วันหยุดในกฎหมายแรงงานมี 3 ประเภทคือ
1. วันหยุดประจำสัปดาห์ (ตามม.28) 2.
วันหยุดประเพณี (หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์) (ตามม.29) และ 3.
วันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งมักจะเรียกเพี้ยนกันไปเป็นวันลาพักร้อนแต่ที่จริงแล้วเป็น
“วันหยุด” ไม่ใช่ “วันลา” นะครับ (ตามม.30)
หลักการของวันหยุดทั้ง
3
ประเภทนี้กฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องเป็นคนกำหนดให้ลูกจ้างหยุดล่วงหน้าเพราะเป็นสิทธิของลูกจ้าง
นายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างหยุดไม่ได้
วิธีการที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างหยุดเช่น
การที่นายจ้างเขียนข้อบังคับการทำงานว่าบริษัทจะมีวันหยุดประจำสัปดาห์วันไหนบ้าง
หรือการที่บริษัทออกประกาศว่าจะมีวันหยุดประเพณีในปีหน้าวันไหนบ้าง หรือการที่หัวหน้ากำหนดให้ลูกน้องหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าวันไหนบ้าง
เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าวันหยุดเหล่านี้บริษัทต้องกำหนดให้พนักงานหยุดล่วงหน้าตามกฎหมายแรงงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วันหยุดพักผ่อนประจำปี”
ซึ่งมักจะเกิดปัญหาว่าถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาพักร้อนบริษัทมักจะบอกว่าเมื่อพนักงานไม่ยื่นใบลาพักร้อนถือว่าพนักงานสละสิทธิ์นั้น
ไม่ถูกต้องนะครับ!
ถ้าพนักงานยังไม่ยื่นใบลาพักร้อนในปีใดก็ยังเป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่จะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกน้องล่วงหน้าด้วยถ้าลูกน้องบอกว่าไม่อยากลาพักร้อนก็ต้องเขียนกลับมาว่า
“สละสิทธิ์” พร้อมเซ็นชื่อเอาไว้เป็นหลักฐานจึงจะถือว่าพนักงานสละสิทธิ์นะครับ
**แต่ถ้าบริษัทไม่จัดให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีแล้วจะไปโมเมว่าพนักงานไม่ยื่นใบลาพักร้อนถือว่าสละสิทธิ์ไม่ได้ครับ**
ส่วน
“วันลา” เช่น ลาป่วย, ลากิจ, ลาคลอด, ลาทำหมัน อะไรเหล่านี้นายจ้างไม่ต้องกำหนดให้ลูกจ้างหยุดล่วงหน้าครับ
ถ้าพนักงานมีความจำเป็นจะลาก็ว่ากันเป็นครั้ง ๆ ไป เช่น
เมื่อลูกจ้างป่วยจนไม่สามารถมาทำงานได้ก็โทรมาลาป่วยกับนายจ้าง
ถ้านายจ้างเห็นว่าป่วยจริงก็อนุญาตให้ลาป่วย
ไม่ใช่หัวหน้าจะไปกำหนดให้ลูกน้องลาป่วยวันนั้นวันนี้ล่วงหน้า
หรือไปกำหนดให้ลูกน้องลาทำหมันล่วงหน้า หรือไปกำหนดให้ลูกน้องลาคลอดล่วงหน้า มันก็คงจะยังไง
ๆ อยู่จริงไหมครับ
นี่จึงเป็นความแตกต่างกันระหว่าง
“วันหยุด” และ “วันลา” อย่างที่เล่ามานี้แหละครับ
....................................