วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ กับ ผู้นำที่ล้มเหลว

            ผู้นำองค์กรที่เราอาจจะเรียกกันว่า MD หรือ CEO ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งส่วนใหญ่คนมักจะชอบฟังแต่สิ่งที่ดี ๆ ทำให้บางครั้งมองข้ามที่สิ่งที่ไม่อยากจะฟังไป ทั้ง ๆ ที่เรื่องที่ล้มเหลวนั้นอาจเป็นข้อเตือนใจที่ไม่ทำให้เราทำผิดซ้ำกับที่คนอื่นได้ทำมาแล้วก่อนหน้านี้ก็เป็นได้นะครับ

            วันนี้ผมเลยมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับผู้นำองค์กร หรือ CEO ที่ประสบความสำเร็จซึ่งเผยแพร่อยู่ใน ยู.เอส.เอ.ทูเดย์ ด็อทคอม โดยคุณ เดนิส เกิร์สเทน และ สาเหตุที่ CEO ประสบความล้มเหลวโดย ดร.เดวิด ด็อทลิซ และ ดร.ปีเตอร์ ไคโร ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้นำในทุกระดับมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นแง่คิดสำหรับท่านดังนี้ครับ

CEO ที่ประสบความสำเร็จ

            จะมีคุณลักษณะดังนี้

1.      สร้างทีมงานโดยการกระจายอำนาจในการตัดสินใจ (Build teamwork by

empowering employees to make decisions) โดยผู้นำในแต่ละระดับจะมีอำนาจตัดสินใจเพื่อความคล่องตัวในการให้บริการกับลูกค้า จะทำให้งานไม่เป็นระบบราชการและลดขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ ยังมีหลายองค์การนะครับที่รวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ผู้นำสูงสุด หรือผู้นำในองค์การระดับสูงเพียงไม่กี่คน เพราะมีแนวความคิดที่ว่าการกระจายอำนาจจะทำให้ตนเองสูญเสียอำนาจ แต่อย่าลืมนะครับว่า ปัจจุบันนี้การแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน องค์การใดมีขั้นตอนการทำงานที่เยิ่นเย้อมากมายแล้ว ย่อมเสียเปรียบคู่แข่งในที่สุดครับ

2.      ผู้นำจะต้องรับผิดชอบและมีบทบาทในการนำหน่วยงานมุ่งไปข้างหน้า (Take charge)

ไม่ว่าจะพบเรื่องร้ายหรือดี ไม่ใช่เพียงแค่ชี้นิ้วสั่งการ ซึ่ง Key word ในข้อนี้คือคำว่า ความรับผิดชอบ หรือ Accountability ซึ่งอาจเรียกให้ชัดเจนว่า สำนึกในความรับผิดชอบ ที่จะต้องมีอยู่สูงกว่าความรับผิดชอบ “Responsibility” เช่น เมื่อหัวหน้างานสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานแล้วงานประสบปัญหาจนถูกตำหนิ ผู้ใต้บังคับบัญชานั้นยังคงต้องมีความรับผิดชอบที่เราเรียกว่า Responsibility ของเขาอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญ หัวหน้าจะบอกว่านี่เป็นความรับผิดชอบและเป็นความผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่เพียงคนเดียวไม่ได้ครับ หัวหน้ายังจะต้องมีสำนึกในความรับผิดชอบ (Accountability) เพราะตัวเองยังเป็นหัวหน้าเขาอยู่และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดอยู่ดี แม้ว่าความผิดพลาดหรือล้มเหลวจะมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาก็ตาม ดังนั้นหัวหน้าที่คอยโบ้ยความรับผิดชอบให้ลูกน้องเมื่องานผิดพลาดและบอกว่าฉันไม่ได้ทำ แต่ลูกน้องต่างหากที่ทำผิดพลาดน่ะ แสดงว่าท่านขาดคุณสมบัติของ CEO ที่ประสบความสำเร็จแล้วล่ะครับ

