วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

จะทำงานด้านไหนดี HRD หรือ HRM ??

            ผมได้รับคำถามมาจากคนที่เพิ่งจะจบการศึกษาและอยากจะทำงานด้าน HR ก็เลยขอนำมาแลกเปลี่ยนมุมมองกันในเรื่องที่ว่าเขาควรจะทำงานด้าน HRD หรือ HRM ดีกว่ากัน ?

            แน่ะพอจั่วหัวมาอย่างนี้ พวกที่อยู่ฝ่าย HRD ก็จะเริ่มหาเสียงเชียร์งานด้าน HRD (Human Resource Development) ซึ่งก็จะเป็นงานด้านการวางแผนพัฒนาบุคลากร, การจัดการฝึกอบรมให้กับพนักงาน, ประเมินสมรรถนะความสามารถ (Competency) เพื่อการพัฒนาบุคลากร, งานด้านบริหารคนดีคนเก่งในองค์กร (Talent Management), งานติดตามผลการประเมินเพื่อการพัฒนาบุคลากร ฯลฯ ซึ่งผมมักจะเรียกเล่น ๆ ว่าเป็นฝ่ายเสธฯหรือฝ่ายบุ๋น เพราะลักษณะงานเป็นในทำนองนั้น

            ทางด้านคนที่ทำ HRM (Human Resource Management) บางคนก็อาจจะเชียร์ว่ามาทำงานด้านนี้สนุกกว่า มันส์กว่า ได้รสชาติของชีวิตกว่าเพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบริหารจัดการผู้คน เช่น การสรรหาคัดเลือกผู้สมัครงาน, การบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ (ที่ไม่ใช่การทำจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกสิ้นเดือนเพียงอย่างเดียว), งานด้านประเมินผลการปฏิบัติงาน (ที่ปัจจุบันเขามักจะเรียกกันว่างานด้านบริหารผลการปฏิบัติงานหรือ Performance Management System หรือ PMS), งานด้านแรงงานสัมพันธ์ เช่น กฎหมายแรงงาน, สหภาพแรงงาน, งานด้านการเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยเวลามีการยื่นข้อเรียกร้อง ฯลฯ ซึ่งงานเหล่านี้ผมมักจะเรียกเล่น ๆ ว่าเป็นงานบู๊ หรืองานสายลุย ซึ่งแม้แต่คนที่ทำด้าน HRM อีกหลาย ๆ คนก็อยากจะขอเปลี่ยนสายมาเป็น HRD

            ผมอยากจะบอกว่างานทั้งสองสายงานนี้เป็นงานในวิชาชีพด้านการบริหารงานบุคคลครับ มันเหมือนกับมีแขนซ้ายแล้วก็แขนขวา แต่ใครจะบอกว่า HRM หรือ HRD เป็นแขนซ้ายหรือแขนขวาก็แล้วแต่นะครับ ผมไม่ไปเถียงด้วยหรอก แต่ทั้งสองงานนี้มันเกื้อกูลกันอยู่ครับ ถ้าเปรียบไปกับการเป็นทหารก็ต้องมีทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋น คือมีฝ่ายคุมกำลังรบคือฝ่ายลุยหรือปฏิบัติการ และฝ่ายเสนาธิการที่คอยวางแผนการรบนั่นแหละครับ

            ในฐานะของคนที่เคยผ่านงานทั้งสองสายนี้มาแล้ว ซึ่งเรียกได้ว่าตลอดชีวิตการทำงานของผมก็คืองาน HR มีความเห็นเฉพาะตัวผมว่า คนที่กำลังจะตัดสินใจเข้ามาสู่อาชีพ HR จะเข้ามาที่สายไหนก่อนก็ได้ แต่ขอให้เรียนรู้งานในสายงานนั้นให้มากที่สุด เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ในงานที่ทำให้มากที่สุด รวมถึงเข้าอบรม และเรียนรู้ด้วยตนเองเช่น การค้นหาข้อมูลที่อยากเรียนรู้จากเว็บไซด์ด้าน HR ที่มีอยู่มากมายอยากรู้เรื่องอะไรก็ Search เข้าไปเท่านั้น พยายามนำตัวเองเข้าไปสู่ชมรมฯ หรือสมาคมทางด้าน HR เพื่อหาเพื่อนร่วมอาชีพในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในงาน
            แต่ประเด็นหลักที่สำคัญก็คือ....

