ผมไปเห็นในเว็บไซด์หนึ่งทำผังรายได้ของคนจบปริญญาตรีดังนี้ครับ
เงินเดือน 15,000 บาท
ค่าเช่าที่พัก 3,000 บาท
ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า,
อินเตอร์เน็ต 1,500 บาท
ค่าเดินทาง 1,800 บาท
ค่าอาหาร (มื้อละ 40 บาท 3 มื้อx30 วัน) 3,600 บาท
ค่าโทรศัพท์มือถือ 500 บาท
ค่าของใช้ทั่วไป
(สบู่,แชมพู,ยาสีฟัน,เสื้อผ้า,เบ็ดเตล็ด ฯลฯ) 1,500 บาท
ค่าพักผ่อนหย่อนใจ,สังสรรค์กับเพื่อน 1,000 บาท
ค่าผ่อนเครื่องคอมพิวเตอร์ 1,000 บาท
รวมค่าใช้จ่าย 13,900 บาท
คงเหลือ ต่อเดือน 1,100 บาท
แล้วตบท้ายว่าเงินเดือนแค่เดือนละ
15,000 บาทจะไปพอกินได้ยังไง
!!??
เห็นอย่างนี้แล้วในฐานะของคนที่เคยทำงานกับผู้คน
และต้องดูแลเรื่องของค่าตอบแทนพนักงานมาหลายสิบปี
ซึ่งเคยเจอคำถามจากพนักงานทุกระดับในเรื่องทำนองนี้
ก็เลยอยากจะตอบคำถามข้างต้นดังนี้ครับ
ผมว่าการตั้งคำถามในทุกเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ
มีคำพูดหนึ่งบอกไว้ว่าถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครรู้เรื่องอะไรมากน้อยแค่ไหนก็ดูจากคำตอบของเขา
แต่ถ้าเราอยากจะรู้ว่าเขาฉลาดคิดไหมให้ดูจากคำถาม
ดังนั้น
ถ้าเราตั้งคำถามข้างต้นว่า “เงินเดือน ๆ ละ
15,000 บาทจะพอกินได้ยังไง”
ก็จะทำให้เราคิดแค่เพียงว่า “พอ” หรือ “ไม่พอ”
คิดอย่างนี้แล้วเราอยากจะทำงานต่อไปไหม
และเราจะมีความสุขกับการทำงานไหมล่ะครับ ?
เพราะถ้าเราตั้งคำถามอย่างนี้แน่นอนว่าเราจะไม่พอใจกับผู้บริหาร
ไม่พอใจที่บริษัททำไมถึงให้เงินเดือนเราน้อยแค่นี้เอง จะไปพอกินได้ยังไง
ทำไมบริษัทถึงเอาเปรียบเราอย่างนี้ ฯลฯ เพราะไม่มีบริษัทไหนที่จ่ายเงินเดือนให้ตามใจที่พนักงานอยากได้หรอกครับ
และบอกได้เลยว่าเรื่องของเงินเดือนน่ะ
“ให้เท่าไหร่ก็ไม่เคยถึงใจคนรับ” จริงไหมครับ ?
ในวันนี้เงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท
ก็ไม่ใช่ว่าจะน้อยเสียจนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ (ถ้าหากรู้จักการบริหารเงินให้เหมาะสม)
นะครับ เข้าทำนอง
“มีน้ำครึ่งแก้วเองจะพอกินเหรอ..หรือเรายังโชคดีนะที่มีน้ำอยู่ตั้งครึ่งแก้ว”
เราจะคิดแบบไหนนั่นแหละ ถ้าเราคิดในอีกด้านหนึ่งว่าดีเท่าไหร่แล้วที่เรายังได้ตั้ง
15,000 บาทคนอื่นรายได้น้อยกว่านี้ก็มีตั้งเยอะ
เรามัวแต่คาดหวังรายได้ในอนาคตจนลืมคิดไปว่าเราจะบริหารรายได้ที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันให้ดีแล้วหรือยัง
?
