ในตอนนี้ผมจะมาอธิบายในเรื่องการติดต่อสื่อสารกับคนแต่ละสไตล์ว่าเราจะสามารถสื่อสารกันยังไง
อะไรเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังในการติดต่อสื่อสารกับคนแต่ละสไตล์เพื่อให้ท่านได้ข้อคิดในการทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างทั้งที่ทำงานและที่บ้านได้อย่างราบรื่นขึ้นดังนี้ครับ
วิธีในการติดต่อกับคนแต่ละสไตล์
เมื่อท่านได้ทราบถึงสิ่งที่คนในแต่ละสไตล์ชอบ
หรือไม่ชอบมาแล้ว (หากจำไม่ได้ต้องไปย้อนอ่านในตอนที่แล้ว) ผมจึงขอพูดต่อถึงวิธีการติดต่อคนในแต่ละสไตล์โดยสรุปดังนี้ครับ
หากท่านต้องติดต่อกับคนสไตล์ D : ท่านควรพูดเข้าประเด็นตรง
ๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมชักแม่น้ำทั้ง 5 สายมาให้คนสไตล์ D รำคาญ เพราะเขาไม่ชอบประเภทน้ำท่วมทุ่ง ขอเนื้อ ๆ น้ำไม่ต้อง เพราะคนสไตล์
D ชอบพูดหรือทำอะไรที่ชัดเจนตรงไปตรงมาโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นเรื่องของงาน
ซึ่งท่านสามารถพูดเข้าเป้าหมายและได้ผลลัพธ์เลยทันที
อ้อ ! หากหัวหน้าของท่านเป็นคนสไตล์
D ท่านก็อย่าลืมวิธีการตอบคำถามด้วยความรวดเร็ว ชัดเจน
ว่องไว ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วด้วยนะครับ มัวแต่อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ คิดช้า ๆ
ล่ะก็โดยไล่ออกมาจากห้องหัวหน้าไม่รู้ด้วยนะครับ
หากท่านต้องติดต่อกับคนสไตล์ I : ท่านควรจะต้องมีการพูดนำหว่านล้อมชักแม่น้ำทั้งห้าเสียก่อน
ไม่ควรนำเรื่องเครียด ๆ เขาไปคุยเสียตั้งแต่เริ่มต้นพูดง่าย ๆ
ว่าควรจะมีอินโทรเสียก่อน โดยอาจจะคุยในเรื่องส่วนตัว เรื่องทั่ว ๆ ไป ลม ฟ้า
อากาศหรือมีการเกริ่นนำที่มาที่ไปของเรื่องราวต่าง ๆ ปูพื้นเสียก่อน แล้วจึงมุ่งเข้าหาประเด็นที่ต้องการ
เพื่อทำให้คนสไตล์ I มีการปรับอารมณ์ในเบื้องต้นเสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความสนุกสนาน
รื่นเริง สังคม การสมาคมล่ะก็เขาจะชอบเป็นพิเศษ แล้วเรื่องงานค่อย ๆ
แทรกเข้าไปทีหลังแบบเนียน ๆ เพราะคนสไตล์ I เขาเน้นมนุษยสัมพันธ์เป็นหลักครับ
หากท่านต้องติดต่อกับคนสไตล์ S : เนื่องจากคนสไตล์นี้ไม่ชอบถูกกดดันเพราะเขาเป็นคนที่ชอบใช้ชีวิตที่อยู่ในกรอบ
ในหลักเกณฑ์แบบเรียบ ๆ ไม่หวือหวา ค่อนเป็นค่อยไป ไม่ชอบอะไรที่เร่งรีบ
เพราะเขามองว่าความเร่งรีบอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลังได้
ดังนั้นจึงต้องคุยแบบเรื่อย ๆ แล้วให้เขาได้มีเวลาคิดเป็นลำดับ ๆ ไปก่อน
อย่าเพิ่งไปรีบกดดันว่าจะต้องรีบตัดสินใจ หรือต้องรีบเซ็นชื่อในงานด่วนเดี๋ยวนี้
เดี๋ยวไม่ทัน ฯลฯ เหล่านี้จะทำให้เขาอึดอัด ท่านควรนัดหมายเขาไว้ล่วงหน้า
ทำตามขั้นตอนและกฎระเบียบเป็นหลัก ถ้าทำได้อย่างนี้คนพวก S เขาจะแฮปปี้กับท่านมากเลยแหละครับ
หากท่านต้องติดต่อกับคนสไตล์ C : คนสไตล์นี้จะคล้าย
ๆ กับคนสไตล์ D ตรงที่หากท่านจะพูดกับเขาก็จะต้องเข้าประเด็นที่สำคัญ
ๆ โดยเฉพาะในเรื่องงานเป็นหลักเลยว่าต้องการอะไร ผลสำเร็จเป็นอย่างไร แต่อย่าลืมเพิ่มเติมเรื่องของข้อมูลรายละเอียดเยอะๆ