          อย่าทำงานกับสายใดสายหนึ่งจนติดแล้วไม่ยอมสลับสับเปลี่ยนไปเรียนรู้งานอีกสายงานหนึ่ง !

            เช่น เริ่มต้นทำงานในสาย HRD แล้วเมื่อเวลาผ่านไปก็ยึดติดแต่งานในสายงาน HRD พอถึงเวลาที่จะต้องโยกย้ายไปทำงานด้าน HRM ก็ไม่อยากจะย้ายไปแล้ว เพราะ....

1.      ไม่อยากเรียนรู้งานใหม่

2.      งาน HRM เป็นงานที่จะต้องมีเรื่องสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้คน ซึ่งต้องมีประสบการณ์หรือมีทักษะหรือต้องมี “เขี้ยว” พอสมควรถึงจะยืนหยัดในงานนี้ได้

3.      ไม่อยากจะมีข้อขัดแย้งกับผู้คนในองค์กรเพราะเมื่อมีการชี้แจงพูดคุยกันก็มีโอกาสจะเกิดความขัดแย้งกันสูง แต่งาน HRD นั้นจะมีโอกาสขัดแย้งน้อยกว่าเพราะเป็นงานวางแผนและลักษณะเป็นงานบริการพนักงานภายใน เช่น การจัดฝึกอบรม, ติดต่อวิทยากร, สถานที่ ฯลฯ

จากเหตุผลทำนองข้างต้นนี้แหละครับ ทำให้ผมพบว่ามีหลายคนที่พอทำงานสายงานใดแล้วก็เลยยึดติดและไม่ยอมไปเรียนรู้ด้านอื่นอีก แม้แต่คนที่ทำงานด้าน HRM บางคนก็ไม่อยากจะย้ายไปทำงานด้าน HRD เพราะไม่ชอบงานวางแผนหรือติดตามการพัฒนาบุคลากร แต่ชอบงานที่เป็นประเภทปฏิบัติการถึงลูกถึงคนก็มีให้เห็นอยู่บ้าง

            เมื่อเวลาผ่านไปก็เลยทำให้คนที่งาน HR สายใดสายหนึ่ง (HRD หรือ HRM ก็ตาม) จะติดกับสายงานที่ตัวเองทำอยู่แบบนี้แหละครับ ทำให้ไม่ย้ายไปเรียนรู้งานใหม่ แล้วก็ทำให้ถนัดอยู่เรื่องเดียว

            ผลก็คือเมื่อจะต้องไปสมัครงาน หรือไปหางานใหม่ก็จะพบว่าบางคนทำงานด้าน HRD (หรือ HRM) มาตลอดแต่บริษัทใหม่ต้องการให้มาดูแลงาน HRM (หรือ HRD) ด้วย ทำให้ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับงาน HRM หรือ HRD ที่ตัวเองไม่ถนัดเพราะไม่เคยทำมาก่อน ก็เลยต้องลาออกแล้วหางานใหม่ต่อไป

            ซึ่งถ้าหากจะพูดถึงตำแหน่งที่สูงสุดของฝ่าย HR ก็คือผู้จัดการฝ่าย HR (บางแห่งจะเรียกผู้อำนวยการฝ่าย HR หรือ VP-HR) ก็จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ในงานทั้งด้าน HRD และ HRM มาก่อนถึงจะสามารถดูแลการปฏิบัติงานในสายงาน HR ได้อย่างมืออาชีพจริงไหมครับ

            หรือแม้แต่ถ้าวันหนึ่งวันใดหากต้องการจะออกมาเป็นที่ปรึกษาหรือมาเป็นวิทยากรด้าน HR ก็ตาม เมื่อไปสอนหรือให้คำปรึกษาลูกค้าในงาน HR แล้วตัวเองก็ขาดความรู้และประสบการณ์ (ซึ่งประสบการณ์นี่แหละครับที่ผมเห็นว่าสำคัญมากเพราะหาอ่านไม่ได้ในตำรานะครับ) แล้วจะเป็น HR มืออาชีพ” ได้อย่างไร
             ก็อาจจะเป็นได้เพียงคนที่มี “อาชีพ HR” ต่อไปกระมังครับ

..........................................