1. ได้ทำงานกับผู้นำที่มีความน่าเคารพศรัทธา (Working for admired leaders)
2. มีสัมพันธภาพในการทำงานที่ดีกับคนรอบข้าง (Having positive working relationships)
3. ได้ทำงานที่สำคัญและมีความหมาย (Doing meaningful work)
4. ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากองค์การ (Recognition and appreciation)
5. สามารถสร้างความสมดุลในตัวเองได้ดี (Living a balanced life)
6. ได้รับการสอนงานและสนับสนุน (Coaching and work support)
7. ได้มีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ (Getting involvement)
8. มีการสื่อสารที่ดีในองค์การ (Communication)
9. มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม (Measuring with fair system)
10. ได้รับโอกาสให้มีการพัฒนาและก้าวหน้าในองค์การ (Giving opportunity for
advancement and professional development)
11. มีการแจ้งขอบเขตหน้าที่และความคาดหวังในงานอย่างชัดเจน (Clear job expectations)
12. มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานอย่างเพียงพอเหมาะสมตามหน้าที่และความรับผิดชอบ
(Adequate tools to complete work responsibilities)
เหตุใดองค์กรจึงควรจะสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน
จึงจะเห็นได้ว่านอกจากปัจจัยที่เป็นค่าตอบแทนหรือตัวเงินแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่สร้างความผูกพันระหว่างคนกับองค์กรอยู่อีกไม่น้อยเลยทีเดียว พูดง่าย ๆ ว่าหากทำงานแล้วได้เงินมากก็ดี แต่ทั้งนี้คนยังต้องการปัจจัยอื่นนอกเหนือจากเงินอีกด้วย เช่น ต้องการทำงานกับหัวหน้าที่ดูน่าเคารพศรัทธาน่าเลื่อมใส สามารถสอนงานให้ได้รับความรู้อยู่เสมอ ๆ หรือมีเพื่อนร่วมทีมงานที่มีอัธยาศัยที่ดีซึ่งกันและกัน หรือได้รับการยอมรับจากองค์กร เป็นต้น
เมื่อองค์กรทราบอย่างนี้แล้ว ก็ควรที่จะสำรวจความพึงพอใจของพนักงานในปัจจัยดังที่ผมบอกมาแล้วข้างต้น เพื่อจะได้ทราบว่าพนักงานมีความคิดเห็นอย่างไรกับองค์กร, กับค่าตอบแทนและสวัสดิการ, ความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการของผู้บริหาร, ความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ ฯลฯ
แล้วองค์กรในปัจจุบันทำการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานหรือไม่
จากประสบการณ์ที่ผมพบและพูดคุยในองค์กรต่าง ๆ นั้น เมื่อสอบถามกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือผู้บริหารในบริษัทต่าง ๆ ว่าได้เคยมีการทำการสำรวจความพึงพอใจพนักงานกันบ้างหรือไม่นั้น คำตอบที่กลับมามักจะยังไม่ได้ทำซึ่งก็จะมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป บ้างก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำอย่างไรดี, บ้างก็ยังไม่มีเวลาที่จะทำ (ซึ่งผมมักจะบอกเสมอว่าคนที่บอกว่าไม่มีเวลานั้นแสดงว่าเขายังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนั้น ๆ มากกว่าจึงใช้ข้ออ้างนี้อยู่เสมอ ต่อเมื่อเห็นว่ามีความสำคัญนั่นแหละครับจึงจะมีเวลา – ท่านเห็นด้วยไหมครับ ?) บ้างก็บอกว่าเกรงว่าพนักงานจะไม่พึงพอใจอะไรสักอย่างในบริษัทเลยกลัวจะทำใจไม่ได้ก็เลยไม่ได้ทำ, บ้างเกรงว่าหากทำไปแล้วเท่ากับเป็นการเปิดทางให้พนักงานยื่นข้อเรียกร้องคล้าย ๆ จะเป็นสหภาพแรงงานกลาย ๆ (คิดมากไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบในเมื่อวันนี้ก็ต้องมีคณะกรรมการสวัสดิการพนักงานอยู่แล้ว) ฯลฯ
