หลายคนที่พอได้งานในที่ใหม่ก็รีบร้อนไปยื่นใบลาออกกับหัวหน้าทันทีโดยที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาจ้างกับที่ใหม่
แล้วก็เกิดปัญหาตามมาคือเมื่อยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน
(ตามระเบียบการลาออกของบริษัทส่วนใหญ่) ไปแล้ว
บริษัทแห่งใหม่โทรมาบอกว่า
“ขอยกเลิกการรับเข้าทำงาน”
!!
ผลก็คือ “เงิบ” น่ะสิครับ
ครั้นจะบากหน้ากลับไปหาหัวหน้าแล้วบอกว่า
“พี่ครับ ผมขอโทษจริง ๆ
ผมอยากจะยกเลิกการลาออกเพราะที่ใหม่เขาไม่รับผมเข้าทำงานแล้ว....ฯลฯ”
ถ้าท่านเป็นหัวหน้าจะยกเลิกการลาออกให้ไหม?
นี่ยังไม่รวมความไว้เนื้อเชื่อใจจากฝ่ายบริหารว่าถ้ายกเลิกการลาออกแล้ว
พนักงานจะทำงานไปแบบศาลาพักร้อนเพื่อไปหางานใหม่อีกหรือเปล่า บริษัทจะไว้วางใจได้อีกมากน้อยแค่ไหน
ฯลฯ
เห็นไหมครับว่ามันอิหลักอิเหลื่อกันไปหมด
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทำนองนี้
สิ่งที่คนที่คิดจากลาออกจากบริษัท “จะต้อง” ทำก็คือ....
1.
เซ็นสัญญาจ้างงานกับบริษัทแห่งใหม่ให้เรียบร้อยเสียก่อน ก่อนเซ็นชื่อก็ต้องดูรายละเอียดต่าง
ๆ ของสัญญาจ้างให้ดีด้วยนะครับว่าเขามีเงื่อนไขอะไรยังไงบ้าง ไม่ใช่เห็นแบบผ่าน ๆ
ก็รีบเซ็นลงไปเลยโดยไม่ดูข้อความอะไรเลย เช่น ถ้าในสัญญาจ้างมีข้อความทำนองว่า
-
บริษัทจะเรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงานทั้ง
ๆ
ที่ตำแหน่งงานที่รับนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับนายจ้างได้โดยลักษณะงานนั้น
-
ถ้าไม่ผ่านทดลองงานบริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้าย
-
ถ้าลาออกก่อนทำงานครบ 1 ปีบริษัทจะไม่คืนเงินค้ำประกันการทำงาน
-
ข้อความที่มีลักษณะเอาเปรียบแรงงานอื่น ๆ
ฯลฯ
บริษัทที่มีสัญญาเอาเปรียบแรงงานแบบนี้ผมว่าอย่าไปทำเลยครับ
เพราะแค่สัญญาจ้างยังแสดงเจตนาเอาเปรียบถึงขนาดนี้
แล้วเมื่อเราเข้ามาทำงานเขาจะไม่เขี้ยวไม่เอาเปรียบเรายิ่งกว่านี้หรือ
คิดและดูเงื่อนไขให้ดี
ๆ ก่อนตัดสินใจนะครับ
2.
ขอสำเนาสัญญาจ้างเอาไว้ด้วยเผื่อบริษัทใหม่เบี้ยวเรา
ไม่รับเราเข้าทำงานหลังจากเราเขียนใบลาออกจากที่ปัจจุบันไปแล้ว
เรายังมีหลักฐานที่ไปฟ้องศาลแรงงานได้ถ้าบริษัทไม่ยอมให้เราเข้าทำงานตามวันที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง
สิ่งสำคัญคือควรเซ็นสัญญาจ้างและขอสำเนาสัญญาจ้างเอาไว้ก่อนไปยื่นใบลาออกกับหัวหน้าครับ
อาจจะมีคำถามว่า
“ถ้าบริษัทที่จะรับเราเข้าทำงานเขาไม่ให้สำเนาสัญญาจ้าง
หรือบอกว่าไม่ไว้ใจบริษัทเราเลยหรือ” จะทำยังไง?
ก็ตอบได้ว่า
บริษัทที่มีมาตรฐานมีความเป็นมืออาชีพไม่มีวาระซ่อนเร้นก็ควรจะต้องมีสำเนาสัญญาจ้างตามที่เราร้องขอ
(ถ้าบริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพจริง ๆ แล้วเราไม่ต้องขอด้วยซ้ำ
เมื่อเราเซ็นสัญญาจ้างเสร็จแล้วเขาจะให้สำเนาสัญญาจ้างมาเลยแหละ)
แต่ถ้าบริษัทที่ไม่ยอมให้สำเนาสัญญาจ้างแม้เราจะขอแล้วก็ยังไม่ให้นี่ผมว่าลองคิดดูใหม่ว่าควรจะมาร่วมงานกับบริษัทที่ยังไม่มีความเป็นมืออาชีพแม้แต่ในเรื่องเบื้องต้นอย่างนี้ดีหรือไม่
ฝากไว้ให้คิดก่อนตัดสินใจยื่นใบลาออกนะครับ
…………………………….