วันนี้ผมมีเรื่องน่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกับท่านอีกแล้วครับ
เรื่องของสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวที่ผมเคยแลกเปลี่ยนกับท่านไปหลายครั้งแล้วนั่นแหละ!
แต่สำหรับครั้งนี้ผมนำเอามาแชร์กับท่านเพื่ออยากจะทบทวนว่าเราเข้าใจเรื่องทำนองนี้ตรงกันหรือไม่
เพื่อที่จะได้นำไปเป็นหลักคิดเพื่อให้มีการปฏิบัติในเรื่องการจ้างงานที่ถูกต้อง และจะได้รู้ว่าอะไรที่ยังไม่ถูกต้องยังไงล่ะครับ
เรื่องของเรื่องก็คือ....
บริษัท PQR เป็นธุรกิจโรงแรมทำสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวมาตั้งแต่ปี
2553 โดยจ้างเข้ามาทำงานเกี่ยวกับการจัดโปรโมชั่นในการขายห้องพักซึ่งมีลักษณะงานเหมือนกับพนักงานประจำทั่วไปที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน
สัญญาจ้างที่ทำก็เป็นแบบปีต่อปีอัตราเงินเดือน ๆ ละ 20,000 บาท
ในสัญญาระบุว่าบริษัทจะพิจารณาการต่อสัญญาจากผลงานในปีที่ผ่านมา
ถ้าปีที่ผ่านมามีผลงานที่น่าพอใจบริษัทก็จะต่อสัญญาจ้างไปอีก 1
ปี แต่บริษัทสงวนสิทธิไว้ว่าถ้าผลการปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมาไม่เป็นที่น่าพอใจบริษัทก็จะไม่ต่อสัญญาโดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด
ๆ ให้กับพนักงาน
ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็ทำงานและได้ต่อสัญญามาจนถึงปัจจุบัน
ปัญหามาเกิดตรงที่ว่าในตอนนี้บริษัทมีปัญญาทางด้านการเงิน
ก็เลยขอให้พนักงานชั่วคราวลดเงินเดือนลงจากจากเดิมโดยอ้างว่าถ้าไม่ได้รับความร่วมมือบริษัทก็อาจจะต้องปิดบริษัท
บริษัทก็เลยทำสัญญาออกมาฉบับหนึ่งมีใจความทำนองที่ว่าพนักงานยินดีที่จะลดเงินเดือนลงแล้วให้พนักงานเซ็นชื่อในสัญญาดังกล่าว
คำถามก็คือ....
1.
บริษัทสามารถลดเงินเดือนพนักงานชั่วคราวได้หรือไม่ และ….
2.
ถ้าพนักงานไม่เซ็นสัญญาลดเงินเดือนตัวเองจะได้ไหม ?
เอาล่ะครับ..ท่านที่เคยอ่านเรื่องทำนองนี้ที่ผมเคยแชร์ไปแล้วจะตอบได้ไหมครับ
?
คำตอบก็คือ....
1.
บริษัทจะลดเงินเดือนพนักงาน (ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือชั่วคราว)
ได้ครับ ถ้า....(มีคำว่า"ถ้า”) พนักงานคนนั้น ๆ เซ็นยินยอมให้บริษัทลดเงินเดือนของตัวเองลง
แต่ถ้าพนักงานไม่เซ็นยินยอม อยู่ดี ๆ บริษัทจะมาลดเงินเดือนลงไม่ได้ครับ
เพราะผิดกฎหมายแรงงานแหงแซะ
2.
