การที่องค์กรแต่งตั้งให้ใครสักคนเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็น
“หัวหน้างาน” (ซึ่งผมหมายถึงคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาและมีลูกน้อง
ไม่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งใดก็ตาม เช่น Leader,
Chief, Supervisor, ผู้จัดการ ฯลฯ) นั้น แสดงว่าคน ๆ
นั้นย่อมจะต้องมีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ
หรือมีศักยภาพอะไรบางอย่างที่เหนือกว่าพนักงานในระดับเดียวกัน
นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามที่องค์กรกำหนด เช่น อายุงาน, อายุตัว, ผลการปฏิบัติงาน
ฯลฯ
ซึ่งเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้างานแล้ว
ก็ย่อมจะต้องมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบที่เปลี่ยนแปลงไป
ต้องมีลูกน้องมีทีมงานที่จะต้องดูแลให้มีการประสานการทำงานเป็นทีมให้บรรลุเป้าหมายตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายมา
ต้องมีทักษะในการปกครองบังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชาที่จำเป็นต้องมีภาวะผู้นำเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องยอมรับและพร้อมปฏิบัติงานตามที่มอบหมายอีกด้วย
หลายคนพอได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาก็สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี
เป็นหัวหน้างานที่ลูกน้องเลื่อมใสศรัทธาให้การยอมรับ
แต่ก็มีไม่น้อยที่พอได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาก็จะแสดงพฤติกรรมที่ลูกน้องเอือมระอา
และต่อต้าน
จนถึงที่สุดอาจจะถึงขั้นกล้ารวมกับเดินไปบอกกับผู้บริหารให้เลือกระหว่างพนักงานในหน่วยงานกับหัวหน้างานว่าองค์กรจะเลือกใครก็มีนะครับ
เรามาลองดูกันสิครับว่าพฤติกรรมไหนบ้างที่หัวหน้าควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงในการทำงานร่วมกับลูกน้องซึ่งผมขอยกตัวอย่างที่มักจะเห็นกันบ่อย
ๆ มาดังนี้ครับ
1.
พูดมากกว่าฟัง : มีหัวหน้างานหลายคนเลยนะครับที่พูดเก่ง พูดน้ำไหลไฟดับ
แต่ไม่เคยฟังลูกน้องพูดบ้างเลย ลูกน้องจะเสนอความคิดเห็นอะไรก็มักจะพูดแซงขึ้นมาเสมอ
หรือมักจะบอกว่า “รู้แล้ว ๆ “ หรือ “พี่รู้เรื่องนี้มาก่อนคุณเสียอีก”
ถ้าหัวหน้างานมีพฤติกรรมที่ไม่ฟังคน หรือฟังแต่ไม่ได้ยินอย่างนี้แล้วล่ะก็
อย่าหวังเลยนะครับว่าลูกน้องจะอยากมาเล่าอะไรให้ฟัง อย่าลืมคำ ๆ หนึ่งที่ว่า
“คนเราจะฉลาดมากขึ้นเวลาฟัง แต่จะฉลาดเท่าเดิมเวลาพูด” นะครับ
2.
มองโลกในแง่ร้าย : หัวหน้างานประเภทนี้มักจะมีทัศนคติเชิงลบมากกว่าบวก มักจะหลุดออกมาเป็นคำพูดที่ทำให้ลูกน้องทดท้อใจไปด้วยทุกครั้ง เช่น
“ทำไมทีมงานของเราถึงโชคร้ายอย่างนี้” หรือ “เรื่องนี้มันทำได้แต่ยากมาก ๆ เลยล่ะ
พี่คิดว่าเราคงจะทำไม่ได้หรอก”
หัวหน้างานประเภทนี้จะมีกิริยาอาการภาษากายที่ท้อถอย
เบื่อหน่ายง่ายสะท้อนออกมาให้ลูกน้องเห็นได้เสมอ ๆ จะพูดจะจาอะไรก็จะมีแต่ข่าวร้ายอยู่ตลอด
หรือหลายคนก็จะมักจะมองลูกน้องในแง่ร้ายไปด้วย เช่น
ไม่เชื่อถือหรือเชื่อมั่นว่าลูกน้องจะทำได้ หรือไม่ก็คอยแต่จะจ้องจับผิดลูกน้อง
ใช้กิริยาวาจาที่ขาดความมั่นใจในทีมงานอยู่เสมอ ๆ
3.
