ในตอนที่แล้วผมได้พูดถึงปัจจัยที่จะมีอิทธิพลในการไล่คนที่จบมาให้เพิ่งเข้าทำงานกับองค์กรของท่านแล้วก็ต้องลาออกไปในที่สุด
3 ปัจจัยแล้ว
ในตอนนี้เรามาว่ากันถึงปัจจัยที่เหลือดังนี้ครับ
4.
เพื่อนร่วมงาน
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องการเพื่อนฝูง
แต่พอเข้ามาทำงานกลับพบกับการต้อนรับจากเพื่อนร่วมงานที่มองด้วยสายตาเย็นชา
หรือมองเห็นน้องใหม่เป็นถังขยะคือเพื่อนที่ทำงานอยู่มาก่อนก็โยนงานที่ตัวเองไม่อยากทำมาใส่ให้น้องใหม่รับไปเต็ม
ๆ เรียกว่ามีการรับน้องใหม่จากเพื่อนร่วมงานเสียน่วม แถมยังขาดระบบการสอนงานที่ดีที่ผมพูดไปในคราวที่แล้วเสียอีก
ยิ่งเป็นปัจจัยช่วยทำให้น้องใหม่ตัดสินใจลาออกเร็วขึ้นอีก
5. สภาพแวดล้อมในการทำงาน
หลายบริษัทปล่อยให้บรรยากาศสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่สะอาดตา
และขาดสภาพที่เหมาะสมในการทำงาน เช่น
มีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานวางระเกะระกะ, มีกล่องวางเกะกะ,
ที่ทำงานสกปรกรกเลอะเทอะไม่เป็นระเบียบ ฯลฯ
ซึ่งพนักงานเดิมที่ทำงานอยู่อาจจะเคยชินกับสภาพบรรยากาศในการทำงานแบบนั้น
แต่พนักงานจบใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาทำงานในวันแรกเขาย่อมจะแปลกสถานที่และจะเห็นสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ได้ด้วยความอึดอัดใจ
พร้อมทั้งเขาคงจะต้องประเมินตัวเองไปด้วยเลยว่าเขาจะอยู่ในสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าสภาพแวดล้อมในการทำงานเหลือจะทนเขาก็คงต้องบ๊ายบายจริงไหมครับ
วันนี้ท่านเข้ามาทำงานโดยมองสถานที่ทำงานแบบคนเพิ่งเข้ามาทำงานวันแรกบ้างหรือไม่ล่ะครับ
จะได้เกิดไอเดียที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันเพื่อรักษาน้องใหม่เอาไว้และเพื่อให้คุณภาพชีวิตในการทำงานของท่านดีขึ้นด้วยยังไงล่ะครับ
6. เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานไม่พอเพียง
โดยทั่วไปแล้วบริษัทควรจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานให้พร้อมสำหรับพนักงานใหม่
เช่น โต๊ะ, เก้าอี้, เครื่องเขียน, คอมพิวเตอร์ (ถ้าจำเป็นต้องใช้ในงาน) ฯลฯ แต่หลายครั้งก็จะพบว่าบริษัทไม่ได้เตรียมอะไรให้กับพนักงานใหม่ไว้ล่วงหน้าเลย
เช่น เมื่อพนักงานใหม่เข้ามาก็ไม่รู้จะให้เขาไปนั่งตรงไหน หรือไปนั่งที่โต๊ะของใครสักคนในแผนก
อุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยในการทำงานก็ไม่พร้อม
เหมือนกับไม่มีการประสานงานกันระหว่างฝ่ายบุคคลกับหน่วยงานที่จะรับน้องใหม่เข้าไปทำงาน
ทำให้พนักงานใหม่เกิดความรู้สึกครั้งแรกที่ไม่ดีสำหรับบริษัทนี้เสียแล้ว
นี่ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้องใหม่มองว่าบริษัทนี้ยังขาดความเป็นมืออาชีพ
แค่พนักงานเข้ามาใหม่ยังขาดความพร้อมอย่างนี้แล้วการบริหารจัดการเรื่องอื่น ๆ
คงไม่ได้เรื่องหรอก ก็เลยลาออกไปอยู่บริษัทที่เป็นมืออาชีพมากกว่านี้จะดีกว่า
7. ไม่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ Generation Y
ต้องยอมรับนะครับว่าวันนี้เป็นยุคของคนที่เราเรียกว่า
Generation
Y (บางคนเรียกว่า “Generation Why”) คือคนที่เกิดประมาณปี
2528-2548 (บางคนก็บอกว่าต่อจาก 2549 จะเป็น