รายรับได้เท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับตัวเราจะควบคุมรายจ่ายยังไงต่างหาก
ถ้าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายไม่วางแผนการใช้จ่ายให้ดีแล้ว
ต่อให้เราได้เงินเดือนเป็นแสนก็ไม่พอหรอกครับ
ในเงินจำนวน
15,000 บาทต่อเดือนเท่ากัน
ถ้าเราเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า “เราจะเก็บเงินได้มากที่สุดเดือนเท่าไหร่” จะดีกว่าไหมครับ
?
เพราะเมื่อเราเปลี่ยนคำถามเสียใหม่แล้ว
เราก็จะมีไอเดียในการจัดการเงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาทที่เปลี่ยนไปจากเดิมดังนี้
1. ไหน ๆ
จะต้องจ่ายค่าที่พักเดือนละ 3,000 บาทอยู่แล้ว
เราลองหาที่พักที่อยู่ใกล้กับที่ทำงานในละแวกที่เดินไปถึงที่ทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางจะได้ไหมซึ่งก็จะทำให้เราไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางไปได้เดือนละ
1,800 บาท
หรือถ้าเราหาที่พักใกล้ที่ทำงานแล้วต้องจ่ายค่าเช่าแพงขึ้นเป็นเดือนละ 4,000
บาท เราก็ยังเก็บเงินค่าเดินทางที่ไม่ต้องจ่ายไปได้เดือนละ 800
บาทแน่ะ
2. ค่าโทรศัพท์มือถือเดือนละ 500
บาทนั้น
ลองเปรียบเทียบดูนะครับว่าในราคาต่อเดือนของผู้ให้บริการแต่ละรายนั้นก็ล้วนแต่มีโปรโมชั่นแข่งกันเยอะแยะ
ถ้าใช้ 3G เท่าที่จำเป็นเดือนละ 300 บาทก็มีครับ
อยู่ที่ว่าเราจะลดพฤติกรรมเสพติด 3G ลงได้บ้างหรือเปล่า อย่างนี้ก็จะลดลงได้เดือนละ
200 บาท
3. ค่าผ่อนเครื่องคอมพิวเตอร์
(ซึ่งอาจจะจำเป็นสำหรับการทำงานในบางตำแหน่ง) เดือนละ 1,000 บาท แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายชั่วคราว ส่วนมากก็มักจะผ่อน 10 เดือนไม่เสียดอกเบี้ย
ดังนั้นเพื่อครบกำหนดผ่อนชำระหมด เราก็จะมีเงินเก็บกลับมาอีกเดือนละ 1,000 บาท
จากเพียงแค่ 3 ข้อข้างต้นที่เราหันกลับมาทบทวนพฤติกรรมการออมของเราเสียใหม่
เราก็จะเก็บเงินเพิ่มได้เดือนละ 2,000-3,000
บาท แล้ว เมื่อรวมกับเงินคงเหลืออีก 1,100 บาท
ก็เป็นเงินเก็บเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,100-4,100 บาท
นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงถ้าเรากลับมาดูเรื่องค่าอาหาร ค่าพักผ่อนหย่อนใจ
และค่าของใช้ส่วนตัวประจำวัน
ที่บริหารให้เหมาะสมก็จะทำให้เรามีเงินเก็บแต่ละเดือนมากขึ้นอีก
มาถึงตรงนี้ผมจึงอยากสรุปตรงที่ว่าไม่ว่าเราจะมีรายได้เดือนละเท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับเรามีแผนในการออมเงินของเราเดือนละเท่าไหร่
แทนที่เราจะเอาแต่แบบมือขอหรือรอความหวัง (ที่เป็นไปได้ยาก) จากคนอื่น
เราหันกลับมาปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีขึ้นไม่ดีกว่าหรือครับ
เพราะถ้าเราคิดแต่เพียงว่าจะหาทางเรียกร้องหรือทำยังไงให้นายจ้างหรือบริษัทเพิ่มเงินเดือนเราให้มากขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อย
ๆ โดยไม่หันกลับมาทบทวนพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองให้เหมาะสมแล้ว
ต่อให้มีรายได้เดือนละเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอสำหรับคนที่ไม่คิดที่จะสร้างวินัยในการออมให้กับตัวเองหรอกครับ
………………………………….