ชอบชี้หน้าลูกน้องหรือพูดจาข่มลูกน้องเพื่อแสดงอำนาจ : หัวหน้างานประเภทนี้มักจะคิดว่าภาวะผู้นำจะเกิดได้จากการใช้อำนาจ ดังนั้นก็จะทำตัวเป็น “นาย”
และอาจจะคิดว่าตัวเองกำลังปกครอง “ทาส” อยู่
ก็เลยคิดว่าลูกน้องเป็นทาสในเรือนเบี้ย โดยใช้คำพูดหยาบคาย, ไม่ให้เกียรติ
หรือมักจะชี้หน้าพร้อมคำพูดที่ไม่สุภาพกับลูกน้อง โดยลืมนึกไปว่าตำแหน่งที่องค์กรแต่งตั้งนั้น
เป็นเพียงหัวโขนชั่วครั้งชั่วคราว ถึงวันหนึ่งก็ต้องถอดวางลง
ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วทุกคนก็มีสถานะเป็นลูกจ้างขององค์กรด้วยกันทั้งนั้น
ตำแหน่งที่ต่างกันก็เป็นเพียงหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไปเท่านั้น
ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนสถานะจากพนักงานให้เป็นทาสนะครับ
4.
แค้นฝังหุ่น : หัวหน้างานประเภทนี้มักจะเป็นคนที่ไม่ชอบเห็นใครดีกว่าตัวเอง
หลายครั้งที่ลูกน้องทำงานได้ดีมีผลงานออกมา
ก็มักจะฉวยโอกาสรับสมอ้างกับผู้บริหารว่าเป็นผลงานของตัวเอง
หรือหากลูกน้องทำงานผิดพลาดแล้วล่ะก็จะจำฝังใจไม่มีลืมไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ลูกน้องคนนี้ก็จะไม่มีวันได้ดี
หรือหากลูกน้องคนไหนพูดไม่เข้าหู ชอบโต้แย้งทั้ง ๆ ที่ลูกน้องมีเหตุผลที่ดีก็ตาม
หัวหน้างานประเภทนี้ก็จะพลอยหมั่นใส้และจำไว้เพื่อฝังกลบในภายหลังเพื่อไม่ให้ลูกน้องได้เกิดง่าย
ๆ ครับ
5.
พูดอย่าง..ทำอย่าง
: หัวหน้างานประเภทนี้มักจะมีพฤติกรรมสวนทางกับคำพูดของตัวเองอยู่เสมอ ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่าตัวเองมีสิทธิในการเบิกค่ารับรอง (ค่า Entertain) ซึ่งปกติก็จะต้องพาลูกค้าของบริษัทไปเลี้ยงรับรอง
เช่น ไปรับประทานอาหาร แล้วก็นำใบเสร็จรับเงินมาเบิกกับบริษัทตามที่จ่ายเงินไป
แต่มักจะพบว่าผู้บริหารหลายคนกลับพาครอบครัวตัวเอง หรือเพื่อนสนิท
(ซึ่งไม่ได้เป็นลูกค้าของบริษัท)
ไปรับประทานอาหารแล้วกลับนำใบเสร็จมาเบิกค่ารับรอง
เสร็จแล้วก็มาพูดให้พนักงานในบริษัทช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัท
ท่านลองคิดดูสิครับว่าถ้าองค์กรมีหัวหน้างานประเภทนี้อยู่หลายคนแล้ว องค์กรนั้นจะเป็นอย่างไร
อย่าลืมว่าเมื่อไหร่ท่านพูดคนจะฟัง แต่เมื่อไหร่ท่านทำคนถึงจะเชื่อ แต่ถ้าทั้งพูดและทำขัดแย้งกันแล้วล่ะก็ คนก็จะทั้งไม่ฟังและไม่เชื่อหรอกจริงไหมครับ ดังนั้นคนที่เป็นผู้นำถึงต้องมีทั้งการพูดและการกระทำที่สอดคล้องกันถึงจะเกิดความน่าเชื่อถือกับคนรอบข้างครับ
วันนี้ผมขอนำเสนอพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรประพฤติปฏิบัติของหัวหน้างาน
รวมทั้งผู้ที่กำลังจะก้าวไปเป็นหัวหน้างานมาเพื่อเป็นข้อเตือนสติเตือนใจให้เป็นหัวหน้างานที่ลูกน้องเกิดความเชื่อมั่นเลื่อมใสและศรัทธาที่จะทำงานด้วยต่อไปนะครับ
ผมฝากไว้ท้ายบทความนี้ด้วยประโยคที่ว่า....
“ท่านอาจจะเลือกหัวหน้างานที่ดีสำหรับท่านไม่ได้....แต่ท่านเลือกที่จะเป็นหัวหน้างานที่ดีได้เสมอ”
ท่านเห็นด้วยกับผมไหมครับ
?
………………………………………….