ผมเห็นประกาศรับสมัครงานของบริษัทแห่งหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า
“รับสมัครพนักงานปฏิบัติการ
คุณวุฒิ : ปวส.(มีประสบการณ์ทำงาน
2
ปี) หรือจบปริญญาตรี”
คนที่เห็นประกาศรับสมัครงานแบบนี้แล้วอ่านผ่าน
ๆ ไปก็ดูเหมือนไม่มีอะไรเพราะเป็นประกาศรับสมัครงานตามปกติทั่วไป
แต่ผมอ่านประกาศแบบนี้แล้วในมุมของคนที่ต้องดูแลเรื่องระบบบริหารค่าตอบแทนให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมในองค์กรก็เลยมีคำถามชวนให้คิดดังนี้ครับ
1.
ในตำแหน่งงานนี้ (พนักงานปฏิบัติการ)
ถ้าหากจะรับคนที่จบปวส.และต้องมีประสบการณ์ทำงาน 2 ปี
คือประสบการณ์ด้านไหนเพราะการระบุไม่ชัดเจนแบบนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจรับคนเข้าทำงานของกรรมการสัมภาษณ์แถมยังจะทำให้เกิดดราม่าระหว่าง
HR กับ Line Manager ได้ง่าย ๆ นะครับ
2.
ถ้าผู้สมัครงานจบปริญญาตรีไม่ต้องมีประสบการณ์ทำงานหมายถึงคนที่จบปริญญาตรีมาใหม่เอี่ยมและยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อนก็สามารถทำงานในตำแหน่งพนักงานปฏิบัติการนี้ได้ใช่หรือไม่
3.
ถ้าบริษัทระบุสเป็คตามข้อ 1 และข้อ
2 (ผมสมมุติว่าประสบการณ์ทำงาน 2 ปีนั้นเป็นประสบการณ์ที่ตรงกับลักษณะงานในตำแหน่งนี้เลยก็ได้)
มันจะไม่ขัดแย้งในตัว Job นี้หรือครับ เพราะประสบการณ์ทำงาน 2
ปีที่ทำงานด้านปฏิบัติการมานั้นมันไม่เกี่ยวกับการเรียนจนจบปริญญาตรีเลยจริงไหมครับ
ดังนั้นถ้าคนจบปริญญาตรีมาใหม่เอี่ยมทำงานนี้ได้ ถามว่าคนที่จบปวส.มาใหม่จะทำงานนี้ได้เหมือนกันหรือเปล่า
ถ้าตอบว่าปวส.จบใหม่ทำไม่ได้ก็ต้องถามต่อว่าทำไมถึงทำไม่ได้ล่ะครับ
4.
การกำหนดเงินเดือนแรกรับในตำแหน่งนี้กำหนดตามคุณวุฒิหรือกำหนดตามตำแหน่งครับ
ถามว่าคนที่จบปวส.และมีประสบการณ์ทำงาน 2 ปีจะได้เงินเดือนเท่าไหร่
หรือคนที่จบปริญญาตรีมาใหม่และไม่มีประสบการณ์ทำงานจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ เช่น
สมมุติว่าบริษัทนี้กำหนดเงินเดือนตามตำแหน่ง (หรือเรียกว่ากำหนดตาม Job) ไว้ที่ 15,000 บาท
ดังนั้นไม่ว่าจะจบปวส.และมีประสบการณ์ทำงาน 2 ปีหรือจบปริญญาตรีมาใหม่ไม่มีประสบการณ์ทำงานก็จะต้องได้เงินเดือนเท่ากันคือ
15,000 บาท
5.
แต่ถ้าบริษัทแห่งนี้กำหนดเงินเดือนตามคุณวุฒิ
(ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นอย่างนี้ซะด้วย) เช่น ปวส.จบใหม่จะได้เงินเดือน 12,000 บาท ปริญญาตรีจบใหม่จะได้ 15,000 บาท
แล้วกรณีนี้คือจบปวส.แต่มีประสบการณ์ทำงาน 2 ปีบริษัทจะกำหนดเงินเดือนเท่าไหร่ครับ
ถ้าจบปวส.แต่ไม่มีประสบการณ์ทำงานหรือมีประสบการณ์ทำงาน 1 ปีบริษัทจะรับเข้าทำงานไหม
ถ้ารับเข้าทำงานจะตั้งเงินเดือนเท่าไหร่
6.