3.      รู้จังหวะว่าเมื่อไหร่ควรถอย (Know when to back off) ผู้นำที่ดีควรจะต้องรู้สมรรถนะของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองว่าใครทำงานอะไรได้ดีมากน้อยแค่ไหน และดูแลให้เขาทำงานไปตามหน้าที่งานโดยไม่เข้าไปจุกจิกหรือทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาแทนเสียเอง และไม่ควรคิดว่าตนเองรู้งานของผู้ใต้บังคับบัญชา แถมยังรู้สึกว่าตนเองทำงานนั้นได้ดีกว่าเขาเสียอีก เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นในไม่ช้าหัวหน้างานคนนั้นก็จะกลายเป็น ผู้จัดการวิญญาณเสมียน ในที่สุด ทางที่ดีควรถอยห่างออกมาแล้วทำหน้าที่เสมือนโค้ชจะดีกว่านะครับ

4.      เชื่อมั่นในตัวผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ความสำคัญในเรื่องคน (Invest in power people) ผู้นำที่ดีจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องคนตั้งแต่การจ้างหรือการสรรหาคัดเลือกคนเข้ามาทำงานกับองค์การ   เพราะนี่คือปราการด่านแรกในการหาคนที่มีคุณภาพเข้ามาในองค์การ หากได้คนไม่ดีเข้ามาแล้วจะเป็นปัญหากับองค์การในระยะยาว ซึ่งในเรื่องนี้ผู้นำในองค์การให้ความสำคัญมากครับ

5.      กล้าเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน (Face uncertainty) คำ ๆ นี้แทบไม่ต้องแปลความเพิ่มเติมแล้วนะครับ เพราะเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนนั้นย่อมท้าทายความสามารถของผู้นำอยู่ตลอดไป

6.      มีความพยายามในการเอาชนะข้อสงสัยและปัญหาต่าง ๆ (Overcome doubts) โดยมุ่งมั่นในผลสำเร็จของงานเพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ

เมื่อเราได้ทราบว่าผู้นำหรือ CEO ที่ประสบความสำเร็จมีคุณลักษณะอย่างไรแล้ว เราลองมาดู

ผู้นำหรือ CEO ที่ล้มเหลวกันบ้างนะครับว่ามีอะไรบ้างดังนี้ครับ

ผู้นำที่ล้มเหลว

1.      มีความหยิ่งทะนงตน (Arrogance) คิดว่าตัวเองถูกและคนอื่นผิดอยู่เสมอ

2.      คิดว่าตนเองเป็นจุดรวมของความสนใจของผู้คนรอบข้าง (Melodrama)

3.      อารมณ์ไม่คงที่ ขึ้น ๆ ลง ๆ (Volatility) แกว่งไปแกว่งมา เช้าก็อารมณ์หนึ่ง บ่ายอาจจะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ผู้ใต้บังคับบัญชาจะเข้าไปพบต้องดูทิศทางลมให้ดีเสียก่อน

4.      กลัวการตัดสินใจ (Excessive cautions) เวลาจะตัดสินใจมักจะใช้เวลาคิดมาก เพราะกลัวว่าถ้าตัดสินใจไปแล้วผิดพลาดตัวเองจะต้องรับผลนั้น ซึ่งแน่ล่ะครับ ถ้าองค์การใดมีผู้นำในลักษณะนี้คงไม่ต้องสงสัยว่า งานแทบทั้งหมดจะต้องเข้าไปรออนุมัติอยู่ในห้องของ CEO เป็นตั้ง ๆ เลยครับ

5.      มองแต่เรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี (Habitual Distrust) คิดแต่เรื่องที่เป็นลบ มองไปที่งานใดก็จะคิดแต่เรื่องไม่ดีไว้ก่อน จะเรียกว่ามองโลกในแง่ร้ายก็ได้นะครับ

6.      ไม่นำตัวเข้าไปผูกสัมพันธ์กับใคร หรือไม่ติดต่อคบค้าสมาคมกับใคร (Aloofness) ผู้นำประเภทนี้อาจจะเป็นผู้นำประเภท มั่น มาก ๆ ประเภท ข้าแน่ มองคนรอบตัวด้อยกว่าไปหมด ก็เลยไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นที่จะต้องผูกสัมพันธ์กับใคร

