ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะมักจะได้รับคำถามจากผู้คนรอบข้างอยู่บ่อยครั้งว่า “ถ้าจะเขียนใบลาออกจากบริษัทแล้วต้องรอให้บริษัทอนุมัติหรือไม่ เพราะบริษัทมีระเบียบว่าการลาออกนั้นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจเสียก่อน....”
ยกตัวอย่างเช่น นงนุชต้องการจะลาออกจากบริษัท จึงเขียนใบลาออกยื่นกับขจีซึ่งเป็นหัวหน้า ซึ่งตามระเบียบของบริษัทกำหนดไว้ว่าหากพนักงานต้องการจะลาออกจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน ไม่อย่างนั้นจะถือว่าการลาออกผิดกฎระเบียบของบริษัทนงนุชจึงทำตามกฎของบริษัทโดยเขียนใบลาออกยื่นให้ขจีตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เพื่อให้มีผลวันที่ 1 กรกฎาคมในเดือนถัดไป
ปรากฎว่าเมื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายนขจีก็ยังไม่ได้บอกให้นงนุชทราบเลยว่าบริษัทอนุมัติการลาออกหรือไม่ นงนุชเองก็ไม่แน่ใจว่าในวันที่ 1 กรกฎาคม นั้นจะต้องมาทำงานดีหรือไม่ เพราะถ้าไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมโดยที่บริษัทยังไม่อนุมัติการลาออก เดี๋ยวบริษัทจะเลิกจ้างด้วยเหตุละทิ้งหน้าที่เกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ตกลงนงนุชควรจะทำยังไงดีล่ะครับ ?
หรือถ้านงนุชมาทำงานในวันที่ 1 กรกฎาคม และทำไปจนสิ้นเดือนกรกฎาคม ขจีกลับมาบอกว่า “นงนุชจ๋า..ใบลาออกของเธอได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้วโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขอโทษทีที่ช้าหน่อยเพราะผู้อนุมัติไปเมืองนอกงานยุ่งมาก แต่ยังไงก็ตามเธอไม่ต้องมาทำงานในวันพรุ่งนี้แล้วนะจ๊ะ..สำหรับในเดือนกรกฎาคมที่เธอมาทำงานก็ถือว่าทำฟรีให้บริษัทก็แล้วกัน....”
อ้าว ! แล้วอย่างนี้ตกลงว่านงนุช “เสียค่าโง่” มาทำงานฟรีหรือครับ หรือว่ากรณีนี้ถือว่าใบลาออกไม่มีผลแล้ว ?
เป็นยังไงครับ ดู ๆ แล้ววุ่นวายดีไหมครับ ?
ใจเย็น ๆ ครับ เราค่อย ๆ มาถกปัญหานี้กันทีละเปลาะ แล้วท่านจะเข้าใจหลักได้ไม่ยากเย็นเลยดังนี้ครับ
สัญญาจ้างสิ้นสุดเมื่อใด ?
ในการทำงานนั้นย่อมต้องมีสัญญาจ้างไม่ว่าการจ้างนั้นจะมีเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตามถือว่าได้เกิดสภาพการจ้างขึ้นแล้ว เช่น การที่นายทวีคนงานพานางสมรศรีเป็นภรรยามาช่วยงานที่โรงงานเพราะเห็นว่าอยู่กับบ้านเฉย ๆ เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เมื่อนางสมรศรีมาทำงานในโรงงานก็ไม่ได้ค่าแรงอะไรเพราะถือว่ามาช่วยสามีทำงาน ซึ่งเถ้าแก่เฮงเจ้าของโรงงานมาเห็นเข้าก็ไม่ได้พูดว่าอะไรยังคงปล่อยให้นางสมรศรีทำงานต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่จ่ายค่าแรงเพราะเห็นว่าโรงงานได้ประโยชน์จากการที่ได้นางสมรศรีมาทำงานให้ฟรี ๆ
ลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเกิดสัญญาจ้างขึ้นแล้วโดยปริยายแม้ไม่มีสัญญาจ้างนะครับ !
