ก่อนหน้านี้ผมวิเคราะห์เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดว่าจังหวัดไหนมีเปอร์เซ็นต์การปรับมาก-น้อยเท่าไหร่โดยจัด 5 อันดับแรกไปแล้วนั้น (ใครที่ยังไม่ได้อ่านก็ตามไปอ่านได้ใน Blog ของผมนะครับ) อันนั้นถือเป็น EP 1 ก็แล้วกัน
สำหรับตอนนี้นับเป็น
EP 2 ครับ
แน่นอนว่าเมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใด
คนที่รับผิดชอบงานด้าน Com
& Ben (Compensation & Benefits) ก็จะต้องคิดต่อโดยอัตโนมัติว่า
“บริษัทของเราจำเป็นจะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิด้วยหรือไม่?”
แน่นอนว่าถ้าเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีน้อย
ผลกระทบที่จะทำให้เกิดความจำเป็นต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิต่าง ๆ
ตั้งแต่ปวช.ขึ้นไปก็จะมีน้อย ซึ่งบางครั้งก็ไม่ต้องมีการปรับใด ๆ
แต่ถ้าเมื่อไหร่มีเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูง
ก็จะทำให้บริษัทต่าง ๆ
จำเป็นต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2555-56 ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ
215 บาทเป็น 300 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ
40 เปอร์เซ็นต์) ก็จะมีผลกระทบทำให้บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิเพิ่มขึ้นตาม
ทำให้อัตราเริ่มต้นปริญญาตรี (สายสังคมศาสตร์) ในเวลานั้นเพิ่มขึ้นเป็น 15,000
บาท จากเดิมที่จ้างอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาท
ในขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อ
1 มค.67 มีค่าเฉลี่ยการปรับขึ้นประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไม่จำเป็นต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิเพื่อหนีผลกระทบ
เนื่องจากเรามักใช้อัตราเริ่มต้นตามวุฒิปริญญาตรีเป็น
Benchmark
ใน EP นี้ผมก็เลยขอยกตัวอย่างเฉพาะการปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์เป็นหลักนะครับ
แล้วการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่มีผล 1 มค.68
ล่ะ มีผลกระทบกับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิหรือไม่?
ดูตารางข้างล่างนี้ครับ
จากตารางนี้มีอะไรน่าสนใจอยู่หลายเรื่อง
ซึ่งผมขอนำเอาเฉพาะจังหวัดที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดคือสุราษฎร์ธานี
(เฉพาะอ.เกาะสมุย) และค่าจ้างขั้นต่ำมากรองลงมาเป็นอันดับ 2
และ 3 คือจังหวัดฉะเชิงเทรา
ชลบุรี ระยองมาเปรียบเทียบกับกรุงเทพและปริมณฑลที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่ต่ำกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ตามตารางด้านล่าง
ผมมีข้อสังเกตคือ
1.
สมมุติว่าบริษัทในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(เกาะสมุย)
ปรับเงินเดือนเริ่มต้นตามวุฒิปริญญาตรีเพื่อหนีผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำในเปอร์เซ็นต์เท่ากับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้คือ
15.94%
จะทำให้อัตราเริ่มต้นตามวุฒิของเกาะสมุยเท่ากับ 19,130 บาท
2.
โดยวิธีเดียวกับข้อ 1 บริษัทในจังหวัดฉะเชิงเทราจะปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปริญญาตรีเป็น
18,857 บาท และบริษัทในจังหวัดชลบุรี/ระยองจะปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปริญญาตรีเป็น
18,283 บาทตามลำดับ
3.
ในขณะที่บริษัทในกทม.และปริมณฑลมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ
2.48%
ถ้าจะปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปริญญาตรี
ก็จะมีอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปริญญาตรีเป็น 16,909 บาท ซึ่งต่ำกว่าเกาะสมุย
ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองเพราะมีเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยกว่า
4.
ข้อมูลอัตราเริ่มต้นตามวุฒิต่าง ๆ
(เป็นค่าเฉลี่ยเฉพาะเงินเดือนอย่างเดียวนะครับ) ในขณะนี้คือปวช.=12,500 บาท ปวส.=14,000 บาท ปริญญาตรี (สายสังคมศาสตร์)=16,500
บาท ปริญญาตรี (สายวิศวกรรมศาสตร์)=22,000 บาท
ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดที่ปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาทจะตกเดือนละ
12,000 บาท
5.
จากข้อมูลอัตราเริ่มต้นตามวุฒิในข้อ 4 จะเห็นได้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ
400 บาทจะไล่บี้อัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.เข้ามามากและมี Gap
เพียง 500 บาท คำถามคือถ้าบริษัทในจังหวัดที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น
400 บาทจะยังไม่ต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิได้หรือไม่
ก็ตอบว่าได้ครับตราบใดที่บริษัทยังจ่ายให้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ
แต่ถ้าคู่แข่งในท้องถิ่นเขาปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิเพิ่มขึ้นแล้วบริษัทของเราไม่ได้ปรับ
น้อง ๆ ที่จบใหม่เขาอยากจะมาทำงานกับบริษัทเราหรือไม่ อันนี้ก็ต้องคิดกันให้ดี ๆ
6.
ถ้ามองในด้านการกระจายแรงงานหากมีการปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิในจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ
400 บาทเพื่อหนีผลกระทบ
ก็อาจจะเป็นการกระจายแรงงานออกจากกทม.และปริมณฑลไปทำงานในจังหวัดที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่าก็เป็นไปได้นะครับ
ถ้าบริษัทในจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาทวางกลยุทธ์ด้านค่าจ้างเงินเดือนให้ดีก็จะเป็นโอกาสดึงคนที่มีการศึกษาทั้งคนจบใหม่และมีประสบการณ์ทำงานที่มีคุณภาพจากส่วนกลางออกไปภูมิภาคได้ครับ
ใครมีไอเดียอะไรที่น่าสนใจจะเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์กับส่วนรวมก็แชร์มาได้เลยนะครับ