ซึ่งผมกลับมีความคิดเห็นว่า การทำการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานนั้น กลับจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเสียมากกว่าจะมีโทษนะครับ เพราะองค์กรจะได้ทราบถึงความรู้สึกนึกคิดของพนักงานในด้านต่าง ๆ ที่มีต่อองค์กร ทั้งยังจะทำให้องค์กรสามารถจะพบปัญหาต่าง ๆ ได้เร็ว ตลอดจนสามารถจะแก้ไขปัญหาหลาย ๆ เรื่องได้ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย
เปรียบไปก็คล้ายกับการตรวจสุขภาพประจำปีของคนนั่นแหละครับ หากมีการตรวจสุขภาพกันทุกปี ก็จะทำให้คน ๆ นั้นทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพได้เร็วและสามารถทำการรักษาได้ก่อนที่จะเกิดบานปลายต่อไป ซึ่งดีกว่าการที่ไม่ยอมตรวจสุขภาพประจำปี เพราะกลัวทำใจไม่ได้หากจะต้องไปเจอโรคภัยต่าง ๆ เข้า แต่ถามว่าแม้ไม่มีการตรวจสุขภาพประจำปีแล้วจะทำให้โรคต่าง ๆ เหล่านั้นหายไปได้หรือครับ ?
องค์กรจะเริ่มต้นสำรวจความพึงพอใจของพนักงานแบบง่าย ๆ อย่างไร
สำหรับองค์กรที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี หรือจะออกแบบสอบถามอย่างไรดีนั้น ผมขอแนะนำวิธีการอย่างง่าย ๆ โดยให้ท่านรับพนักงานฝึกงานจากสถาบันการศึกษาที่เรียนมาทางด้านจิตวิทยา และมอบหมายให้นักศึกษาฝึกงานจัดทำแบบสอบถามความพึงพอใจของพนักงานต่อองค์กรโดยท่านก็กำหนดหัวข้อใหญ่ ๆ ว่าต้องการจะสอบถามในหัวข้อใดบ้าง เช่น
1. ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ
2. ด้านสัมพันธภาพในหน่วยงาน
3. ด้านการปกครองบังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชา
4. ด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน
5. ด้านความก้าวหน้าในงาน
6. ด้านการฝึกอบรมและพัฒนาตนเอง
หรือท่านอาจจะต้องการสอบถามในเรื่องอื่น ๆ มากกว่านี้ก็สามารถทำได้ โดยแจ้งหัวข้อเหล่านี้ให้กับนักศึกษาฝึกงานไปทำการออกแบบ รวมถึงวิธีการวัดผลและนำเสนอ ซึ่งองค์กรของท่านก็อาจจะทำวุฒิบัตรชมเชยให้กับนักศึกษาฝึกงาน หากผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งก็จะเป็นเครดิตของนักศึกษาฝึกงาน และดีกว่าการให้นักศึกษาฝึกงานมาฝึกงานแค่เพียงถ่ายเอกสาร เย็บเล่มเอกสาร กับส่งแฟกซ์ (เหมือนกับที่บางหน่วยงานชอบทำ) เป็นไหน ๆ
บริษัทเองก็ได้รับทราบข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากพนักงานเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ในองค์กร ในขณะที่นักศึกษาฝึกงานก็ได้เรียนรู้วิธีการสำรวจความพึงพอใจพนักงาน ซึ่งแน่นอนว่าเขาคงจะต้องได้คำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อช่วยทำแบบสอบถามเหล่านี้ก็จะเป็นบทเรียนนอกตำราที่ดีสำหรับนักศึกษาฝึกงาน เรียกว่า WIN-WIN ทั้งสองฝ่ายก็ได้ครับ !
ดังนั้น องค์กรของท่านจึงควรจะต้องตรวจสุขภาพประจำปีโดยการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานกันเพื่อจะได้นำผลมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาองค์กรของท่านให้ดียิ่งขึ้นกันเถอะครับ
...............................................