ผมเคยถูก MD บริษัทแห่งหนึ่งบอกกับผมอย่างงี้เมื่อผมเพิ่งเข้าไปทำงานในบริษัทแห่งนั้นได้ไม่นานนักแล้วพบว่าบริษัทนั้นยังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องในเรื่องกฎหมายแรงงาน
และบางเรื่องก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกพนักงานฟ้องศาลแรงงานหรือไปร้องเรียนแรงงานเขต
พร้อมกันนั้นผมก็เสนอวิธีป้องกันแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเอาไว้ด้วย
แน่นอนว่าแกก็คงไม่แฮปปี้กับคำท้วงติงรวมทั้งวิธีป้องกันและแก้ปัญหาของผมเท่าไหร่นัก
เพราะแกคงคิดว่าบริษัทจะออกกฎระเบียบอะไรออกมาก็ได้ ซึ่งพนักงานจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยบอกว่านี่เป็นสิทธิของบริษัททีคนอื่นเขาทำกันก็ไม่เห็นเป็นไร
แม้ผมจะบอกแกว่ากฎระเบียบใด ๆ ของบริษัทน่ะใช้ได้ครับแต่ต้องไม่ขัดกฎหมายแรงงาน
เพราะเวลาขึ้นศาล ศาลท่านจะต้องวินิจฉัยและตัดสินตามกฎหมาย
ไม่ได้ตัดสินตามระเบียบของบริษัท (ที่ขัดกฎหมาย)
ที่เล่ามานี้ก็เพื่ออยากจะชี้ให้เห็นว่ายังมีคนอีกไม่น้อย
(แม้จะเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ตาม) ที่ยังคงชอบคิดและพูดว่า “ทีคนอื่นเขาทำแบบนี้
(ทำเรื่องผิด ๆ) ไม่เห็นเขามีปัญหาอะไรเลย”
ถ้าคิดแบบนี้คือความเสี่ยงของทั้งตัวเอง
หน่วยงานและองค์กรแล้วล่ะครับ!
วิธีคิดแบบนี้เป็นการคิดแบบที่ฝรั่งเรียกว่า
Cognitive
Dissonance
หรือผมแปลแบบชาวบ้านว่าเป็นความคิดเข้าข้างตัวเองแบบแถ ๆ
เพื่อให้ตัวเองสบายใจ (ผมเคยเขียนเรื่อง Cognitive Dissonance อยู่ในหนังสือที่ให้ดาวน์โหลดฟรีคือ “สนุกไปกับพฤติกรรมคนด้วยจิตวิทยาและเทวดากรีก”
ในบล็อกของผม บทที่ 1 ไปโหลดมาอ่านดูได้ครับ)
คนพูดย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่มันผิดแหง
ๆ แต่ก็ยังพยายามหาเหตุผล (แบบแถ ๆ) มาปลอบใจตัวเองเพื่อให้สบายใจว่าตัวเองไม่ผิดซะงั้น
แล้วก็ยอมรับความเสี่ยงนั้นต่อไปประเภท “รถคนนี้สีเขียว” นั่นแหละครับ
แน่นอนว่าตอนนี้คนอื่นเขาทำสิ่งที่ผิดกฎหมายแรงงานอยู่เขายังไม่เห็นเป็นไรเพราะยังไม่ถูกพนักงานฟ้องหรือไปร้องเรียนแรงงานเขตฯไงล่ะครับ
เมื่อไหร่เขาไปฟ้องหรือไปร้องเรียนก็จะต้องถูกชี้ว่าผิดแหงแก๋
แล้วเราจะทำผิดแบบดันทุรังทั้ง ๆ ที่รู้โดยอ้างว่าทีคนอื่นยังทำผิดได้ไปทำไมล่ะครับ?
ถ้าบริหารคน
บริหารลูกน้องด้วยตรรกะแบบนี้ลูกน้องก็จะมองหัวหน้าด้วยความคลางแคลงใจ
ความเชื่อมั่น ศรัทธา ยอมรับนับถือจะมีไหม แล้วถ้ามีลูกหลานล่ะเขาจะสอนลูกหลานให้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติได้ยังไง
นี่ไม่ต้องพูดให้ยาวไกลไปถึงเรื่องธรรมาภิบาลหรือเรื่องวัฒนธรรมในองค์กรที่ผู้บริหารบางคนมักชอบพูดให้ดูเท่ห์ดูดีแต่ตัวเองกลับมีพฤติกรรมย้อนแย้งแบบนี้กันเลยนะครับ
ถ้าผู้บริหารเป็นซะอย่างนี้แล้วไปบอกให้พนักงานทำงานให้องค์กรแบบทุ่มเท
ซื่อสัตย์สุจริต ให้มีความรักความผูกพันกับบริษัท ไม่เอารัดเอาเปรียบบริษัท ฯลฯ
จะมีพนักงานคนไหนเชื่อไหมล่ะ
เพราะสัจธรรมคือเมื่อคุณพูดคนจะฟัง
แต่คนจะเชื่อ (ทั้งเรื่องดีและไม่ดี) เมื่อคุณทำตามที่พูด
ถ้าวันนี้เรามีหัวหน้า/ผู้บริหารที่มีพฤติกรรมทำผิดแต่ชอบแถอ้างคนอื่นแบบนี้แล้ว
หวังว่าเราควรจะต้องจดจำและจะไม่ทำพฤติกรรมแบบนี้กับคนที่เป็นลูกน้องของเราด้วยนะครับ
ลูกน้องจะได้มองเราด้วยสายตาที่เชื่อมั่น ศรัทธา
ยอมรับในภาวะผู้นำที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไปด้วยครับ
…………………………