ถาม : บริษัทจะเรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงานจากพนักงานทดลองงานได้หรือไม่
ตอบ : บริษัทจะเรียกรับหลักประกันการทำงานได้เฉพาะตำแหน่งงานที่สภาพงานนั้นลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้
(ตามม.10)
ตำแหน่งที่ไม่ได้มีลักษณะหรือสภาพงานเป็นไปตามที่ระบุไว้ในมาตรา
10 บริษัทจะไปเรียกเก็บหลักประกันการทำงานไม่ได้หรือแม้แต่เรียกให้นำตัวบุคคลมาค้ำประกันการทำงานก็ไม่ได้ด้วยครับ
ถาม : กรณีตำแหน่งที่บริษัทสามารถจะเรียกเงินค้ำประกันการทำงานได้
บริษัทจะนำเงินค้ำประกันมาเข้าบัญชีของบริษัทได้หรือไม่
ตอบ : ไม่ได้ครับ
บริษัทจะต้องทำตามกฎกระทรวงลงวันที่ 3 มิย.2551 (ดูกฎกระทรวงเรื่อง “เงินค้ำประกันการทำงาน” โดย Search คำนี้ในกูเกิ้ลแล้วดาวน์โหลดมาอ่าน) พูดโดยสรุปง่าย ๆ คือเรียกได้ไม่เกิน 2
เท่าของค่าจ้างแล้วนำมาเปิดบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงินให้เป็นชื่อของลูกจ้างแล้วแจ้งให้ลูกจ้างทราบรายละเอียดภายใน
7 วันนับแต่วันที่รับเงินค้ำประกันมาจากลูกจ้าง
เมื่อลูกจ้างพ้นสภาพพนักงานแล้วไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายบริษัทก็ต้องคืนสมุดบัญชีเงินฝากคืนให้กับลูกจ้าง
ถาม : ถ้าบริษัทฝ่าฝืนเรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงานในตำแหน่งที่กฎหมายห้ามเรียกเก็บ
หรือไม่ทำตามกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกรับหลักประกันการทำงานล่ะ
จะมีโทษยังไง
ตอบ : จะมีโทษจำคุกไม่เกิน
6 เดือนปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คนรับโทษคือคนที่เป็น “นายจ้าง” ซึ่งก็มักจะเป็นกรรมการผู้จัดการที่มีอำนาจทำการแทนบริษัทครับ
ถาม : ถ้าพนักงานไม่ผ่านทดลองงานเพราะมีผลการทำงานไม่ดี
หรือเกเรไม่รับผิดชอบงานในระหว่างทดลองงาน บริษัทจะยึดเงินค้ำประกันการทำงานได้หรือไม่
ตอบ : ไม่ได้ครับ
ถ้าพนักงานไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทเมื่อพนักงานพ้นสภาพก็ต้องคืนเงินค้ำประกันการทำงาน
(ซึ่งก็คือสมุดบัญชีเงินฝาก) ให้กับพนักงาน
....................................