คุณนงนุชเบื่อที่จะที่จะทำงานกับหัวหน้าเต็มที
และคิดว่าอยู่ไปก็ไม่รุ่งตำแหน่งหน้าที่การงานคงไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว
คุณนงนุชก็เลยเขียนใบลาออกไปยื่นให้กับหัวหน้า ซึ่งตามระเบียบบริษัทบอกไว้ว่า
กรณีที่พนักงานประสงค์จะขอลาออกจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน และจะต้องให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติเสียก่อน
คุณนงนุชแกก็ทำตามระเบียบโดยยื่นใบลาออกตั้งแต่วันที่
1 มีนาคม โดยให้ใบลาออกมีผลวันที่ 1 เมษายน เมื่อยื่นใบลาออกแล้วคุณนงนุชก็ยังมาทำงานอยู่
จนอีกสองสามวันจะถึงวันที่ 1 เมษายน ที่มีผลการลาออก หัวหน้าก็มาบอกคุณนงนุชว่าใบลาออกยังไม่ได้รับอนุมัติเลยให้อยู่ช่วย
ๆ กันไปก่อนนะ
เมื่อถึงวันที่
1 เมษายน คุณนงนุชก็เลยมาทำงานแล้วก็ทำงานต่อไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม
หัวหน้าก็เดินมาบอกคุณนงนุชว่าใบลาออกได้รับการอนุมัติแล้ว เพราะฉะนั้นวันพรุ่งนี้
(2 พฤษภาคม) ไม่ต้องมาทำงานแล้ว
คุณนงนุชก็เลยบอกกับหัวหน้าไปว่า
“จะทำอย่างนี้ได้ยังไง เพราะหนูก็มาทำงานให้อีกตั้งเดือนหนึ่งแล้ว
และก็คิดว่าบริษัทจะให้หนูทำงานต่อไป หนูก็อุตส่าห์ปฏิเสธงานที่ใหม่ไปแล้วด้วย
ถ้าจะให้ออกบริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน และค่าบอกกล่าวล่วงหน้ามาให้เสียดี
ๆ เพราะถือว่าบริษัทเลิกจ้างหนูแล้ว”
ข้างฝ่ายหัวหน้าก็บอกว่า
“บริษัทคงจ่ายให้หนูไม่ได้หรอก เพราะหนูอยากเขียนใบลาออกเอง และตามระเบียบบริษัทใบลาออกก็ต้องให้ฝ่ายบริหารอนุมัติเสียก่อนถึงจะมีผล
พอดีผู้มีอำนาจอนุมัติเขาไปเมืองนอกเพิ่งกลับมาเซ็น
ดังนั้นบริษัทจะจ่ายให้เฉพาะเงินเดือนที่หนูทำในเดือนเมษายนก็แล้วกันนะ
ถ้าอยากจะได้ค่าชดเชยก็เชิญหนูไปฟ้องศาลแรงงานเลย
แต่คงไม่ชนะหรอกเพราะบริษัทมีใบลาออกของหนูเป็นหลักฐานอยู่แล้ว....”
กรณีข้างต้นนี้ ท่านคิดว่าเป็นการลาออก
หรือการเลิกจ้างครับ ?
เพราะถ้าเป็นการลาออกเอง
บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ถ้าเป็นการเลิกจ้าง
(ใบลาออกไม่มีผล)
บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย !
ให้เวลาคิดครับ ติ๊กต่อก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ
คิดออกแล้วใช่ไหมครับ
!
คำตอบสุดท้ายคือ “กรณีนี้ถือเป็นการเลิกจ้าง” ครับ
ลองดูคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ดูสิครับ
ฎ.2214/2542
การลาออกเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะลาออกเมื่อใดและกำหนดวันลาออกของตนได้
แต่หลังจาก
ครบกำหนดตามที่ระบุในใบลาออก
ลูกจ้างยังคงทำงานต่อมาโดยนายจ้างยินยอมให้ทำงาน
กรณีดังกล่าวถือได้ว่าลูกจ้างนายจ้างไม่ติดใจเอาใบลาออกเป็นข้อสำคัญอีกต่อไป
ใบลาออกดังกล่าวจึงสิ้นผล
หลังจากนั้นอีก 1 เดือน
นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่านายจ้างอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้
จึงเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง
จากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว
คงจะทำให้ท่านได้ข้อคิดในบางเรื่องแล้วนะครับ กล่าวคือ
เมื่อพนักงานสิ้นสภาพแล้วไม่ว่าด้วยสาเหตุใด
บริษัทไม่ควรปล่อยให้พนักงานเข้ามาทำงานตามปกติเหมือนที่เคยทำ
เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็จะเป็นการแสดงเจตนารับพนักงานเข้าทำงาน ดังนั้นเมื่อพนักงานที่พ้นสภาพไปแล้ว
เมื่อเขามาติดต่ออะไรกับบริษัทก็ควรจะให้เขาอยู่ในส่วนของผู้มาติดต่อคือต้องปฏิบัติเสมือนผู้มาติดต่อหรือลูกค้าทั่วไป
ไม่ควรปล่อยให้ไปนั่งทำงานตามปกติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างกรณีข้างต้นยังไงล่ะครับ
...........................................................