ถึงวันนี้ยังมีความเข้าใจที่สับสนกันระหว่างโครงสร้างเงินเดือน (Salary
Structure) กับโครงสร้างค่าจ้างหรือโครงสร้างค่าตอบแทน (Compensation
Structure) ว่าเหมือนกันหรือไม่อย่างไร
หลายคนอาจจะไปเข้าใจว่ามันคือตัวเดียวกัน
ผมก็เลยขออธิบายให้เห็นความแตกต่างให้ชัดเจนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับทั้งสองโครงสร้างดังนี้
1.
โครงสร้างเงินเดือน
(Salary Structure) ทำมาจากการสำรวจตลาดค่าตอบแทนโดยนำตำแหน่งต่าง
ๆ ในแต่ละ Job Grade (ที่ผ่านการประเมินค่างานแล้ว)
ไปดูว่าตลาดเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่
แล้วออกแบบโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทให้แข่งขันกับตลาดได้ โดยใช้เงินเดือนมูลฐาน
(Base Salary หรือ Basic Salary) เป็นตัวกำหนดกระบอกเงินเดือน
(Min ถึง Max) ในแต่ละ Job
Grade
2.
เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จจะมีหลักการว่าในการจ้างพนักงานเข้ามาใหม่หรือพนักงานที่ทำงานอยู่ในทุกตำแหน่งงานในแต่ละ
Job Grade ควรจะมีเงินเดือนมูลฐานไม่ต่ำกว่า
Min และไม่เกิน Max ของกระบอกเงินเดือนนั้น
ๆ
3.
เงินอื่น ๆ
ที่บวกเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนมูลฐาน เช่น ค่าครองชีพ, ค่าภาษา, ค่าตำแหน่ง, ค่าวิชาชีพ
ฯลฯ จะถือเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นที่บริษัทจ่ายเพิ่ม
จึงเรียกเงินเดือนมูลฐาน+เงินอื่น ๆ ว่าเป็น “โครงสร้างค่าจ้าง” สำหรับตำแหน่งนั้น
ๆ
4.
จึงสรุปได้ว่าโครงสร้างค่าจ้างจะไม่ได้ถูกกำหนดเป็นกระบอก
Min-Max เหมือนโครงสร้างเงินเดือน
แต่โครงสร้างค่าจ้างคือการนำเงินเดือนมูลฐานรวมเข้ากับค่าตอบแทนตัวอื่น
ๆ สำหรับแต่ละตำแหน่งงาน เพื่อให้พนักงานเห็นว่านอกเหนือจากเงินเดือนมูลฐานแล้ว บริษัทยังจ่ายเงินเพิ่มอื่น ๆ
ให้อีกเมื่อรวมกันแล้วก็จะทำให้พนักงานมีรายได้สูงมากกว่าการได้รับเงินเดือนมูลฐานเพียงตัวเดียว
5.
โครงสร้างค่าจ้างในตำแหน่งต่าง
ๆ อาจจะต่างกันไปตามลักษณะงานของแต่ละตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งที่อยู่ใน Job Grade เดียวกันก็อาจจะมีโครงสร้างค่าจ้าง
(คือเงินเดือน+ค่าตอบแทนตัวอื่น ๆ) แตกต่างกันไปตามที่บริษัทเห็นสมควรก็ได้
6.
จากตัวอย่างโครงสร้างเงินเดือน
(ตามภาพประกอบด้านล่าง) ผมขอยกตัวอย่างว่าใน Job Grade 3
จะเห็นว่าหัวหน้างานของแต่ละฝ่ายอยู่ใน Job Grade นี้ ซึ่งเงินเดือนมูลฐาน (Base Salary) ของหัวหน้างานทุกตำแหน่งของบริษัทไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายใดจะต้องไม่ต่ำกว่า
16,060 บาท และสูงสุดต้องไม่เกิน 32,120 บาท ตามโครงสร้างเงินเดือนของ Job Grade 3
7.
ผมสมมุติว่าใน
Job Grade 3 นี้
มีหัวหน้างานสองคนคือ หัวหน้างานแผนกบัญชี กับ หัวหน้างานแผนกช่าง
ทั้งสองคนนี้จะอยู่ใน Job Grade เดียวกันและอยู่ใน
“โครงสร้างเงินเดือน” เดียวกัน
แต่บริษัทอาจจะมีการกำหนด “โครงสร้างค่าจ้าง”
ที่แตกต่างกันตามลักษณะงาน
(ดูภาพประกอบโครงสร้างค่าจ้างหัวหน้างานแผนกบัญชีกับหัวหน้างานแผนกช่าง)
จากตัวอย่างโครงสร้างค่าจ้างดังกล่าว
(ผมสมมุติว่าหัวหน้างานทั้งสองคนนี้เงินเดือนเท่ากันนะครับจะได้เห็นตัวเลขเปรียบเทียบได้ชัดหน่อย)
จะเห็นได้ว่าหัวหน้างานแผนกบัญชีจะมีโครงสร้างค่าจ้างที่น้อยกว่าหัวหน้างานแผนกช่าง
เพราะช่างต้องใช้วิชาชีพเฉพาะทาง บริษัทจึงมีค่าวิชาชีพเพิ่มให้อีกเดือนละ 1,000 บาท
ดังนั้นทั้งหัวหน้างานแผนกบัญชีและและหัวหน้างานแผนกช่างต่างก็จะมีเงินเดือนอยู่ในโครงสร้างเงินเดือน
(ใน Job Grade 3) เดียวกันหรืออยู่ในกระบอกเดียวกัน
แต่ทั้งสองตำแหน่งนี้จะมีโครงสร้างค่าจ้างตามตำแหน่งงานที่แตกต่างกันไปตามนโยบายของบริษัท
ผมอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างมาถึงตรงนี้แล้วก็หวังว่าเราจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง
“โครงสร้างเงินเดือน” และ “โครงสร้างค่าจ้าง” ได้ตรงกันแล้วนะครับ
เลยขอปิดท้ายตรงนี้ว่า..
โครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างค่าจ้างไม่เหมือนกัน
เป็นคนละตัวกัน และจะใช้ในบริบทที่ต่างกันครับ