คำถามนี้น่าสนใจดีนะครับ เพราะมองภาพใหญ่ทั้งประเทศเลยทีเดียว
ตอบได้ว่า “ขณะนี้ยังไม่มีหรอกครับ” เพราะ....
การทำโครงสร้างเงินเดือนนั้น เกิดมาจากการประเมินค่างาน (Job Evaluation) ในหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านค่าตอบแทน (Compensation Management) ขององค์กรนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม และสามารถดำเนินธุรกิจโดยมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร (Staff Cost) ได้อย่างเหมาะสม และสมเหตุสมผล สามารถแข่งขันได้ในตลาด
สมมุติว่าถ้าเราจะทำโครงสร้างเงินเดือนของทั้งประเทศ เราก็จะต้องดำเนินการดังนี้
1. มีการประเมินค่างานสำหรับตำแหน่งงานต่าง ๆ กันทั้งประเทศ ซึ่งก็แน่นอนว่ามหาศาลมาก เพราะตำแหน่งงานต่าง ๆ จะมีทั้งภาครัฐ (ราชการ) รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ซึ่งก็จะมีตำแหน่งงานต่าง ๆ มากมาย หรือจะเรียกว่ามีตำแหน่งงานที่หลากหลายตั้งแต่ตำแหน่งที่สูงสุดไปถึงตำแหน่งที่ต่ำสุดของทั้งประเทศ
2. เรื่องต่อมาก็คือ เราจะต้องมากำหนด “ปัจจัย” ที่จะใช้ในการประเมินค่างานสำหรับทุกตำแหน่งงานที่ผมบอกไปแล้วตามข้อ 1 ซึ่งผมกำลังหมายถึงการกำหนดปัจจัยที่จะใช้ในการประเมินค่างานของทุกตำแหน่งงานทั้งประเทศเลยนะครับ คำถามก็คือ “ใครจะเป็นผู้กำหนดและชี้ขาดว่าปัจจัยใดบ้างที่เหมาะสมจะนำมาประเมินค่างานทุกตำแหน่งงานทั่วทั้งประเทศครับ ?” เพราะโดยปกติผู้กำหนดปัจจัยในการประเมินค่างานคือคณะกรรมการประเมินค่างานของบริษัท ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวควรจะมีความรู้ในลักษณะงานของตำแหน่งงานทั้งหมดดีพอสมควร
3. ต้องมาถ่วงน้ำหนักปัจจัยที่กำหนดขึ้นตามข้อ 2 ไม่ให้เกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าปัจจัยที่กำหนดนั้นควรจะมีน้ำหนักสักกี่เปอร์เซ็นต์ดี ซึ่งก็จะมีคำถามเหมือนกับข้อ 2 อีกนั่นแหละครับว่าใครจะเป็นคนกำหนดชี้ขาดว่าปัจจัยไหนควรจะมีน้ำหนักสักกี่เปอร์เซ็นต์
4. ใครจะเป็นเจ้าภาพในการทำการประเมินค่างานของทั้งประเทศ
ผมไม่ได้บอกว่า “ทำไม่ได้” นะครับ มีเงื่อนไขแต่เพียงว่าถ้าตอบคำถามข้อ 1 ถึง 4 ได้ก็จะทำการประเมินค่างานทั้งประเทศได้ และจะนำไปสู่การทำโครงสร้างเงินเดือนทั้งประเทศได้เช่นเดียวกันครับ
5. เมื่อสามารถทำการประเมินค่างานได้ทุกตำแหน่งงาน และจัดแบ่งกลุ่มงาน (Job Group) ได้ทั้งหมดแล้ว นั่นแหละครับจะเป็นฐานในการนำมาจัดทำโครงสร้างเงินเดือนของทุกตำแหน่งงานทั้งประเทศได้ต่อไป
เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นผมอยากจะแนะนำให้ท่านลองไปอ่านหนังสือวิธีการประเมินค่างานและทำโครงสร้างเงินเดือนที่ผมเขียนไว้คือ “การประเมินค่างาน และการทำงโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)” เพื่อจะได้เข้าใจภาพของเรื่องเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้นครับ
แต่ขอชมอีกครั้งว่าคำถามนี้น่าสนใจ และทำให้เปิดแนวความคิดได้กว้างขวางดีนะครับ
........................................