หน่อย (เพราะคนพวก C จะมีความละเอียดมากกว่าพวก D ) ตลอดจนวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียอย่างละเอียดให้เขาด้วย
เป็นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนสไตล์ C แล้วปล่อยให้เขาได้ตัดสินใจจากข้อมูลหลักฐานที่มี
ส่วนคำพูดที่ว่า “ผมคิดว่า....” หรือ “ดิฉันคิดว่า.....” นั้นคนสไตล์ C จะไม่ค่อยชอบใจนักเพราะเขาไม่ชอบการใช้ความรู้สึกเข้ามาร่วมในการวิเคราะห์หรือตัดสินใจ
แต่เขาต้องการคำว่า “จากข้อมูล (หรือหลักฐาน) ที่มีอยู่ทำให้เชื่อได้ว่าสิ่งที่เราควรจะต้องทำคือ
1…2…3…4.......” มากกว่าครับ
เรามองตัวเอง
กับ คนอื่นมองเรา
คนเราบางครั้งอาจจะมองจากมุมของตัวเราออกไป
โดยลืมไปว่ายังมีอีกมุมหนึ่งที่ถูกมองโดยคนอื่นรอบข้างด้วยเช่นกัน เปรียบไปก็เหมือนกับการที่ถ้าเราลืมส่องกระจกเราก็อาจจะเข้าข้างตัวเองว่าตัวเราสมบูรณ์เพียบพร้อม
ทั้ง ๆ ที่เราอาจจะมีสิว ไฝ ฝ้า กระ ฯลฯ อยู่ที่ใบหน้าโดยที่เราไม่รู้
คราวนี้เราลองมาดูกันนะครับว่าในสไตล์ทั้งสี่นั้น
เมื่อเขามองดูตัวเองเขาคิดว่าเป็นยังไง และเขาจะถูกมองโดยผู้อื่นอย่างไร
ซึ่งเปรียบเสมือนมีด้านสว่างแล้วก็ย่อมจะมีด้านมืดเป็นของคู่กันดังนี้
คนสไตล์
D
มองตัวเอง
คนสไตล์ D เขาจะมองตัวเขาว่าเป็นคนที่ทำอะไรรวดเร็ว ตรงไปตรงมา ชัดเจน
กล้าคิดกล้าทำกล้าตัดสินใจ เขาจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และคิดว่าสิ่งที่เขาตัดสินใจทำไปนั้นถูกต้องเสมอ
เขามองว่าเขาเป็นคนรวดเร็ว และเป็นนักแก้ปัญหาตัวฉกาจ
ที่ไหนมีปัญหาต้องการการจัดการแบบเด็ดขาดแล้วล่ะก็เขาพร้อมเสมอ
คนอื่นมองคนสไตล์
D
คนอื่นรอบข้างจะมองคนสไตล์
D ว่าเป็นพวกเผด็จการ บ้าอำนาจ ดื้อรั้น ไม่ค่อยจะฟังใคร
หยิ่งผยอง ก้าวร้าว ทำอะไรบุ่มบ่าม ไม่คิดก่อนพูด (หรือก่อนทำ) ขาดความละเอียดรอบคอบ
ไม่เป็นนักวางแผนที่ดีเลย เอาแต่กำลังหรือเอาแต่อำนาจเป็นที่ตั้ง
คนสไตล์
I
มองตัวเอง
เขามองตัวเขาเองว่าเป็นคนที่เข้าใจผู้คน
เขาเป็นคนดีมีมนุษยสัมพันธ์กับทุก ๆ คน แคร์ความรู้สึกคน มองเห็นคุณค่าของคน
เขาเป็นคนเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นคนทุกคน เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ
พร้อมที่จะเข้าอกเข้าใจผู้คน จึงมักจะมีอารมณ์ที่ “อิน” ไปกับเรื่องราวของคนได้ง่าย
คนอื่นมองคนสไตล์
I
คนสไตล์ I มักจะถูกมองจากคนอื่นว่าเป็นคนที่โลเลไม่ชัดเจน ตัดสินใจก็ไม่เด็ดขาดมัวแต่ฟังคนโน้นคนนี้แล้วก็หลีกเลี่ยงการตัดสินใจเพราะกลัวว่าจะไปกระทบกระเทือนใจใครเขาเข้า
เป็นคนที่พูดมากกว่าทำ และไม่ตัดสินใจจัดการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงทั้ง ๆ
ที่อยู่ในวิสัยจะทำได้ก็ไม่ยอมทำ มัวแต่กลัวว่าถ้าทำอะไรไปก็จะทำให้คนอื่น ๆ เขามองว่าเราไม่ดีก็เลยไม่ค่อยกล้าจะทำอะไรขัดใจผู้คนรอบข้าง
คนสไตล์
S
มองตัวเอง
คนสไตล์ S จะมองตัวเองว่าเป็นคนทำอะไรถูกต้องเสมอ
