วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ผลกระทบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ

           วันก่อนผมเขียนเปรียบเทียบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ปี 2555, 2560, 2561 และล่าสุดคือที่จะมีผลวันที่ 1 มค.2563 ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุดนี้จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2.2% (คิดค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทุกอัตรา) และถ้าเป็นในเขตกทม.จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 1.8%

            วันนี้ผมก็เลยขอนำตารางเปรียบเทียบอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิเปรียบเทียบระหว่างปี 2550 กับปี 2561 มาดูผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้โดยมีข้อสังเกตดังนี้ครับ

            1. ค่าเฉลี่ยของอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปวช.ประมาณ 11,000 บาท ปวส.ประมาณ 13,000 บาท ปริญญาตรี (สายสังคมศาสตร์) ประมาณ 16,000 บาท ปริญญาตรี (สายวิศวกรรมศาสตร์) ประมาณ 20,000 บาท และปริญญาตรี (คอมพิวเตอร์) ประมาณ 17,000 บาท

            2. ถ้าใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในกทม.เป็นเกณฑ์คือวันละ 331 บาทเดือนละ 9,930 บาท พบว่ายังห่างจากอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.ประมาณ 11% ในขณะที่ก่อนปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะห่างอยู่ประมาณ 13%

            3. จากข้อ 2 จะเห็นได้ว่าความห่างระหว่างอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปวช.กับค่าจ้างขั้นต่ำลดลงประมาณ 2% ดังนั้นบริษัทที่ยังมีนโยบายที่ไม่อยากเพิ่มต้นทุนการจ้างปวช.ก็อาจจะยังไม่ต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปวช.ก็ได้ แต่มีข้อควรระวังคือถ้าตลาดคู่แข่งปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.,ปวส.,ปริญญาตรี ฯลฯ เพิ่มขึ้นก็จะทำให้บริษัทไม่สามารถจ้างผู้สมัครที่จบใหม่และมีคุณสมบัติตามที่บริษัทต้องการได้

           4. ถ้าบริษัทมีนโยบายในการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปวช.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและจูงใจให้ผู้สมัครที่จบใหม่สนใจอยากจะมาร่วมงานกับบริษัท จะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิอื่น ๆ ตามไปด้วยคือต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปวส.,ปริญญาตรี, ปริญญาโท ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ Staff Cost เพิ่มขึ้ย

           5. หากมีการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้นจะมีข้อควรคำนึงว่าบริษัทอาจจะต้องปรับเงินเดือนพนักงานที่เข้ามาก่อนหน้านี้ในคุณวุฒิเดียวกันแต่ได้รับเงินเดือนในอัตราเดิม (ก่อนปรับ) เพื่อให้มีเงินเดือนหนีผลกระทบการปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิของคนใหม่ และรักษาพนักงานที่มีศักยภาพเอาไว้ ส่วนวิธีการและสูตรในการปรับเงินเดือนคนเก่าเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิว่าจะเป็นยังไงก็ขอให้ไปอ่านในหนังสือ "การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน(ภาคปฏิบัติ)" ที่ผมเปิดให้ดาวน์โหลดในบล็อกของผมนะครับ

            หวังว่าจะเป็นข้อคิดที่จะเป็นข้อมูลนำไปคิดหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับคนที่ต้องดูแลงานด้านบริหารค่าจ้างเงินเดือนนะครับ

........................................