วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พนักงานทำงานไม่ดีจะขอลดเงินเดือนดีไหม?


            แปลกดีนะครับทำไมระยะนี้ถึงมีแต่คำถามทำนองนี้มาบ่อย ๆ ....

            “พนักงานทดลองงานทำงานไม่ดีจะเรียกมาแจ้งผล ขอลดเงินเดือนลงและให้เวลาต่อทดลองงานออกไปดีหรือไม่” หรือ

            “พนักงานเก่าทำงานมานาน ผลงานไม่ดีจะเชิญมาคุยเพื่อขอลดเงินเดือนลง และจะมอบหมายงานให้เขามี Value ในงานที่เพิ่มขึ้น ถ้าพนักงานยินยอมจะทำได้ไหม” หรือ

            “ถ้าบริษัทไม่ลดเงินเดือนเพราะพนักงานคงไม่ยินยอมและจะผิดกฎหมายแรงงาน แต่บริษัทขอลดเงินตัวอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือน เช่น ค่าน้ำมัน จะได้หรือไม่”

            ผมเลยอยากจะมาทำความเข้าใจในหลักของ “ค่าจ้าง” ให้ตรงกันเสียก่อนคือ....

            การลด “ค่าจ้าง” นั้นทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมายแรงงานครับ แต่ถ้าพนักงานยินยอมที่จะลดค่าจ้างโดยการทำสัญญายินดีลดค่าจ้างของตัวเองลงแล้วเซ็นชื่อก็อาจทำได้แต่..ถามใจของตัวเราเองดูสิครับว่าถ้าใครมาบอกให้เราลดค่าจ้างลงน่ะเรารู้สึกยังไง และเราอยากให้บริษัทลดค่าจ้างของเราหรือไม่?

            ผมใช้คำว่า “ค่าจ้าง” เพราะกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่าเงินเดือน ถ้าจะถามว่าค่าจ้างมีความหมายว่ายังไงก็ตอบได้ (ตามมาตรา 5 ไปหาอ่านในกฎหมายแรงงานนะครับ) แบบเร็ว ๆ ว่าคือเงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาในเวลาทำงานปกติ

            ดังนั้น จึงต้องมาตีความว่า “เงิน” ประเภทต่าง ๆ ที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงานนั้นเงินตัวไหนบ้างที่เป็นค่าจ้างหรือเงินตัวไหนที่ไม่เป็นค่าจ้าง เช่น....

            เงินเดือนเป็นค่าจ้างแหงแก๋ เพราะเป็นค่าตอบแทนการทำงานที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง คือฉันทำงานให้เธอ ๆ ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน(คือเงินเดือน)ให้ฉัน

            ค่าวิชาชีพก็เป็นค่าจ้างเพราะเป็นค่าตอบแทนการทำงานที่ลูกจ้างต้องใช้วิชาชีพนั้น ๆ ในการทำงานนายจ้างก็เลยต้องจ่ายค่าวิชาชีพให้

            ค่าตำแหน่ง, ค่าภาษาก็เป็นค่าจ้างเพราะเป็นค่าตอบแทนการทำงานที่ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งนั้น หรือทำงานโดยต้องใช้ภาษานั้น ๆ ในการทำงาน

            ฯลฯ

            จากที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้จึงต้องมาตีความกันว่าเงินอะไรบ้างที่เป็นค่าจ้าง อะไรที่ไม่เป็นค่าจ้างเพื่อจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องครับ

            คราวนี้เรากลับมาสู่คำถามข้างต้นคือ “การลดค่าจ้างน่ะทำได้หรือไม่?

          แต่ผมอยากจะตั้งคำถามกลับไปยังผู้ถามว่า....

          “การลดค่าจ้างควรทำหรือไม่?” และ “ลดค่าจ้างไปแล้วบริษัทจะได้อะไร?

            ถ้ายังคิดไม่ออกลองตอบคำถามเหล่านี้ดูก่อนไหมครับ

1.      บริษัทจะลดค่าจ้างพนักงานเพื่อจะลงโทษที่เขาทำงานไม่ดีใช่หรือไม่, บริษัทคาดหวังหรือมีเป้าหมายอะไรในการลดค่าจ้างพนักงานที่ทำงานไม่ดีตอบให้ชัด ๆ ได้ไหมครับ

