วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัท..จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ ?


            แทบทุกบริษัทมักจะมีกฎระเบียบไว้ในทำนองเดียวกันว่า “หากพนักงานจะลาออกจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันเพื่อให้บริษัทอนุมัติการลาออกเสียก่อน”

            ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็มักจะทำตามระเบียบเพราะเมื่อจะลาออกแล้วก็อยากจะจากกันด้วยดีไม่มีปัญหาต่อกัน เพราะวันหน้าวันหลังอาจจะมีโอกาสได้มาทำงานกันอีกก็ได้

            แต่จะมีพนักงานบางคนที่ไม่ทำตามระเบียบซึ่งก็อาจจะด้วยหลาย ๆ สาเหตุ เช่น ได้งานที่ใหม่กระทันหันเขาต้องการให้ไปทำงานด้วยอย่างเร่งด่วน, มีปัญหากับหัวหน้าจนไม่อยากมองหน้ากันอีกต่อไป ฯลฯ ก็เลยยื่นใบลาออกวันนี้แล้วระบุวันที่มีผลคือวันรุ่งขึ้นโดยไม่รอให้บริษัทอนุมัติตามระเบียบ

          ซึ่งมักจะมีคำถามอยู่เสมอ ๆ ว่า ถ้าพนักงานทำอย่างนี้จะได้หรือไม่ ?

            ท่านที่ติดตามข้อเขียนของผมเป็นประจำคงทราบคำตอบนะครับว่า “ทำได้” แต่สมควรจะทำอย่างนี้หรือไม่ นี่ก็คงต้องคิดอีกครั้งหนึ่งให้ดี ๆ นะครับ

          เพราะการที่ลูกจ้างยื่นใบลาออกแล้วระบุวันที่มีผลไว้เมื่อใด  ก็ถือว่าลูกจ้างแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือแล้วตามกฎหมายแรงงานครับ ไม่ต้องให้ใครมาอนุมัติการลาออก

            แต่การทำอย่างนี้หลายครั้งก็อาจจะทำให้บริษัทเกิดปัญหา เช่น ยังหาคนมาทำแทนไม่ทันหรือไม่มีการส่งมอบงานให้พนักงานที่จะมาทำแทน, พนักงานที่ลาออกเก็บงานที่สำคัญ ๆ ไว้กับตัวไม่เคยบอกใครเมื่อลาออกกระทันหันก็ไม่มีใครมาทำแทนได้ทำให้งานชะงักหรือเกิดปัญหา ฯลฯ

          จึงมีคำถามจากทางฝั่งบริษัทว่า “ถ้าพนักงานที่ลาออกแล้วไม่ทำตามกฎระเบียบของบริษัทอย่างนี้แล้ว บริษัทจะสามารถฟ้องร้องพนักงานว่าทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัทได้หรือไม่ ?”

ก็ตอบว่า “ได้”

แต่บริษัทก็ต้องพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นว่าความเสียหายที่เกิดจากการลาออกของพนักงานที่ไม่ทำตามกฎระเบียบของบริษัทนั้น มีความเสียหายยังไงโดยต้องเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เช่น ผลจากการลาออกของพนักงานที่ไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันนั้น ทำให้ส่งสินค้าให้ลูกค้าไม่ทันแล้วถูกลูกค้าฟ้องร้องเป็นเงิน.....บาท หรือผลจากการที่พนักงานไม่ลาออกตามระเบียบทำให้งานที่พนักงานต้องรับผิดชอบในสายการผลิตเสียหายเป็นเงิน.....บาท เนื่องจากไม่มีคนควบคุมดูแลซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการลาออกไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของบริษัท

            พูดง่าย ๆ ว่าต้องพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นได้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนครับ

            แต่อย่าลืมว่าเมื่อนายจ้างฟ้องลูกจ้างแล้วไม่ได้หมายความว่าไปฟ้องที่ศาลแรงงานเพียงครั้งเดียวแล้วจบนะครับ ก็คงจะต้องขึ้น ๆ ลง ๆ ศาลกันอีกหลายยกกว่าจะมีคำพิพากษาออกมา ก็ต้องถามใจนายจ้างว่าพร้อมจะเสียเวลาขึ้นศาลไหมล่ะครับ

            ดังนั้น ในกรณีทำนองนี้จึงมักจะพบว่าบริษัทไม่ค่อยจะฟ้องพนักงานที่ลาออกไปแบบผิดกฎระเบียบแม้ว่าจะทำให้บริษัทเกิดความเสียหายที่พิสูจน์ความเสียหายเป็นตัวเงินได้ก็ตาม เพราะไม่อยากจะเสียเวลาน่ะครับ

            แต่ถ้าพนักงานคนไหนที่ลาออกไปแบบขาดความรับผิดชอบอย่างนี้ บริษัทก็มักจะเก็บไว้ให้เป็นข้อมูลกับฝ่ายบุคคลหรือบริษัทแห่งใหม่ที่พนักงานคนนี้ไปทำงานด้วยว่ามีพฤติกรรมในตอนที่เป็นพนักงานในบริษัทเดิมเป็นอย่างไรในเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งก็คงจะมีผลกับการพิจารณารับหรือไม่รับพนักงานรายนี้บ้างแหละครับ

            ในความเห็นของผม ผมว่าจากกันด้วยดีจะดีกว่านะครับ ทำให้ถูกต้องตามระเบียบเพราะแม้จะลาออกจากกันไปแล้ว  แต่วันหน้าวันหลังมาเจอหน้ากันจะได้มองหน้าพูดจากันได้สนิทใจไม่ดีกว่าหรือครับ

            ส่วนบริษัทที่เขี้ยว ๆ บางแห่งที่ถือโอกาส “มั่วนิ่ม” ไปหักเงินเดือน ๆ สุดท้ายของพนักงานโดยอ้างว่าหักเงินเดือนเพราะทำให้บริษัทเสียหาย เช่น บริษัทจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือน พนักงานยื่นใบลาออกวันที่ 10 มีนาคม มีผลวันที่ 11 มีนาคม บริษัทก็เลยไม่จ่ายเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1-10 มีนาคม โดยอ้างว่าเพราะพนักงานไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบทำให้บริษัทเสียหายก็เลยไม่จ่ายเงินเดือนสุดท้าย 10 วันดังกล่าว

            ทำอย่างนี้ไม่ได้นะครับ ทำอย่างนี้เมื่อไหร่ล่ะก็ถ้าพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานบริษัทแพ้คดีแน่นอน !!

            เพราะลูกจ้างทำงานถึงเมื่อไหร่นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้ถึงวันสุดท้ายที่ลูกจ้างทำงานให้ โดยห้ามนายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างตามมาตรา 76 ของกฎหมายแรงงาน (เข้ากูเกิ้ลแล้วพิมพ์ “กฎหมายแรงงาน” ดูนะครับ)

            อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านคงเข้าใจเรื่องเหล่านี้ชัดเจนขึ้นและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องกันแล้วนะครับ

……………………………….