วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

องค์กรกับวิธีการรับมือ Covid-19


            ก่อนหน้านี้ผมเขียนเรื่อง “บริษัทจะสั่งให้พนักงานที่เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงหยุด 14 วันโดยไม่ให้เงินเดือนได้ไหม?” ไปแล้ว ผมก็เลยอยากจะเขียนเรื่องต่อเนื่องในการปฏิบัติเพื่อรับมือกับ Covid-19 เพิ่มเติมดังนี้ครับ

1.      บริษัทต้องรีบออกประกาศห้ามพนักงานเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เร็วที่สุด โดยเนื้อหาของประกาศคือห้ามไม่ให้พนักงานเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงทุกกรณี ถ้าหากฝ่าฝืนจะมีโทษทางวินัยและบริษัทจะสั่งให้หยุดเพื่อเฝ้าดูอาการไม่น้อยกว่า 14 วันโดยไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างหยุดเฝ้าดูอาการ รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ฝ่าฝืนประกาศแล้วอนุญาตให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงก็จะมีโทษทางวินัยเช่นเดียวกัน และต้องไม่ลืมว่าหากพนักงานฝ่าฝืนไปประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยไม่ได้รับอนุญาตบริษัทอาจลงโทษสถานหนักคือเลิกจ้างเนื่องจากละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรได้อีกนะครับ ซึ่งถ้าบริษัทลงโทษแบบนี้พนักงานก็ตกงานกลับไปอยู่บ้านยาวเลยครับ

2.      บริษัทที่จะต้องมีการติดต่อกับลูกค้า, ซัพพลายเออร์ หรือจะต้องส่งพนักงานจาก Regional Office ที่อยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงมาติดต่องานในประเทศไทยก็ควรแจ้งระงับเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยของพนักงานในประเทศไทย ถ้ามีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องจัดพื้นที่ทำงานเฉพาะโดยมีมาตรการในการติดต่อระหว่างบุคคลและการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคในที่ทำงานที่เข้มงวด

3.      หากพนักงานเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงก่อนที่จะมีประกาศห้ามตามข้อ 1 ออกมา เมื่อพนักงานกลับมาถึงประเทศไทยบริษัทจะต้องสั่งให้พนักงานหยุดเฝ้าดูอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทอาจต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างเฝ้าดูอาการเนื่องจากไม่ได้ประกาศห้ามการเดินทางเอาไว้ก่อน เพราะกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานออกมาบอกว่าให้ถือว่าการเฝ้าดูอาการจัดให้อยู่ในประเภทลาป่วยโดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ในระหว่างเฝ้าดูอาการครับ ซึ่งบริษัทก็อาจสั่งให้พนักงานหยุดพักร้อนตามสิทธิที่มีอยู่ให้หมดเสียก่อนแล้วค่อยต่อด้วยหยุดเฝ้าดูอาการก็ได้ครับ

4.      จากข้อ 3 จึงเป็นความจำเป็นที่บริษัทจะต้องมีประกาศแจ้งให้พนักงานปฏิบัติตามข้อ 1 ให้เร็วที่สุด ซึ่งถ้าหากบริษัทประกาศแจ้งแล้วพนักงานยังฝ่าฝืนก็สามารถทำตามที่ประกาศได้เลยครับ

5.      หากพนักงานกลับมาแล้วป่วยเนื่องจากติดเชื้อ Covid-19 แน่นอนว่ากรณีนี้ก็ต้องนับเป็นการลาป่วยโดยบริษัทต้องจ่ายค่าจ้างให้ไม่น้อยกว่า 30 วันทำงานตามกฎหมายครับ

6.      กรณีที่บริษัทจำเป็นต้องส่งพนักงานไปทำงานในประเทศกลุ่มเสี่ยง อันนี้ก็ควรต้องพิจารณาให้ดีว่ามีความจำเป็นมากขนาดไหน สามารถใช้วิธีการติดต่องานกันในรูปแบบอื่นเช่น Tele Conference ได้หรือไม่ เพราะหากส่งพนักงานไปทำงานในประเทศกลุ่มเสี่ยง เมื่อเขากลับมาเมืองไทยก็จะมีผลกระทบในอีกหลาย ๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นทางครอบครัวของตัวพนักงานเอง, ที่ทำงาน, ลูกค้า ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อกลับมาก็ต้องให้หยุดเฝ้าดูอาการไม่น้อยกว่า 14 วันโดยจ่ายค่าจ้าง และถ้าหากติดเชื้อ Covid-19 กลับมานี่คงจะเป็นบาปในใจของผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้เขาไปทำงานไม่น้อยเลยนะครับ

      หวังว่าแนวทางการรับมือ Covid-19 ข้างต้นจะทำให้ท่านเกิดไอเดียในการบริหารจัดการในสภาวการณ์นี้บ้างแล้วนะครับ

………………………………