกทันที เพราะมาตรา 67 ของกฎหมายแรงงานวรรคแรกไม่ได้พูดถึงการให้สิทธิลูกจ้างตามส่วนในปีที่ลาออกเอาไว้ครับ ดังนั้นบริษัทไม่อนุมัติให้ลาพักร้อนตามส่วน (Prorate) ในปีที่พนักงานลาออกได้ และไม่ต้องจ่ายค่าพักร้อนตามส่วนในปีที่พนักงานลาออกอีกด้วยนะครับ

ผมจะนำคำถามข้อ 11-20 มาเล่าให้ฟังกันอีกนะครับ

            โปรดติดตามตอนต่อไป....

……………………………….
ถ้าใครอยากจะฟังผมเล่าให้ฟังแทนการอ่านก็เข้าไปฟังได้ที่ Podbean....

ฟังแล้วถ้าดีก็กด Follow เพื่อจะได้ฟังเรื่องดี ๆ ต่อไปนะครับ