ตามตำราควรมีความห่าง (ศัพท์เทคนิคเขาเรียกว่า “Range Spread” ครับ) ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทำได้อย่างนี้ทุกกระบอกเงินเดือนแล้วนัยว่าโครงสร้างเงินเดือนจะดูสวยดูดีมีชาติตระกูล (อิ..อิ...)
แต่จากประสบการณ์ของผมแล้ว ในทางปฏิบัติจะพบว่า Range Spread (ซึ่งต่อไปผมขอเรียกย่อ ๆ ว่า “RS” ก็แล้วกันนะครับ) จะเกิน 100 เปอร์เซ็นต์อยู่บ่อยไป บางองค์กรมีค่า RS 200-300 เปอร์เซ็นต์ก็มีอยู่ไม่น้อย
เพราะการออกแบบให้มีค่า RS มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับนโยบาย รวมถึงเหตุผลของผู้ออกแบบว่าต้องการจะเลี้ยงคนไว้ที่กระบอกเงินเดือนนั้นไว้นานแค่ไหน ด้วยเหตุผลอะไร เช่น กรณีที่องค์กรจัดระดับชั้นตำแหน่งแบบที่เป็น Flat Organization คือมีพนักงานปฏิบัติการมาก แต่มีตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้บริหารน้อย (ซึ่งก็คือการทำโครงสร้างชนิด Broadband นั่นเอง) ก็จะต้องทำโครงสร้างเงินเดือนให้มีค่า RS มีเปอร์เซ็นต์สูง (ซึ่งแน่นอนว่าเกิน 100 เปอร์เซ็นต์แหง ๆ) เพราะตำแหน่งก็ไม่มีให้ Promote แล้ว แถมเงินเดือนก็ตันเร็ว (เพราะมีเปอร์เซ็นต์ของ RS ต่ำเสียอีก) อย่างนี้ก็จะไม่สามารถรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ เพราะ “กล่อง” (หรือตำแหน่ง) ก็ไม่ได้เนื่องจากมีจำนวนจำกัด แถมเงินเดือนก็ดันมาตันเร็ว (เพราะมี RS เป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำ) เสียอีก ก็จะเป็นสาเหตุให้พนักงานลาออกไปทำงานที่อื่นเสียดีกว่า
ดังนั้นเมื่อตำแหน่งไม่มีให้ Promote มากนักจึงต้องแก้ด้วยการทำโครงสร้างเงินเดือนให้มีค่า RS สูงเพื่อยังเป็นทางหนึ่งที่จะยังพอรักษาคนเอาไว้ได้ครับ
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า RS ไม่จำเป็นต้องมีค่าที่ตายตัวทุกกระบอกเงินเดือน (ในทางปฏิบัติ) เสมอไปครับ
.................................