ทุกวันนี้ผมเจอคำถามทำนองนี้จากคนที่ทำงานด้าน HR บ่อยเลยครับ....
“ผู้จัดการฝ่ายขายเสนอขอเลื่อนตำแหน่งลูกน้องจากพนักงานขายมาเป็นผู้จัดการแผนกไปที่
MD
(Managing Director-กรรมการผู้จัดการ) ทาง MD ถามความคิดเห็นมาที่
HR หนูควรจะทำยังไงดีคะ”
“หัวหน้าแผนกจัดซื้อให้ลูกน้องในแผนกทำโอทีได้เงินเยอะกว่าแผนกอื่น
ๆ แล้วเขาก็ต่อว่ามาทาง HR
เราควรทำยังไงดีครับ”
“พนักงานไปติดต่องานนอกบริษัทขอเบิกค่าแท็กซี่กลับบ้านหลังจากทำงานล่วงเวลาเสร็จแล้วควรจะให้ดีหรือไม่ครับ”
ฯลฯ
ถ้าดูตัวประโยคคำถามอาจจะแตกต่างกัน
แต่ถ้าดูตัวสาเหตุของปัญหาแล้วผมว่ามาจากสาเหตุเดียวกันเลยครับ
นั่นคือ..บริษัทที่เกิดปัญหาทำนองนี้ไม่มีระเบียบหรือมีกติกาที่ชัดเจนในแต่ละเรื่อง
!!
ประเทศชาติยังต้องมีกฎหมายเพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติกับผู้คนในชาติ
การแข่งขันกีฬาทุกประเภทก็ย่อมต้องมีกติกาในการแข่งขันที่ชัดเจนเพื่อไม่เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบซึ่งกันและกัน
แต่น่าแปลกที่ในหลายบริษัทยังไม่มีแม้แต่ระเบียบปฏิบัติในเรื่องที่สำคัญ
ๆ ที่ผู้คนในองค์กรจะได้ยึดหรือเป็นกติการ่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการทำงาน
เช่น....
1.
ระเบียบในการเลื่อนชั้น-เลื่อนตำแหน่งพนักงานที่บอกให้ชัดเจนว่าหลักในการพิจารณาเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งของบริษัทเป็นยังไง
ทำงานในตำแหน่งนั้นมาแล้วสักกี่ปี, มีผลการปฏิบัติงานย้อนหลังเกรดอะไร,
ต้องจบคุณวุฒิไหน, ต้องมีความสามารถในตำแหน่งที่จะเลื่อนไปเป็นอย่างไร,
เลื่อนไปแล้วจะต้องรักษาการในตำแหน่งก่อนหรือไม่,
ควรจะมีค่าตำแหน่งให้หรือไม่ถ้าจะให้แล้วเอาคืนได้ไหม ฯลฯ
2.
ระเบียบในเรื่องการทำงานล่วงเวลา
โดยบอกให้ชัดเจนว่าหลักในการทำงานล่วงเวลาของบริษัทคือยังไง,
ใครจะเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา, ขั้นตอนการขอทำงานล่วงเวลาเป็นยังไง,
อัตราการจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นยังไง, จะมีการให้ค่าแท๊กซี่หลังจากทำงานล่วงเวลาเสร็จแล้วหรือไม่
ฯลฯ
3.
ระเบียบที่เกี่ยวกับสวัสดิการต่าง ๆ
ของบริษัท เช่น
ตำแหน่งไหนบ้างที่จะได้รับโทรศัพท์มือถือหรือได้รับค่าโทรศัพท์มือถือ,
ได้รับค่าโทรศัพท์มือถือเดือนละเท่าไหร่,
หากถูกย้ายไปทำงานต่างภูมิลำเนาจะได้รับค่าเช่าบ้านหรือไม่ถ้าได้ค่าเช่าบ้านจะได้เดือนละเท่าไหร่,
จะต้องมีค่าขนย้ายด้วยหรือไม่เท่าไหร่,
จะได้รับค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปาด้วยหรือไม่ถ้าได้จะได้เดือนละเท่าไหร่,
วิธีการเบิกจ่ายเป็นอย่างไร, ค่าน้ำมันรถจะให้ตำแหน่งไหนบ้างจะให้เป็น Fleet Card หรือนำใบเสร็จมาเบิก, ตำแหน่งไหนจะได้รถประจำตำแหน่งหรือได้ Car
Allowance บ้าง
4.
ระเบียบที่เกี่ยวกับเรื่องการจ้าง,
อัตรากำลังทดแทน, การเกษียณอายุ
5.
ระเบียบอื่น ๆ ฯลฯ
ที่พูดมานี้ผมมักจะต้องถามกลับไปยังเจ้าของคำถามข้างต้นอยู่ทุกครั้งว่า
“แล้วระเบียบที่บริษัทของคุณเขียนเอาไว้ยังไงบ้าง”
ซึ่งหลาย ๆ
ครั้งคำตอบที่ได้รับกลับมาคือ “ยังไม่เคยมีระเบียบทำนองนี้” !?!
ก็เลยอยากจะชี้ให้คนที่จะต้องรับผิดชอบงานด้าน
HR ได้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นงานของ HR โดยตรงที่จะต้องสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนในบริษัทได้ใช้เป็นกติการ่วมกันและลดปัญหาในการทำงานร่วมกัน
ลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในองค์กรอีกด้วย
ถ้าบริษัทไหนยังไม่มีกติกาที่ชัดเจนมันก็จะเหมือนกับการเตะฟุตบอลโดยไม่มีกติกา
ใครจะเตะลูกฟุตบอล หรือใครไม่เตะก็อุ้มลูกฟุตบอลเข้าไปประตูอีกฝ่ายหนึ่ง
หรือระหว่างวิ่งอยู่ก็จะถูกอีกฝ่ายเตะสกัดแบบตรง ๆ หรือใครอยากจะดึงเสื้อฝ่ายตรงข้ามก็ดึง
ฯลฯ เพราะใครอยากจะทำอะไรก็ได้ มันก็จะอลหม่านกันทั้งสนาม มันก็เหมือนกับบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปนั่นแหละครับ
ลองกลับมาทบทวนดูนะครับว่าบริษัทของท่านมีกฎกติกาในเรื่องต่าง
ๆ ที่ชัดเจนแล้วหรือยัง
ถ้ายังไม่มีหรือยังมีไม่ครบก็คงได้เวลาที่จะต้องเริ่มต้นทำขึ้นมาแล้วล่ะครับ
……………………………………..