มีคนถามคำถามหนึ่งผมมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วซึ่งผมก็คิดไว้ว่าจะเอามาเขียนเพื่อแชร์ประสบการณ์ให้กับทุกท่านได้อ่านกันเพื่อให้เป็นข้อคิดเตือนใจในการบริหารคน
แต่ด้วยความที่ยุ่ง
ๆ อยู่เมื่อตอนปลายปีก็เลยลืมเขียนไป
เพิ่งจะมานึกออกตอนนี้ก็เลยรีบเขียนเสียก่อนกลัวจะลืม
เรื่องก็มีอยู่ว่า....
มีพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง
(ผู้ถามอยู่ฝ่ายบัญชี) ถามมาว่าบริษัทประกาศให้วันที่ 26 ตุลาคม
2560 เป็น “วันหยุดพักร้อนพิเศษ”
ซึ่งประกาศนี้ออกมาโดยฝ่ายบุคคล
พนักงานก็หยุดไปตามประกาศดังกล่าว
หลังจากนั้นประมาณต้นเดือนธันวาคมบริษัทก็มีประกาศเพิ่มเติมออกมาอีกว่า
บริษัทจะนำวันหยุดพักร้อนพิเศษที่พนักงานหยุดไปมาหักออกจากสิทธิวันลาพักร้อนของพนักงานคนละ
1 วัน?!
ตัวอย่างเช่น
ถ้าพนักงานมีสิทธิวันลาพักร้อนเหลืออยู่ 3 วันก็จะถูกหักออกไป 1
วันเหลือ 2 วัน
แต่ถ้าพนักงานใช้สิทธิลาพักร้อนหมดไปแล้วบริษัทจะไปหักสิทธิในปีหน้าออก
1 วัน
ก็เลยถามผมมาว่าบริษัทสามารถทำแบบที่ว่ามานี้ได้หรือไม่?
ผมก็ไม่รู้ว่าเจ้าของไอเดียบรรเจิดในทางลบแบบที่คนจีนเรียกว่า
“เจี่ยป้า..บ่อสื่อ” เป็นผู้บริหารหรือเป็น HR กันแน่?
ผมมีความคิดเห็นกรณีนี้อย่างนี้ครับ
1.
วันลาพักร้อนที่เราพูดกันจนติดปากน่ะไม่ใช่วันลาเหมือนลาป่วย,
ลากิจ, ลาทำหมัน, ลาคลอด
อะไรพวกนั้นนะครับ แต่ที่ถูกต้องมันคือ “วันหยุดพักผ่อนประจำปี”
ซึ่งนายจ้างจะต้องเป็นผู้จัดให้ลูกจ้างได้หยุด (หรือนายจ้างและลูกจ้างตกลงร่วมกัน)
ตามกฎหมายแรงงานเมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปีจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า
6 วันทำงาน
2.
โดยข้อเท็จจริงแล้วทุกคนต่างก็รู้ดีว่าวันที่
26 ตุลาคม 2560 ไม่ใช่วันหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 1
แม้ว่าบริษัทจะประกาศว่าเป็นวันหยุดพักร้อนพิเศษก็ตาม ซึ่งถ้าจะให้ถูกต้องแล้วบริษัทควรประกาศเป็น
“วันหยุดกรณีพิเศษ” จะถูกต้องกว่า
การที่บริษัทจับเอาวันดังกล่าวมาปะปนกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
(แบบโมเมเอาเอง) จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม HR ไม่โต้แย้งและอธิบายให้ฝ่ายบริหารเข้าใจเรื่องนี้ก่อนที่จะมีประกาศออกมา
หรือ HR รู้แต่ไม่กล้าอธิบายให้นายฟังเพราะกลัวนายจะโกรธก็เลยทำไปตามสั่ง
ดังนั้นในกรณีนี้หากบริษัทจะยังนำวันที่
26
ตุลาคม 2560 ที่ประกาศไว้ว่าเป็นวันหยุดพักร้อนพิเศษแล้วจะนำไปหักออกจากสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานนั้นทำได้ไหม?
ก็ตอบว่า “ไม่ควรทำ”
เพราะการบริหารคนแบบจุกจิกคิดเล็กคิดน้อยกึ่งๆ ศรีธนญชัยกับพนักงานแบบนี้จะไม่ได้ทำให้พนักงานรู้สึกดีขึ้นกับฝ่ายบริหารและบริษัทเลยนะครับ
สู้เอาเวลาที่คิดเรื่องแบบนี้ไปคิดทำอะไรที่ดีกว่านี้จะดีไหม
หลักสำคัญเรื่องหนึ่งในการบริหารคนที่จะต้องมีคือ
“ใจเขา-ใจเรา” อย่าลืมคำ ๆ นี้นะครับ
จากบทเรียนเรื่องนี้ก็เลยอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังไว้เป็นอุทธาหรณ์ว่าในการบริหารคนนั้น
ถ้าจะมาคิดเล็กคิดน้อยแบบเสียน้อยเสียยาก..เสียมากเสียง่ายอย่างนี้ก็รังแต่จะทำให้พนักงานเสียความรู้สึกกับฝ่ายบริหารและกับบริษัทมากขึ้นอีกต่างหากและไม่ได้อะไรที่เป็นผลดีเลยสักอย่าง
ถามว่ากับการให้พนักงานได้หยุดในวันสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ
(รวมถึงคนไทยทุกแห่งในโลก) เพียงวันเดียวจะทำให้บริษัทขาดทุน ขาดรายได้ไปสักกี่บาทจนถึงกับจะต้องนำไปหักกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงาน
แล้วนโยบายแบบนี้จะทำให้บริษัทมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง?
สู้เอาเวลาไปคิดทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทและพนักงานที่มากกว่านี้จะดีไหมเอ่ย
ปิดท้ายด้วยคำรำพึงเบา ๆ ว่า....
“เจี่ยป้า..บ่อสื่อ” จริง..จิ๊งงงงง 555
……………………………………