Generation Z) ซึ่งเป็นวัยทำงานอยู่ในปัจจุบันนี้
และต้องยอมรับอีกเหมือนกันว่าสภาพแวดล้อมตั้งแต่เกิด,
วิธีคิด, การดำรงชีวิต รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ของคน Gen Y แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้าที่เรียกกันว่าพวก
Gen X หรือพวก BB (Baby Boomers) เพราะคน
Gen Y คือคนที่เกิดมาในยุคของคลื่นลูกที่สามคือ Social
Network ยุค 3G ยุคที่ IT เทคโนโลยี และการสื่อสารรวดเร็วฉับไว เกิดมาในยุคที่มี Facebook,
Instagram, Line ฯลฯ
Gen Y ต้องการความรวดเร็ว ต้องการการสื่อสารที่ฉับไวมีประสิทธิภาพ
ไม่ชอบความชักช้าอืดอาด มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ตั้งคำถาม
แสดงความคิดเห็น และต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของเขาด้วย, ผู้ใหญ่ผู้อาวุโสไม่จำเป็นต้องถูกทุกเรื่องเสมอไป,
ต้องการประสบความสำเร็จเร็ว ก้าวหน้าเร็วมีเงินเยอะ ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย,
วัตถุนิยมสูง ฯลฯ
ซึ่งท่านคงจะเห็นภาพคร่าว
ๆ แล้วนะครับว่าคน Gen
Y จะมีความแตกต่างไปจากคน Gen BB หรือ Gen
X ที่ยังเชื่อมั่นในระบบอาวุโส, ผู้ใหญ่จะถูกเสมอ
เวลาผู้ใหญ่ตำหนิหรือดุผู้น้อยก็ต้องนั่งฟังห้ามเถียงห้ามหือ (คล้าย ๆ พจมาน
สว่างวงศ์เข้าบ้านทรายทองแล้วถูกหญิงแม่,
หญิงใหญ่ดุด่าหญิงพจน์ต้องนั่งก้มหน้านิ่งฟังประมาณนั้นแหละครับ)
เป็นยุคที่ต้องอดทน รอคอย ทำอะไรต้องเป็นขั้นเป็นตอน ฯลฯ
ความขัดแย้งระหว่างรุ่นอย่างที่ผมเล่ามาให้ฟังนี่แหละครับทำให้
หัวหน้างานหรือผู้บริหารที่เป็นคนกลุ่ม Gen X หรือ BB เคยถูกอบรมสั่งสอนมาในแบบหนึ่ง พอมาเจอเข้ากับพวกที่เป็น Gen Y ที่เป็น “หญิงมั่น-ชายมั่น” ตามประสาคนรุ่นใหม่อีกแบบหนึ่ง ก็เกิด
“การปะทะกันทางความแตกต่างระหว่างรุ่น”
ดังนั้น
ถ้าผู้บริหารไม่ยอมเข้าใจ และเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก และของรุ่น (Generation) ที่เข้าสู่ยุคใหม่ แล้วยังคงปกครองบังคับบัญชาพวก Gen Y ในแบบ “เจ้านายกับลูกน้อง” ในลักษณะเดียวกับที่ตนเองเคยถูกปกครองมาในอดีต
แล้วจะนำวิธีการในอดีตมาใช้กับพวก Gen Y ก็จะทำให้พวก Gen
Y รับไม่ได้และลาออกไปหาบริษัทที่เข้าใจความเป็น Gen Y ของเขาในที่สุดครับ
นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารองค์กรในยุคใหม่จำเป็นต้องเปิดใจปรับเปลี่ยนวิธีคิด
และเข้าใจ Gen
Y ให้มากขึ้น และพร้อมจะปรับเปลี่ยนวิธีการปกครองจาก “เจ้านายกับลูกน้อง”
มาเป็น ผู้นำทีมงานที่เป็นเสมือนพี่ที่เข้าใจ เปิดโอกาส
และรับฟังความคิดเห็นของน้อง ๆ ให้มากขึ้น ต้องรู้จักมีกิจกรรมอื่น ๆ
นอกเหนือจากเรื่องงานกับน้อง ๆ Gen Y ด้วย เช่น เขาเล่น Line
WhatsApp หรือ Instagram กัน หัวหน้าก็อาจจะต้องรู้ว่าคืออะไรและพูดภาษาเดียวกับเขาได้
พูดง่าย ๆ ว่าถ้าท่านเข้าใจเขาก็มีโอกาสจะอยู่ทำงานด้วยกันได้นานขึ้นครับ
เป็นยังไงบ้างครับ
ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายในการไล่น้องใหม่จากบริษัท
ผมเชื่อว่าคงจะทำให้ท่านได้ข้อคิดอะไรไปบ้างแล้ว เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไขและลดปัจจัยเสี่ยงต่าง
ๆ เหล่านี้ลง เพื่อรักษาน้องใหม่ให้อยู่กับเราได้นานขึ้นครับ
…………………………………………