ท่านเคยเจอหัวหน้าประเภทนี้บ้างไหมครับ....
1.
หัวหน้าสายโหดอารมณ์ร้ายประเภทมีวาจาเป็นอาวุธ
มีดาวพุธเป็นวินาศ จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดัง
ลูกน้องทำดีไม่เคยจำ ทำพลาดไม่เคยลืม ฯลฯ
2.
หัวหน้าสายเสียด (สี) พูดจาดูถูก ชอบเสียดสี
ถากถาง
หรือชอบกลั่นแกล้งลูกน้องที่ตัวเองไม่ชอบหน้าก็เลยปฏิบัติกับลูกน้องเหมือนทาสในเรือนเบี้ยที่นายท่านจะทำยังไงกับลูกน้อง
ลูกน้องห้ามหือ
3.
หัวหน้าสาย (ลำ) เอียง ประเมินผลการปฏิบัติงานลูกน้องแบบไม่ยุติธรรม
เลือกปฏิบัติมีลูกรักและลูกชังสำหรับหัวหน้า
ใครที่เป็นลูกรักก็ได้เกรดสวยขึ้นเงินเดือนและได้โบนัสเยอะ
ได้รับการเสนอให้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเร็ว แต่ถ้าใครเป็นลูกชังล่ะก็ไม่ได้ผุดได้เกิดง่าย
ๆ หรอก หรือลูกรักมาสายได้หัวหน้าไม่ว่า
แต่ถ้าเป็นลูกชังมาสายล่ะโดนเฉ่งโดนใบเตือนแถมหักเงิน
4.
หัวหน้าสายนายทุนปล่อยเงินกู้คิดดอกเบี้ยกับลูกน้อง
หรือเป็นเจ้ามือหวยหรือรับซื้อหวยจากลูกน้อง
5.
หัวหน้าสายเฉื่อย ทำงานเพียงผ่านไปวัน ๆ
ลูกน้องจะพึ่งพาอาศัยจะถามอะไรตอบคำเดียวว่า “ไม่รู้” ไปจัดการกันเอาเอง ถ้ามีคำชมรับไว้แต่ถ้างานมีปัญหาลูกน้องก็รับไป
ทำตัวเป็นตรายางแค่เซ็นชื่อหรือทำงานแบบรักษาเก้าอี้เอาไว้เท่านั้น
6.
หัวหน้าสายนำเสนอ (หน้า) พอลูกน้องเสนอผลงานดีก็ไปนำเสนอ
สามารถพรีเซ็นต์ได้เก่งคล่องแคล่วดูน่าเชื่อถือแต่ที่จริงแล้วเป็นไอเดียของลูกน้องทั้งนั้นแหละ
พอได้รับคำชมก็รับไว้เต็ม ๆ แต่พองานผิดพลาดพร้อมจะโบ้ยว่าลูกน้องคนนั้นเป็นคนทำหรือเอาดีเข้าตัวเอาชั่วโยนลูกน้องนั่นแหละครับ
ฯลฯ
จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาผมมักจะพบว่า
เมื่อคนระดับหัวหน้าที่มีปัญหาตามตัวอย่างข้างต้นหัวหน้า (หรือผู้บริหาร)
ที่อยู่ระดับสูงขึ้นไปมักจะ “วางเฉย” กับปัญหาเหล่านี้ในแบบ “หลับตาข้างหนึ่ง” !!
ตราบใดที่หัวหน้าที่มีปัญหาเหล่านี้ยังทำผลงานให้ไม่มีปัญหาอะไร
หัวหน้าที่สูงขึ้นไปก็ยังไม่ว่ากล่าวตักเตือนอะไรทั้งนั้น
หรือจะเรียกว่าลอยตัวอยู่เหนือปัญหาก็ได้ครับ
ผลก็คือลูกน้องที่มีทางไปก็ขอย้ายไปหน่วยงานอื่น
หรือถ้าย้ายไม่ได้ก็ขอลาออก ซึ่งก็จะทำให้หน่วยงานนั้นมีอัตราการลาออกสูง ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ทำงานไปวัน
ๆ ตามที่หัวหน้าสั่งเพราะยังไม่มีทางไปแต่ถ้าหากมีทางไปเมื่อไหร่ก็ไม่ทนอยู่เหมือนกันแหละ
บางบริษัทก็หนักกว่านั้น
คือแทนที่จะให้หัวหน้าผู้บังคับบัญชาไปว่ากล่าวตักเตือนหัวหน้าที่มีปัญหาเหล่านี้ MD กลับสั่งให้ HR ไปตักเตือนหัวหน้างานเหล่านี้เสียอีก
ตกลงใครเป็นผู้บังคับบัญชาหัวหน้าที่มีปัญหาเหล่านี้กันแน่ครับ
?
ปัญหาเหล่านี้จะยังคงวนเวียนซ้ำซากอยู่อย่างนี้
ตราบใดที่ผู้บริหารระดับสูงยังไม่กล้าหรือไม่คิดจะจัดการอย่างจริงจัง
ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับ “ภาวะผู้นำ” ของผู้บริหารระดับสูงแหละครับ
ผมมักจะพบว่าถ้าองค์กรไหน
MD หรือ CEO อ่อนในเรื่องภาวะผู้นำ เป็นคนขี้เกรงใจ
ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือน ไม่กล้า Feedback ลูกน้องแล้วล่ะก็
ปัญหาเหล่านี้จะมีสะสมอยู่เยอะมาก ยิ่งนานวันยิ่งแก้ไขยาก
แต่ถ้าองค์กรไหนมี
MD หรือ CEO ที่มีทักษะในการบริหารงานบุคคลที่ดี
ก็จะพบว่าปัญหาเหล่านี้จะมีน้อยถึงน้อยมาก
เพราะองค์กรสะท้อนผู้นำยังไงล่ะครับ
ถึงตรงนี้เลยขอปิดท้ายว่า....
“ปัญหายังไม่น่ากลัวเท่ากับการไม่คิดแก้ปัญหา”
หรือจะบอกอีกอย่างหนึ่งว่า
ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ก็คือการไม่เริ่มคิดแก้ปัญหา
แล้วท่านที่เป็นหัวหน้าผู้บริหารในแต่ละระดับพร้อมที่จะเริ่มคิดแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างแล้วหรือยังครับ
?
……………………………