ก็ยังมีคำถามกันอยู่ว่า "ค่าจ้างขั้นต่ำ" นี้จะรวมเงินอื่น ๆ เข้าไปด้วยหรือไม่
เช่น บางบริษัทมีการจ่ายค่าอาหารให้พนักงานวันละ 15 บาท ก็จะขอจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 285 บาทแล้วบวกค่าอาหารอีก 15 บาท รวมแล้วเป็น 300 บาทต่อวัน หรือบางบริษัทจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 20 บาท ก็จะจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 280 บาท แล้วบวกเบี้ยเลี้ยงวันละ 20 บาทรวมแล้วก็เป็น 300 บาทต่อวัน ฯลฯ (อันนี้ผมยกตัวอย่างจังหวัดที่ได้ปรับเป็น 300 บาทนะครับ)
จากคำถามข้างต้นสรุปง่าย ๆ ตามสูตรก็คือ
ค่าจ้างขั้นต่ำ = เงินเดือน+เงินอื่น ๆ (เช่น ค่าอาหาร, ค่าเบี้ยขยัน, ค่าเช่าบ้าน, ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าคอมมิชชั่น ฯลฯ)
อย่างนี้จะทำได้หรือไม่ ?
คำตอบสุดท้ายก็คือ "ไม่ได้" ครับ
เพราะเหตุว่า "ค่าจ้างขั้นต่ำ" ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานปี 2541 ระบุไว้ดังนี้
“อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” หมายความว่า อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
ส่วน "ค่าจ้าง" ตามมาตรา 5 ของพรบ.คุ้มครองแรงงานหมายถึง
“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
อธิบายแบบง่าย ๆ ได้ว่านายจ้าง (หรือบริษัท) จะต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงแรงงาน จะนำเอาค่าจ้างอื่น ๆ (เช่นค่าอาหาร, ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าคอมมิชชั่น ฯลฯ) ไปรวมในค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ เพราะเป็นค่าจ้างคนละประเภทกันครับ
ก็ลองคิดดูสิครับว่า เดิมที่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดิมคือ 215 บาท บริษัทของท่านจ่ายค่าจ้าง 215 บาท แล้วจ่ายค่าอาหาร, ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าครองชีพ ฯลฯ แยกต่างหากจากการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่ 215 บาทไม่ใช่หรือครับ แล้วเหตุใดเมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทแล้วจึงจะนำค่าอาหาร, ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าครองชีพ ฯลฯ รวมเข้าไปใน 300 บาทด้วยล่ะครับ ?
ถ้าทำอย่างนี้ก็เป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างอันเป็นคุณกับลูกจ้างไปแล้วไม่ใช่หรือครับ ? อย่างนี้เมื่อมีคดีไปถึงศาลแรงงานแล้วบริษัทจะตอบคำถามในเรื่องการเปลี่ยนสภาพการจ้างเดิมที่เป็นคุณกับลูกจ้าง แล้วเหตุใดจึงเปลี่ยนมาไม่เป็นคุณกับลูกจ้างในศาลยังไงล่ะครับ ?
ส่วนอีกคำถามหนึ่งที่ว่า "แล้วปริญญาตรีล่ะ จะต้องปรับให้เป็นเดือนละ 15,000 บาท เหมือนกับที่ทางรัฐบาลเขาประกาศด้วยหรือไม่"
คำตอบคือ....
ถ้าบริษัทไหนไม่ปรับเงินเดือนปริญญาตรีให้เป็นเดือนละ 15,000 บาทก็ย่อมได้ครับ เพราะอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเริ่มต้นตามวุฒิ ปวช., ปวส.,ปริญญาตรี, โท, เอก ฯลฯ นั้น ในขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดในกฎหมายแรงงาน ซึ่งต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งมีระบุไว้ในกฎหมายแรงงานชัดเจน
ดังนั้น หากบริษัทใดจะไม่ปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปริญญาตรีให้เป็นเดิอนละ 15,000 บาทก็ไม่ได้มีความผิดกฎหมายแรงงานครับ
แต่มีข้อคิดก็คือเมื่อค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ที่วันละ 300 บาท เดือนหนึ่งก็ 9,000 บาท (คิดว่าทำงานเดือนละ 30 วัน) ปัจจุบันบริษัทของท่านรับพนักงานจบปวช.หรือปวส.หรือปริญญาตรีเดือนละเท่าไหร่ล่ะครับ
ผมยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันในข้อมูลผลการสำรวจตลาดค่าตอบแทนพบว่าอัตราการจ้างผู้จบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานโดยเฉลี่ยจะเป็นดังนี้
ปวช. 7,000 บาท ต่อเดือน
ปวส. 8,000 บาท ต่อเดือน
ปริญญาตรี 11,000 บาท ต่อเดือน
ปริญญาโท 15,000 บาท ต่อเดือน
จากข้อมูลข้างต้นท่านคงจะพอมองเห็นแล้วนะครับว่า ถ้าจ่ายให้ผู้จบปวช.เท่าค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน ก็จะน้อยกว่าคนที่ไม่ต้องจบอะไรมาเลย (Unskill Labour) เพราะแรงงานทั่วไปยังได้เดือนละ 9,000 บาท (วันละ 300 บาท)
จะเห็นได้ว่าในที่สุดบริษัทก็จะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ มาถึงอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิต่าง ๆ อยู่ดี เพราะจะเห็นได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่จบปวช.หรือปวส.ยังได้รับค่าจ้างต่อเดือนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ !
ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ ก็อาจจะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิสำหรับผู้จบการศึกษาในระดับต่าง ๆ เสียใหม่ ส่วนว่าจะปรับเป็นที่เท่าไหร่ก็คงจะต้องแล้วแต่ขีดความสามารถในการจ่าย และนโยบายของแต่ละบริษัทครับ
เชื่อว่าท่านคงจะชัดเจนสำหรับคำถามเหล่านี้แล้วนะครับ
.....................................................