เพราะหากนางสมรศรีไปร้องเรียนหรือไปฟ้องศาลแรงงานเมื่อไหร่ เถ้าแก่เฮงก็หนีความเป็นนายจ้างไปไม่พ้นหรอกครับ
คราวนี้ที่ผมพูดทิ้งไว้ว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดเมื่อไหร่นั้นก็บอกได้ว่าตามกฎหมายแรงงานแล้ว สัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อ
1. นายจ้างบอกเลิกจ้าง คือบริษัททำหนังสือเลิกจ้างแจ้งให้พนักงานทราบว่าไม่อยากจะจ้างคุณต่อไปอีกแล้วนะ ซึ่งสาเหตุของการเลิกจ้างคืออะไรก็ต้องบอกเอาไว้ด้วยให้ชัดเจน
2. ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง คือพนักงานเขียนใบลาออกโดยระบุวันที่มีผลที่จะไม่มาทำงานอีกต่อไปแล้วเอาไว้ด้วยนั่นเองครับ
3. สัญญาจ้างที่มีระยะเวลาที่แน่นอนชัดเจนระบุเอาไว้ว่าเริ่มต้นจ้างและสิ้นสุดการจ้างเมื่อไหร่ ดังนั้นเมื่อถึงระยะเวลาสิ้นสุด การจ้างนั้นก็สิ้นสุดไปโดยสัญญาจ้าง ซึ่งในกรณีนี้ลูกจ้างก็ไม่ต้องเขียนใบลาออก และนายจ้างก็ไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง เพราะถือว่าสัญญาจ้างบอกไว้ชัดแล้วว่าสิ้นสุดเมื่อใด ซึ่งในกรณีนี้ลูกจ้างต้องไม่กลับมาทำงานหรือมีการต่อสัญญาออกไปอีกนะครับ เพราะถ้าทำอย่างนั้นเมื่อไหร่จะถูกตีความว่าสัญญาจ้างนี้เป็น “สัญญาจ้างที่ไม่มีระยะเวลา” ไปในทันที ซึ่งจะต้องมีการเขียนใบลาออกจากลูกจ้างหากลูกจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญาจ้าง หรือนายจ้างต้องออกหนังสือเลิกจ้าง หากไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานต่อไป คือต้องกลับไปใช้เกณฑ์ในข้อ 1 และข้อ 2 นั่นเองครับ
การลาออกต้องให้บริษัทอนุมัติหรือไม่ ?
เมื่อท่านได้เข้าใจหลักของการบอกเลิกสัญญาจ้างข้างต้นไปแล้ว ดังนั้นในกรณีที่มีคำถามว่า “การลาออกต้องให้บริษัทอนุมัติหรือไม่ ?” นั้น ท่านคงจะได้คำตอบแล้วใช่ไหมครับ ?
ถูกต้องเลยครับ คำตอบก็คือ “ไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติจากบริษัทน่ะสิครับ” เพราะลูกจ้างแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างเอาไว้ในใบลาออกแล้วนี่ครับว่าต้องการจะให้มีผลเมื่อไหร่
ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดที่ลูกจ้างระบุไว้ในใบลาออกแล้ว ลูกจ้างจึงไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไป ซึ่งในกรณีนี้คุณนงนุชก็ไม่ต้องมาทำงานในวันที่ 1 กรกฎาคม โดยไม่ต้องรอให้บริษัทอนุมัติอีกยังไงล่ะครับ
แล้วถ้านงนุชมาทำงานในวันที่ 1 กรกฎาคม ล่ะใบลาออกยังมีผลหรือไม่ ?
คำถามนี้น่าคิดดีเหมือนกันนะครับ โดยในกรณีดังกล่าวนี้ได้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีแรงงานดังนี้คือ
ฎ.2214/2542
การลาออกเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะลาออกเมื่อใดและกำหนดวันลาออกของตนได้ แต่หลังจากครบกำหนดตามที่ระบุในใบลาออก ลูกจ้างยังคงทำงานต่อมาโดยนายจ้างยินยอมให้ทำงาน กรณีดังกล่าวถือได้ว่าลูกจ้างนายจ้างไม่ติดใจเอาใบลาออกเป็นข้อสำคัญอีกต่อไป ใบลาออกดังกล่าวจึงสิ้นผล
หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่านายจ้างอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ จึงเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง
ซึ่งในกรณีนี้หากบริษัทต้องการให้นงนุชพ้นสภาพพนักงานก็จะต้องเป็นการเลิกจ้างและต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมทั้งค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับนงนุชอีกด้วยครับ
.........................................
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์081-846-2525