เพราะตนเองทำตามขั้นตอน กฎระเบียบข้อบังคับ หรือทำตามหลักการหลักเกณฑ์ทุกอย่าง
เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นโอกาสผิดพลาดน้อยมากเพราะความที่เขาเป็นคนทำงานตามขั้นตอนที่ชัดเจน
และเขาก็ยังรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มหรือที่ประชุมอีกด้วย
เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ก็ตามเป็นสิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังรอบคอบ เขาคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนั้นมักจะเกิดปัญหาตามมาเสมอ
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือทำตามแบบอย่างที่เคยทำมาจะปลอดภัยที่สุด
คนอื่นมองคนสไตล์
S
คนอื่นจะมองคนสไตล์ S
ว่าเป็นคนที่มักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หลีกเลี่ยงความเสี่ยง
ไม่กล้าตัดสินใจอะไรที่อยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์ ไม่มีไอเดียอะไรใหม่ ๆ
หรือแม้แต่ถ้าหากลูกน้องมีไอเดียอะไรใหม่ ๆ มาเสนอก็จะถูกคนสไตล์ S เบรคก่อนเสมอว่า “พี่เคยทำมาก่อนแล้ว แต่ไม่เวิร์คหรอกเพราะ.......” หรือ “คุณใช้อะไรคิดโครงการนี้ขึ้นมา.......”
นานเข้าลูกน้องก็ไม่เสนออะไรอีกเพราะคนสไตล์
S จะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
คนสไตล์
C
มองตัวเอง
เขาจะมองตัวเองว่าเป็นคนละเอียดรอบคอบ
งานแต่ละชิ้นของเขามีการกลั่นกรองพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนแล้ว
เขามองผู้คนว่าต้องการการควบคุมอย่างใกล้ชิดเพราะคนมีแนวโน้มจะทำอะไรผิดพลาดได้ง่ายไม่ค่อยจะละเอียดรอบคอบเท่าที่ควร
เขาจึงต้องควบคุมลูกน้องอย่างใกล้ชิด
เขามองตัวเองว่าเป็นคนที่มีมาตรฐานการทำงานสูง ตัดสินใจชัดเจน
การตัดสินใจของเขาเป็นเรื่องถูกต้องที่สุด และผลงานของเขาเหนือกว่าคนอื่นเสมอ
คนอื่นมองคนสไตล์
C
คนอื่นจะมองคนสไตล์ C
ว่าเป็นพวกสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) หรือคุณชาย
(คุณหญิง) ละเอียด ลงลึกในรายละเอียดมากจนเกินไป ไม่ไว้ใจกันเลย
เป็นคนที่ชอบควบคุมทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องควบคุมใกล้ชิดถึงขนาดนั้น มีคำถามจุกจิกมากมายในรายละเอียดเยอะแยะไปหมด
ไม่มีงานทำหรือจึงต้องมาคอยดูแลการทำงานของคนอื่นจนอึดอัดกันไปหมด โดยเฉพาะใครก็ตามที่มีหัวหน้าเป็นคนสไตล์
C จะอึดอัดกับการที่ถูกสั่งให้ทำรายงานหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรายงานในรายละเอียดเยอะแยะไปหมดทั้ง
ๆ ที่งานประจำก็มากจนล้นทำแทบไม่ทันอยู่แล้ว
แล้วก็มาถึงตอนจบของซีรีส์ชุดนี้แล้วนะครับ
ผมเชื่อว่าท่านจะได้ข้อคิดจากเรื่องของ
D I S
C เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้
เพื่อให้ท่านได้เข้าใจถึงธรรมชาติและพื้นฐานของคนที่แตกต่างกันไปในแต่ละสไตล์
มากยิ่งขึ้น
และหาแนวทางในการปรับตัวของท่านให้เข้ากับคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้นต่อไปนะครับ.
................................................