7.      เชื่อว่ากฎระเบียบถูกสร้างมาให้ถูกทำลาย (Mischievousness) ผู้นำประเภทนี้มักจะเชื่อว่าเขาสามารถจะทำลายสิ่งใดได้เสมอ (ถ้าเขาไม่พอใจมันขึ้นมา) น่ากลัวนะครับสำหรับผู้นำประเภทนี้ เพราะเขาพร้อมจะสร้างกฎใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของตนเองซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะถูกไปเสียทุกเรื่องเสียเมื่อไหร่ล่ะครับ

8.      เลือกที่จะแตกต่าง (Eccentricity)  หรือเลือกที่จะเป็นเพียงเพื่อคุยว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น แต่โดยแท้ที่จริงแล้วความแตกต่างนั้นไม่ได้มีนัยยะอะไรที่สำคัญที่จะอ้างได้เลย เรียกได้ว่าเป็นผู้นำประเภทที่ตีฆ้องร้องป่าวว่า ฉันแตกต่าง แต่พอถามความเห็นของคนที่เข้ามามุงดูแล้วกลับบอกว่า ก็เพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น....  ลองคิดดูสิครับว่าถ้าองค์การของท่านมีผู้นำที่เพียงใช้ความรู้สึกของตนเองว่าแตกต่าง แล้วตัดสินใจผลิตสินค้าหรือบริการที่ลูกค้า (หรือแม้แต่พนักงานที่ชำนาญในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ) ก็ยังมองว่าไม่แตกต่าง แล้วออกไปสู่ตลาดแล้ว จะเกิดผลอะไรขึ้นกับสินค้าตัวนั้น ?

9.      ไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูด (Passive Resistance) อ้าว ! ถ้าได้ผู้นำประเภทนี้ก็ยุ่งแล้วนะครับ เพราะพูดในสิ่งที่แม้แต่ตนเองก็ยังไม่มีความเชื่อนั้นอยู่เลย มันก็ขัดแย้งกันในตัวของมันเองน่ะสิครับ แล้วอย่างนี้จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อได้อย่างไรล่ะครับ นาน ๆ ไปก็จะกลายเป็นท่านพูดอย่างแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง ในที่สุด

10.  เสียเวลาไปกับการทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แถมก็ทำได้ดี แต่พอเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ๆ กลับทำผิดพลาด (Perfectionism) เสียนี่ หรือเรียกว่า เล็ก ๆ ทำ (ได้ดีเสียด้วย) แต่ใหญ่  ๆ ทำผิดพลาด

11.  อยากจะทำตัวให้เป็นคนที่คนอื่นรักอยู่เสมอ (Eagerness to please)เรียกว่าอยากสร้างภาพให้ตัวเองเป็นพ่อพระ หรือแม่พระ ภาพพจน์ตัวเองจะต้องดูดีเสมอ ซึ่งในชีวิตจริงของผู้นำนั้นจะต้องมีทั้ง ให้คุณ และ ให้โทษ กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ หรือในบางสถานการณ์ต้องการความชัดเจนเด็ดขาด หากผู้นำยังต้องการทำตัวให้เป็นที่รักของคนรอบข้างตลอดเวลานั้น ผู้นำท่านนั้นก็น่าจะพบปัญหาแล้วล่ะครับ

ที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังทั้งหมดข้างต้นนี้คงจะพอประยุกต์ใช้กับหัวหน้างานที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาในระดับถัด ๆ ลงมาจาก CEO ตลอดจนทุกท่านที่สนใจด้วยนะครับ เพราะคงไม่มีใครที่อยากจะย่ำอยู่ในตำแหน่งเดิมโดยไม่มีการเลื่อนตำแหน่ง หรือขาดความก้าวหน้าในงานใช่ไหมครับ  ในขณะเดียวกันแม้วันนี้ท่านอาจจะยังไม่ใช่ CEO แต่ท่านก็ลองดู CEO ของท่านในวันนี้สิครับว่าเขาอยู่ในข้อใดที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ หรือเขากำลังอยู่ในข้อใดที่กำลังจะนำพาตัวเขา (พร้อมทั้งตำแหน่ง) ไปสู่ความล้มเหลว เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับตำแหน่งหน้าที่การงานของท่านในวันข้างหน้าที่จะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำกับตัวอย่างที่ท่านได้เห็นแล้วไงครับ.



………………………..