2.      ถ้าลดค่าจ้างพนักงานลงเพราะพนักงานทำงานไม่ดีแล้ว จะทำให้พนักงานทำงานดีขึ้นกว่าเดิมได้จริงหรือไม่ เช่นเมื่อลดเงินเดือนพนักงานทดลองงานลงแล้วเขาจะทำงานดีขึ้นได้ตามเม็ดเงินที่ถูกลดลงไปหรือ? เมื่อลดเงินเดือนพนักงานประจำที่ทำงานไม่ดีลงแล้วจะแน่ใจไหมครับว่าเขาจะทำงานดีขึ้น ถ้าเขายังทำงานไม่ดีขึ้นล่ะบริษัทจะต้องลดเงินเดือนลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะทำงานให้ดีขึ้นหรือเปล่าครับ แล้วเมื่อไหร่เขาจะทำงานดีขึ้นและถ้าสมมุติว่าเขาทำงานดีขึ้นแล้วบริษัทจะปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้เขาตามไปด้วยไหม

3.      แน่ใจไหมครับว่าพนักงานที่ถูกลดค่าจ้างลงจะไม่แอบ “วางยา” บริษัทด้วยการสร้างความเสียหายแบบลับ ๆ โดยไม่ให้หัวหน้ารู้ เช่น การนำข้อมูลลับที่สำคัญ ๆ ออกไปเผยแพร่    หรือการไปปล่อยข่าวลือต่าง ๆ ให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในบริษัท ฯลฯ

4.      เมื่อลดค่าจ้างพนักงานลงแล้วเขาจะยังคงมีความก้าวหน้า (Career Path) ต่อไปกับบริษัทได้อยู่อีกหรือไม่? บริษัทจะไว้วางใจเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเขาในอนาคตหรือไม่?

          จากคำถามข้างต้นในมุมมองของผมการลดเงินเดือนหรือลดค่าจ้างพนักงานลงเพราะผลงานไม่ดีไม่ว่าจะเป็นพนักงานทดลองงานหรือพนักงานประจำก็ตามไม่ได้ทำให้เกิดผลดีอะไรขึ้นมาเลย!!

          ถ้างั้นควรทำยังไงถ้าพนักงานทำงานไม่ดี?

1.      มีการประเมินผลการปฏิบัติงานและแจ้งผลการปฏิบัติงาน (Feedback) ให้พนักงานรับทราบแบบตรงไปตรงมา เช่น ถ้าพนักงานทำงานไม่ดีมีปัญหาในการทำงานมากจนหัวหน้ารับไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องกล้าประเมินผลงานให้ต่ำสุด เช่น D หรือ E

2.      นำผลการประเมินไปใช้ร่วมกับการให้คุณให้โทษที่ชัดเจน เช่น เมื่อถูกประเมินผลการปฏิบัติงานต่ำสุดก็อาจจะได้ขึ้นเงินเดือนประจำปีในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากหรือไม่ได้ขึ้นเงินเดือน หรือได้โบนัสน้อยกว่าค่าเฉลี่ยหรือไม่ให้โบนัสเลยเนื่องจากผลงานไม่เป็นที่ยอมรับของหัวหน้าและแจ้งผลให้เขาทราบ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ตัวพนักงานก็อาจจะตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเองด้วยการลาออกไปโดยที่บริษัทไม่ต้องไปลดเงินเดือนลงให้มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องศาลแรงงาน เพราะการขึ้นเงินเดือนประจำปีและการจ่ายโบนัสโดยหลักการแล้วเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะขึ้นหรือจะจ่ายให้กับใครมากน้อยแค่ไหนหรือไม่ให้เลยก็ย่อมได้ (ถ้านายจ้างไม่นำสิทธิของนายจ้างนี้ไปทำให้กลายเป็นสภาพการจ้างที่เป็นคุณกับลูกจ้างนะครับ)

3.      ถ้าในที่สุดแล้วบริษัทเห็นว่าพนักงานที่มีผลการทำงานไม่ดีเหล่านี้ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น หรือมีทัศนคติที่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถจะทำงานร่วมกันไปได้แล้วจริง ๆ ก็คงจะต้องเจรจากับพนักงานเพื่อหาทางจากกันด้วยดี ซึ่งก็แล้วแต่เงื่อนไขข้อตกลงซึ่งกันและกันครับ

แต่พูดง่าย ๆ ว่าหลักการข้อนี้คือ “เจ็บแต่จบ” ไม่ควรยืดเยื้อแบบเรื้อรังครับ

ถ้าบริษัทของท่านมีปัญหาข้างต้นก็ลองนำความคิดเห็นของผมกลับไปคิดทบทวนด้วยหลักกาลามสูตรหาข้อมูลและไตร่ตรองคิดด้วยเหตุผลให้ดี ๆ และขอให้ท่านหาทางออกของปัญหานี้เจอด้วยตัวท่านเองครับ

……………………………..