วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

ทุจริตต่อหน้าที่..เจ็บแต่จบหรือจะยืดเยื้อแล้วเรื้อรัง

           เมื่อผมต้องสวมหมวกเป็นกรรมการวินัย ผมจะจำแนกความผิดที่จะสอบสวนเป็น 2 กรณีคือความผิดนั้น….

             1. ร้ายแรง

2. ไม่ร้ายแรง

ถ้าเป็นกรณีความผิดไม่ร้ายแรงก็ยังจะนำปัจจัยอื่นมาร่วมในการพิจารณาโทษได้ เช่น ผลงาน, พฤติกรรมที่ดีต่อบริษัทและเพื่อนร่วมงานในอดีต, การเป็นกำลังสำคัญของบริษัท ฯลฯ 

ในที่สุดก็อาจจะมีการออกหนังสือตักเตือนเพื่อให้ผู้กระทำผิดมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขตัวเอง และก็ไม่ถึงกับต้องเลิกจ้าง

แล้วถ้าเป็นกรณีความผิดร้ายแรงเช่นการทุจริตต่อหน้าที่ล่ะ ผมมีหลักคิดยังไง?

การทุจริตต่อหน้าที่ถือเป็นฐานความผิดร้ายแรงตามม.119 ของกฎหมายแรงงานที่บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

บางครั้งหัวหน้าของพนักงานทุจริตก็จะพยายามช่วยลูกน้องที่ทุจริตโดยอ้างเหตุผลในที่ประชุมคณะกรรมการวินัยว่าขอให้นำความดีในอดีตของลูกน้องที่ทุจริตมาลดหย่อนโทษ 

แถมให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่าลูกน้องก็ทุจริตเงินแค่หลักหมื่นบาทเอง ควรให้โอกาสปรับปรุงแก้ไขด้วยการออกหนังสือตักเตือนก็พอ!!

หรือให้เหตุผลว่าถ้าเลิกจ้างลูกน้องคนนี้เดี๋ยวจะหาคนมาทำงานแทนได้ยากเดี๋ยวงานจะมีปัญหา

หรือบ้างก็บอกว่าลูกน้องเป็นเสาหลักของครอบครัว ถ้าเขาถูกเลิกจ้างจะทำให้ลูกต้องออกจากโรงเรียนเพราะไม่มีเงินส่งลูกเรียน!!??

ทำให้กรรมการวินัยบางคนที่จิตอ่อนจิตตกง่ายก็จะคล้อยตามไปว่าถ้าบริษัทลงโทษเลิกจ้างพนักงานทุจริตคนนี้ก็เท่ากับตัวเองจะเป็นผู้ร้ายทำลายครอบครัวเขาไปโน่น

คำถามที่ผมต้องถามกลับไปในที่ประชุมหรือระหว่างการสอบสวนก็คือ “ถ้าเราเลิกจ้างพนักงานที่ทุจริต ใครคือตัวต้นเหตุตัวจริงที่ทำให้ครอบครัวเขาเดือดร้อนกันแน่?”

คนที่เป็นกรรมการวินัยควรจะต้องมีตรรกะในการคิดแบบ Logical Thinking ให้ดีว่า การทุจริตไม่ว่าจะหมื่นบาทหรือล้านบาทจะมีฐานความผิดเท่ากันหรือไม่?

หรือการทุจริตหลักหมื่นบาทควรจะมีโทษน้อยกว่าทุจริตหลักล้านบาท?

ถ้าบริษัทเลิกจ้างพนักงานที่ทุจริตไม่ได้ เพราะเหตุผลว่าเดี๋ยวไม่มีคนทำงาน ก็แปลว่าไม่ว่าพนักงานคนนี้จะทุจริตหรือทำผิดอะไรยังไงก็ไล่ออกไม่ได้เลยงั้นหรือ แล้วถ้าพนักงานคนอื่นทำผิดอย่างเดียวกันนี้ล่ะเราจะใช้หลักการอะไรในการตัดสินใจ

คำถามที่น่าคิดต่อไปคือบริษัทจะไว้วางใจพนักงานที่ทุจริตต่อไปได้อีกมากน้อยแค่ไหน 

พนักงานคนนี้ยังจะมี Career Path เติบโตไปกับบริษัทได้อีกหรือไม่ 

บริษัทจะไว้วางใจให้พนักงานรายนี้ได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งรับผิดชอบสูงขึ้นไปได้อีกไหม 

จะไว้วางใจให้อนุมัติหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับงบประมาณ ค่าใช้จ่ายอีกหรือไม่

จะเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานคนอื่น ๆ เห็นหรือไม่ว่าใครทุจริตก็ไม่เป็นไรเพราะยังไงบริษัทก็ยังคงจ้างต่อไป อย่างมากก็แค่ตักเตือน แล้วก็จะเกิด Me too ตามมาในเคสต่อไป

คงต้องเลือกกันเอาเองแหละครับว่าระหว่าง “เจ็บแต่จบ” หรือ “ยืดเยื้อแล้วเรื้อรัง” ผู้บริหารจะตัดสินใจแบบไหนกับความผิดร้ายแรงเช่นกรณีทุจริต

อ่านมาถึงตรงนี้คงทราบการตัดสินใจของผมแล้วนะครับ