วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

เบี้ยขยันเป็นค่าจ้างหรือไม่ ?

            วันนี้มีคำถามเข้ามาถึงผมในเรื่องของค่าจ้างเพิ่มเติมคือ
          เบี้ยขยันถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ ?
            ผมคงต้องขอยกเอาความหมายของ “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานมาเพื่อความเข้าใจกันในที่นี้อีกครั้งดังนี้
ค่าจ้าง”  หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
            จากนิยามค่าจ้างข้างต้น “เบี้ยขยัน” จะเข้าข่ายค่าจ้างหรือไม่ ก็ต้องมาดูในข้อเท็จจริงสิครับว่าเบี้ยขยันของบริษัทของท่านมีวิธีการจ่ายกันอยู่ยังไง
            เช่น ถ้าผู้บริหารเห็นว่าหมู่นี้พนักงานมาสาย เริ่มขี้เกียจ ทำงานไม่ค่อยจะเสร็จตามเป้าหมายก็เลยให้มีการจ่ายเบี้ยขยันให้กับพนักงานโดยมีเงื่อนไขของการจ่ายว่า บริษัทจะจ่ายเบี้ยขยันให้กับพนักงานที่ไม่เคยมาทำงานสาย ขาดงาน ลางาน เกินกี่วัน ถ้าป่วย สาย ลา ขาดงาน ตั้งแต่กี่วันจะได้รับค่าเบี้ยขยันกี่บาท จนกระทั่งถ้าเกินกำหนดก็จะไม่ได้รับเบี้ยขยัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยสรุปก็เพื่อต้องการจูงใจให้พนักงานมาทำงานโดยไม่ขาดงานนั่นแหละครับ (แต่ผมก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าถ้าผู้บริหารคิดและทำแบบนี้ก็แปลกลับได้ว่าถ้าบริษัทไม่จ่ายค่าเบี้ยขยันเมื่อไหร่ พนักงานก็จะ “ขี้เกียจ” ทำงาน บริษัทถึงต้องให้เบี้ยขยันทุกคนถึงจะขยันมาทำงานหรือครับ ?)
            ซึ่งถ้าหากบริษัทจ่ายเบี้ยขยันในลักษณะที่มีเงื่อนไขเพื่อสร้างแรงจูงใจแบบนี้แล้ว ได้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาดังนี้
          “เบี้ยขยันที่นายจ้างนำมาจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยขยันต้องเป็นผู้ไม่ขาดงาน ไม่ลางาน ไม่มาทำงานสาย นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างต่างหากจากค่าจ้างปกติ เป็นเงินค่าตอบแทนความขยัน มิใช่ค่าจ้าง” (ฎ.9313-9976/2547)
            สรุปได้ว่าถ้ามีการจ่ายค่าเบี้ยขยันโดยมีเงื่อนไขระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นแล้ว เบี้ยขยันจะไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างครับ
            ยังไงก็ตาม ผมฝากข้อคิดไว้บางประเด็นก็คือในบางบริษัทมีการจ่ายเบี้ยขยันแบบเท่ากันทุกเดือนโดยไม่ได้มีเงื่อนไขทำนองเดียวกับที่บอกไว้ข้างต้น คือจ่ายเบี้ยขยันแบบเหมาจ่ายแบบไม่มีเงื่อนไขแล้วล่ะก็ กรณีนี้เมื่อเป็นคดีไปสู่ศาลแรงงานแล้วก็น่าคิดเหมือนกันนะครับว่าเบี้ยขยันทำนองนี้ยังไม่ใช่ค่าจ้างอยู่หรือไม่ เพราะในที่สุดศาลท่านก็ต้องดูเจตนาในการจ่ายของนายจ้างเป็นหลักว่าเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจ หรือเป็นการจ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า “ค่าจ้าง” กันแน่
เพราะบางบริษัทก็มีการจ่ายค่าจ้างที่ต่ำมากจนเกินไปก็เลยมีนโยบายการจ่ายเบี้ยขยันเพื่อนำมาชดเชยการจ่ายค่าจ้างที่ต่ำ เพื่อต้องการจะหลีกเลี่ยงไม่นำเบี้ยขยันเข้ามารวมในฐานของค่าจ้างประจำเพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนบุคลากรที่จะต้องคำนวณจากฐานค่าจ้าง เช่น โบนัส, ค่าล่วงเวลา, เงินสมทบประกันสังคม, เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้แล้วล่ะหลีกเลี่ยงยากนะครับ
ฝากไว้ให้เป็นข้อคิดปิดท้ายสำหรับเรื่องนี้นะครับ

....................................