วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

หากไม่ผ่านทดลองงานจะถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดได้หรือไม่ ?

            วันนี้ผมมีคำถามมาทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับการทดลองงานและสัญญาจ้างกันดูนะครับว่าท่านยังคงเข้าใจในเรื่องนี้ตรงกันอยู่ไหม

            เรื่องราวที่เกิดขึ้นมีดังนี้ครับ....

          บริษัท A ทำสัญญาจ้างนายวิเศษเข้ามาเป็นพนักงานประจำ เริ่มงานวันที่ 1 มีนาคม มีระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน โดยในสัญญาระบุวันที่ครบกำหนดทดลองงานคือวันที่ 28 มิถุนายน และในสัญญาจ้างยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า “หากพนักงานมีผลการปฏิบัติงานในระหว่าทดลองงานไม่เป็นที่น่าพอใจให้ถือว่าสัญญาจ้างนี้สิ้นสุดในวันที่ 28 มิถุนายน โดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น หากพนักงานมีผลการปฏิบัติงานดีบริษัทจะพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานประจำต่อไป....”

ในระหว่างการทดลองงานนายวิเศษมีผลการปฏิบัติงานไม่ดี มาสายบ่อย หยุดงานบ่อย หัวหน้าของนายวิเศษก็เลยประเมินผลการปฏิบัติงานให้นายวิเศษไม่ผ่านการทดลองงาน แล้วเชิญนายวิเศษมาแจ้งผลเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนว่าไม่ผ่านทดลองงานและให้เขียนใบลาออกเพื่อจะได้ไม่เสียประวัติว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน

            นายวิเศษไม่ยอมเขียนใบลาออกโดยบอกหัวหน้าว่าถ้าบริษัทไม่ให้เขาผ่านทดลองงานบริษัทก็ทำหนังสือเลิกจ้างมาพร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้ามาซะดี ๆ

            คำถามก็คือ....

          มีคนมาแนะนำกับ HR ว่าในกรณีนี้บริษัทควรจะถือว่าเมื่อนายวิเศษมีผลงานไม่ดีในระหว่างการทดลองงาน ซึ่งในสัญญาจ้างก็ระบุระยะเวลาทดลองงานชัดเจนอยู่แล้วว่าระหว่าง 1 มีนาคม ถึง 28 มิถุนายน ดังนั้นจึงถือว่าสัญญาจ้างนายวิเศษเป็น “สัญญาจ้างที่มีระยะเวลา” เมื่อเป็นสัญญาจ้างที่มีระยะเวลา  พอครบระยะเวลาของสัญญาคือวันที่ 28 มิถุนายน นายวิเศษก็จะพ้นสภาพการเป็นพนักงานไปโดยอัตโนมัติตามสัญญาอยู่แล้วเพราะไม่ผ่านทดลองงานตามที่บริษัทประเมินและแจ้งผลให้ทราบไปก่อนหน้านี้

          ดังนั้น ในกรณีนี้บริษัทไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง นายวิเศษก็ไม่ต้องยื่นใบลาออก ถือว่าสัญญาจ้างนี้ครบอายุสัญญาแล้วโดยอัตโนมัติซึ่งบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น

            คำแนะนำนี้ถูกต้องไหมครับ ?

            ติ๊กต่อก....ติ๊กต่อก....ติ๊กต่อก......

            คำตอบก็คือ....

          ใครที่ตอบว่าคำแนะนำนี้ถูกต้อง....ก็แปลว่าท่าน “ตอบผิด” ครับ ;-)

          เพราะคำแนะนำที่ว่า....สัญญาจ้างนายวิเศษเป็นสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลานี่ก็ผิดแล้วนะครับ

            เหตุผลก็คือ....แม้ว่าบริษัทจะทำสัญญาจ้างนายนายวิเศษโดยกำหนดระยะเวลาทดลองงานเอาไว้ 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 28 มิถุนายน ดูคล้ายกับเป็นสัญญาจ้างที่มีระยะเวลาทดลองงานก็จริง

            แต่ความหมายของสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาก็คือ เมื่อครบระยะเวลาตามสัญญาแล้วลูกจ้างไม่ต้องเขียนใบลาออก, นายจ้างก็ไม่ต้องแจ้งเลิกจ้าง โดยวิธีปฏิบัติก็คือลูกจ้างจะต้องไม่มาทำงานให้กับนายจ้างอีกต่อไปซึ่งในกรณีนี้ก็คือวันที่ 29 มิถุนายน นายวิเศษไม่ต้องมาทำงานกับบริษัทนี้อีกไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านทดลองงานก็ตาม เพราะถือว่าการจ้างนี้จบไปโดยระยะเวลาตามสัญญาซึ่งบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างนี้ถึงจะถูกต้องครับ

            แต่ในกรณีนี้บริษัทก็ระบุเงื่อนไขไว้ในสัญญาจ้างอย่างชัดเจนว่าหากพนักงานทดลองงานทำงานดีก็จะบรรจุเป็นพนักงานประจำ แต่ถ้าพนักงานทดลองงานทำงานไม่ดีก็ไม่บรรจุ สัญญาจ้างแบบนี้ในทางกฎหมายแรงงานถือว่าเป็นสัญญาจ้างแบบ “ไม่มีระยะเวลา” คือเป็นสัญญาจ้างพนักงานประจำนั่นเอง

            ดังนั้น ในกรณีนี้ถ้าหากคุณวิเศษไม่ยอมเขียนใบลาออกบริษัทก็ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยถ้าหากคุณวิเศษมีอายุงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไปนับแต่วันที่เข้าทำงาน แต่ถ้าคุณวิเศษมีอายุงานยังไม่ครบ 120 วัน บริษัทก็คงจ่ายเพียงค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าชดเชยไม่ต้องจ่ายซึ่งท่านสามารถดูรายละเอียดได้ในมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานได้ครับ

            ว่าแต่..มีใครตอบคำถามนี้ได้ถูกต้องโดยเข้าใจหลักการตามที่ผมบอกมานี้แบบไม่ต้องเดาบ้างไหมครับ :-)


……………………………………..