คำถามว่า “แล้วไม่เซ็นสัญญาลดเงินเดือนของตัวเองจะได้ไหม”
ก็ต้องกลับไปดูข้อ1แล้วล่ะครับว่าเราอยากจะลดเงินเดือนตัวของเราหรือไม่ล่ะ
ถ้าไม่อยากให้เงินเดือนของเราลดลงก็อย่าไปเซ็น
แต่ถ้าเซ็นก็แปลว่าเรายอมที่จะลดเงินเดือนของเราลงไปเองจะไปโทษใครล่ะครับ
ดังนั้นก่อนจะเซ็นอะไรก็ต้องคิดให้ดี ๆ ว่าควรจะเซ็นดีหรือไม่
ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรานั่นเองครับ
จากเรื่องนี้ผมเชื่อว่าท่านที่เคยอ่านเรื่องทำนองนี้ไปแล้วจะต้องมีความเห็นเพิ่มเติมอีกดังนี้คือ
1.
แม้บริษัท PQR จะอ้างว่าสัญญาจ้างแบบปีต่อปีเป็นสัญญาจ้างแบบ
“สัญญาจ้างที่มีระยะเวลา”
คือมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างที่ชัดเจนในสัญญาก็ตาม แต่สัญญาจ้างที่มีลักษณะข้างต้นนี้
เมื่อไปถึงศาลแรงงานก็เชื่อได้เลยว่าศาลท่านจะต้องวินิจฉัยว่าเป็น
“สัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา” ซึ่งก็หมายถึงเป็นสัญญาจ้างลูกจ้างประจำนั่นเอง
เพราะสัญญาทำนองนี้เป็นสัญญาที่ศาลท่านเคยพิพากษาว่านายจ้างเจตนาจะหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้กับลูกจ้างเมื่อนายจ้างต้องการเลิกจ้างลูกจ้างน่ะสิครับ
2.
จากผลที่ผมอธิบายตามข้อ 1 ดังนั้นแม้บริษัทจะอ้างว่าพนักงานที่จ้างเป็น
“ลูกจ้างชั่วคราว” ก็จริง แต่ในทางกฎหมายแรงงานถือว่าเป็น “ลูกจ้าง”
(หรือจะเรียกภาษาคนทำงานว่าลูกจ้างประจำหรือพนักงานประจำก็ได้ครับ)
แล้วโดยจะนับอายุงานตั้งแต่วันเข้าทำงานวันแรกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรณีข้างต้นพนักงานคนนี้ก็มีสภาพเป็นพนักงานประจำมาตั้งแต่วันเริ่มงานในปี
2553 แล้วแหละครับ
ซึ่งจะต้องได้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนพนักงานประจำอื่น ๆ อีกด้วย
3.
ในกรณีนี้ ถ้าหากพนักงานคนนี้ไม่ยอมเซ็นชื่อลดเงินเดือนตัวเองลง
และบริษัทจะเลิกจ้างบริษัทก็
จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน
(ไปดูในกฎหมายแรงงานนะครับว่าทำงานมากี่ปีนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่าไหร่)
รวมถึงต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับพนักงานคนนี้อีกด้วย จะมาโมเมไม่จ่ายค่าชดเชยโดยอ้างว่าเป็นพนักงานชั่วคราวไม่ได้
ซึ่งค่าชดเชยนี้จะคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณจำนวนวันตามอายุงานตามมาตรา 118
ดังนั้นสมมุติว่าถ้าท่านไปเซ็นยินยอมลดเงินเดือนตัวเองลงในวันนี้แล้วอีก
3 เดือนข้างหน้าบริษัทหาเหตุเลิกจ้าง
บริษัทก็จะจ่ายค่าชดเชยโดยคิดฐานค่าจ้างจากเงินเดือนใหม่ที่ลดลงไปจากเดิมซึ่งลูกจ้างก็จะเสียประโยชน์เพราะจะได้ค่าชดเชยลดลงครับ
ดังนั้นจึงต้องคิดให้ดี ๆ ในเรื่องนี้
ผมพูดมาถึงตรงนี้ก็คงขึ้นอยู่กับเจ้าของคำถามนี้แล้วว่า
“ตกลงท่านจะเซ็นยินยอมลดเงินเดือนตัวเองดีหรือไม่” ล่ะครับ
…………………………………