ตามกฎหมายแรงงานมาตรา
30 บอกเอาไว้ว่า “เมื่อลูกจ้างทำงานมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า
6 วันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้กับลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน...”
สังเกตที่ผมขีดเส้นใต้ไว้มีอยู่
3 เรื่องคือ ปีหนึ่งต้องให้ลูกจ้างหยุดพักร้อนปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 6 วันทำงาน
โดยให้บริษัทเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าหรือบริษัทกับพนักงานอาจจะตกลงกันเรื่องวันหยุดพักร้อนก็ได้
จากตรงนี้จึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับวันหยุดพักร้อนพอสรุปได้ดังนี้
1.
หากพนักงานที่ทำงานสัปดาห์ละ 2-3 วัน ไม่ได้ทำงานสัปดาห์ละ 5
หรือ 6 วันเหมือนพนักงานคนอื่น ๆ
จะมีสิทธิได้วันหยุดพักร้อนหรือไม่ เพราะบางบริษัทอาจจะมีการจ้างพนักงานชั่วคราวเข้ามาทำงานแบบลูกจ้างชั่วคราวโดยทำงานสัปดาห์ละ
2-3 วัน
2.
ถ้าบริษัทกำหนดวันหยุดพักร้อนเอาไว้ให้พนักงานแล้ว
แต่พนักงานไม่ใช้สิทธิหยุด
บริษัทจะต้องจ่ายเงินให้กับพนักงานตามจำนวนวันพักร้อนที่พนักงานไม่ได้ใช้สิทธิหรือไม่
3.
ถ้าบริษัทไม่ได้จัดวันหยุดพักร้อนให้พนักงาน
และพนักงานก็ไม่ได้แสดงความจำนงว่าจะขอลาหยุดพักร้อน
บริษัทจะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนให้พนักงานอีกหรือไม่
จากปัญหาดังกล่าว
ผมเลยไปค้นคำพิพากษาศาลฎีกามาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นแนวทางสำหรับท่านที่มีคำถามข้างต้นดังนี้ครับ
ตอบข้อ
1. จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่
ฎ.1902/2523 “....แม้ตามสภาพการทำงาน
นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานสัปดาห์ละ 2 ถึง 3 วัน แต่ไม่มีกฎหมายยกเว้นว่าลูกจ้างที่ทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 3 วันจะไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างเป้นเวลา 3
ปีโดยนายจ้างไม่ได้กำหนดให้หยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ปีละ 6 วัน รวม 18 วัน....”
ตอบข้อ
2. จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่
ฎ.2816-2822/2529 “....ถ้านายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แล้ว
ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิหยุด ถือว่าลูกจ้างสละสิทธิ...ถือได้ว่านายจ้างได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 แล้ว
เมื่อลูกจ้างไม่ยอมหยุดตามที่นายจ้างกำหนด นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง”
ตอบข้อ
3. กรณีนี้มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย
ๆ คือหลายบริษัทมักจะมีระเบียบเรื่องการลาพักร้อนโดยให้พนักงานเป็นผู้แสดงความประสงค์จะใช้สิทธิโดยขอลาพักร้อนมาที่หัวหน้างาน
ถ้าหัวหน้างานเข้าใจเรื่องนี้และอนุมัติให้หยุดไปตามสิทธิของลูกน้องก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ
แต่คราวนี้มันอาจจะเกิดกรณีที่ว่าถ้าหากพนักงานไม่ยื่นใบลาพักร้อนในปีใด
แล้วบริษัทจะไปบอกว่าก็พนักงานไม่ยื่นใบลาพักร้อนมาเองก็แสดงว่าพนักงานไม่ประสงค์จะใช้สิทธิหยุดพักร้อนก็หมายถึงพนักงานสละสิทธิในวันลาพักร้อน
แล้วบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายเงินอะไรให้อีก
ถ้าคิดแบบเร็ว ๆ อาจจะเป็นอย่างนั้น
แต่ผมอยากให้ท่านลองไปดูมาตรา 64 ของกฎหมายแรงงานดังนี้คือ
“ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน
หรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐
ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา
๖๒ และมาตรา ๖๓ เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด”
แปลความก็คือ
ถึงแม้พนักงานไม่ยื่นใบลาพักร้อนหัวหน้างานก็ควรจะกำหนดวันหยุดพักร้อนให้กับลูกน้องตัวเองให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานครับ
แต่ถ้าหัวหน้างาน
(หรือบริษัท) กำหนดวันหยุดพักร้อนให้พนักงานแล้ว พนักงานไม่หยุดเอง
อย่างนี้จึงจะถือว่าพนักงานสละสิทธิวันหยุดพักร้อน
บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนครับ
ลองดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่
ฎ.8661/2547
“....ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 30 วัน โดยถือตามปีปฏิทิน พนักงานสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ และไม่ปรากฎว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างได้หยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปีของแต่ละปีที่ลูกจ้างทำงานกับนายจ้าง
แสดงว่านายจ้างมิได้ปฏิบัติตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
มาตรา 30 ....เมื่อลูกจ้างมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ
นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 64”
จากแนวคำพิพากษานี้คงจะทำให้ท่านทราบวิธีปฏิบัติในเรื่องวันหยุดพักร้อนได้อย่างถูกต้องกันแล้วนะครับ
………………………………….