ถ้าสมมุติว่าบริษัทตั้งเงินเดือนคนจบปวส.มีประสบการณ์ทำงาน
2 ปีต่ำกว่าปริญญาตรีจบใหม่ บริษัทจะตอบคำถามคนที่จบปวส.ที่มีประสบการณ์ 2
ปียังไงดี เพราะคนที่จบปวส.และมีประสบการณ์ทำงาน 2 ปีคงจะถามแหละว่าทำไมเขาถึงได้เงินเดือนน้อยกว่าคนจบใหม่ปริญญาตรี
(แถมไม่มีประสบการณ์ทำงาน) เพราะสัจธรรมที่ว่าเงินเดือนของเราได้เท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่จริงไหมครับ
7.
แม้แต่การที่บริษัทกำหนดเงินเดือนตาม Job ในข้อ
4 นั้นสำหรับผมก็ยังมีคำถามต่อมาคือถ้าบริษัทรับคนที่จบปวส.แต่มีประสบการณ์ทำงานตรง
2 ปีเข้ามาทำงาน
กับคนที่จบปริญญาตรีมาใหม่ไม่มีประสบการณ์ทำงานน่ะ
บริษัทก็จะต้องมาเสียเวลาเสียงบประมาณในการฝึกอบรมหรือสอนงานคนที่จบปริญญาตรีมากกว่าคนที่จบปวส.แหง
ๆ ซึ่งถ้าเป็นอย่างงั้นทำไมไม่กำหนดสเป็คลงไปเลยล่ะว่ารับคนที่จบปวส.และมีประสบการณ์ทำงาน
2 ปี เพราะโดยสเป็คแบบนี้ก็ทำงานได้แล้วและบริษัทไม่ต้องมี Staff
Cost ที่เพิ่มขึ้นในการฝึกฝนคนที่จบปริญญาตรีแต่ไม่มีประสบการณ์ทำงานอีกด้วย
จากคำถามและข้อสังเกตที่ผมบอกมาข้างต้นทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่
HR
ที่ดูแลด้านค่าตอบแทนควรจะต้องมีหลักคิดและเป็นคนที่ต้องมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล
ฝึกตั้งคำถามกันตัวเองในเรื่องค่าตอบแทนที่จะจ่ายให้กับพนักงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยคิดถึงผลกระทบในแง่ความเสมอภาคและเป็นธรรมในภาพรวมของผู้คนในองค์กร
HR ควรจะต้องพูดคุยกับ
Line Manager ในแต่ละหน่วยงานในการกำหนดคุณสมบัติของตำแหน่งงานใน
JD (Job Description) ให้ชัดเจนและควรกำหนดอัตราเงินเดือนแรกรับเข้าทำงานให้สอดคล้องกับสเป็คของแต่ละตำแหน่งงานด้วยการตอบคำถามกับผู้บริหารและพนักงานได้อย่างมีเหตุผล
สามารถอธิบายให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าใจได้ว่าทำไมบริษัทถึงกำหนดเงินเดือนแรกรับไว้เท่ากันหรือต่างกัน
และกำหนดเงินเดือนแรกรับได้อย่างมีความเสมอภาคและเป็นธรรมตามหลักของการบริหารค่าตอบแทนที่ดี
สิ่งที่สำคัญคือทั้ง
HR และฝ่ายบริหารไม่ควรกำหนดเงินเดือนหรือค่าตอบแทนด้วยความรู้สึกหรือใช้อารมณ์ของฝ่ายบริหารแทนที่จะใช้เหตุใช้ผลและการคิดให้รอบคอบเสียก่อน
เพราะการทำแบบนั้นจะเป็นผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือจากคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือพนักงาน
และยังเป็นปัจจัยเร่งที่จะทำให้คนที่มีฝีมือในบริษัทของท่านตัดสินใจลาออกได้เร็วยิ่งขึ้นครับ
……………………………………….