วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๐ ครับ


สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๐ ผู้อ่านบล็อกนี้ทุกท่านนะครับ

ปีเก่าเวียนผ่านพ้น    ล่วงไป
ดังเช่นสายน้ำไหล   ผ่านแล้ว
มีแต่ล่วงเลยไป        จะไม่ หวนกลับ
ขอสิ่งเลวร้ายแคล้ว  ผ่านพ้น เช่นกัน

ขอปีใหม่ส่งให้          สมหวัง
ทุกสิ่งสำเร็จดัง         มุ่งไว้
เป็นปีที่คงยัง            ดังเด่น รุ่งโรจน์
ให้มั่นคงแน่ไซร้       สิ่งร้าย กลายดี




วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หักเงินเมื่อมาทำงานสาย..มีวิธีอื่นเพื่อแก้ปัญหานี้อีกไหม ?

            วันนี้ผมมีดราม่าเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ท่านฟังกันอีกแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าดราม่าเรื่องนี้เกิดในบริษัทหลาย ๆ แห่งอย่างสม่ำเสมอซะด้วย

          ก็เรื่องการหักเงินเมื่อพนักงานมาทำงานสายไงล่ะครับ เป็นไงครับเป็นประเด็นเรียกแขกดีไหมล่ะ ?

            หลายบริษัทชอบมีกฎระเบียบในทำนองที่ว่า....

 ถ้าหากพนักงานมาทำงานสายบริษัทจะหักเงินเดือน เช่น กำหนดเวลามาทำงาน 8.00 น. ถ้ามาสายเกินเวลานี้ 3 ครั้งในหนึ่งเดือน จะหักเงินเดือนเท่ากับ 1 วัน ยกตัวอย่างเช่น พนักงานเงินเดือน 9,000 บาท คิดเป็นรายวันคือ 300 บาท ถ้ามาสาย 3 ครั้งในเดือนนี้ก็จะถูกหักเงินเดือนไป 300 บาท เหลือรับในเดือนนี้เท่ากับ 8,700 บาท เป็นต้น

ถามว่าบริษัทจะออกกฎระเบียบทำนองนี้มาบังคับใช้ได้หรือไม่ ?

ถ้าดูตามมาตรา 76 ของกฎหมายแรงงานแล้วจะพูดถึงเรื่องการหักเงินจากลูกจ้างไว้ดังนี้

มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
(๑)  ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
(๒)  ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
(๓) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
(๔) เป็นเงินประกันตามมาตรา ๑๐ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
(๕)  เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม
การหักตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา ๗๐ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

ดังนั้น ถ้าจะคิดแบบเร็ว ๆ ตามมาตรานี้ก็จะบอกว่า “หักเงินค่ามาสายไม่ได้” ครับ

แต่....ถ้ากรณีนี้เป็นกรณี “ไม่จ่ายค่าจ้าง”  เนื่องจากลูกจ้างไม่มาทำงานให้นายจ้างล่ะ ?

ผมยกตัวอย่างเช่น กรณีพนักงานขาดงานไป 1 วันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อบริษัทไม่อนุญาตโดยถือว่าขาดงาน (ไม่ได้มาทำงานจริง) บริษัทมีสิทธิจะ “ไม่จ่าย” (ไม่ใช่หักเงินนะครับ) พนักงานรายนี้หรือไม่ ?

ก็ตอบได้ว่าถ้าบริษัทมีกฎระเบียบเรื่องของการไม่จ่ายค่าจ้างเนื่องจากลูกจ้างไม่ได้มาทำงานให้กับบริษัทในลักษณะที่เรียกกันว่า No work no pay” บริษัทก็สามารถไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่พนักงานขาดงานได้ครับ แต่เรามักจะเรียกกันว่า “หักเงิน” ในวันที่ขาดงานกันจนติดปาก

ในกรณีมาสายก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อพนักงานมาสายไม่ได้มาทำงานตามเวลาที่กำหนด หากบริษัทมีกฎระเบียบในเรื่องการไม่จ่ายเนื่องจากพนักงานไม่ได้มาทำงานให้กับบริษัทในเวลาทำงาน บริษัทก็ย่อมจะมีสิทธิ “ไม่จ่าย” ตามเวลาที่พนักงานยังไม่มาทำงานได้

เพียงแต่การไม่จ่ายเงินเมื่อพนักงานมาทำงานสายตามตัวอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นไม่เป็นธรรมเพราะไม่ได้คิดตามเวลาที่พนักงานมาสาย นั่นคือควรจะต้องมาคำนวณว่าในเดือนนั้นพนักงานมาสายรวมกี่นาที พนักงานได้ค่าจ้างนาทีละกี่บาท แล้วนำค่าจ้างต่อนาทีคูณจำนวนนาทีที่มาสายถึงจะเป็นธรรมครับ

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ วิธีการไม่จ่ายค่าจ้างเมื่อลูกจ้างมาทำงานสายเป็นวิธีที่จะแก้ปัญหาการมาสายได้จริงหรือ ? แล้วไม่มีวิธีอื่นจะทำนอกจากนี้บ้างหรือ ?

โดยความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการหักเงินค่ามาสายทำนองนี้นัก เพราะจากประสบการณ์ของผม มักจะพบว่าพนักงานยอมให้บริษัทหักเงินเมื่อเขามาสายได้แต่บริษัทจะมาออกใบเตือนอะไรเขาไม่ได้เพราะยอมจ่ายค่ามาสาย (ซึ่งเขาถือว่าบริษัทได้ลงโทษเขา) แล้วจะตักเตือนอะไรกันอีก

ผมกลับมองว่ากรณีพนักงานมาทำงานสายนั้น  บริษัทน่าจะมีวิธีปฏิบัติได้ดังนี้

1.      ดำเนินการทางวินัยตามระเบียบอย่างชัดเจน เช่น ตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร หากพนักงานยังมาสายทำผิดซ้ำคำเตือนในครั้งสุดท้ายที่บอกว่าถ้าพนักงานมาสายอีกก็จะเลิกจ้าง บริษัทก็ทำตามนั้น ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานทราบว่าบริษัทจะมีหลักในการปฏิบัติกับพนักงานในลักษณะแบบนี้กับทุกคนที่มาทำงานสาย คือพูดง่าย ๆ ว่าถ้ามีการขันน็อตเรื่องนี้กันอย่างจริงจังโดยไม่ต้องมีระเบียบเรื่องการหักเงินค่ามาสายเข้ามาวุ่นวายใจกันทั้งสองฝ่าย หรือ

2.       บริษัทอาจจะกำหนดวิธีปฏิบัติอีกแบบหนึ่งที่น่าจะสร้างแรงจูงใจที่ดีกว่าการหักเงินค่ามาสาย เช่น สมมุติให้พนักงานทุกคนมีคะแนนการมาทำงานทั้งปีเท่ากับ 100 คะแนน ถ้าพนักงานคนใดมาสาย 1 ครั้งหักครั้งละ 5 คะแนน หากคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนนบริษัทจะไม่จ่ายโบนัสให้กับพนักงานคนนั้น โดยไม่ต้องมาหักเงินค่ามาสายอีกเช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้ทำควบคู่กับการตักเตือนตามข้อ 1 ไปด้วยก็ยังได้

         ที่สำคัญคือคนที่เป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานนั้น ๆ ได้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกน้องในเรื่องการมาทำงานแล้วหรือยัง? ไม่ใช่หัวหน้ามาสายเสมอ หรือออกไปกินข้าวกลางวันก็ 2-3 ชั่วโมง ฯลฯ ให้ลูกน้องเห็นเป็นประจำ 

            แล้วอย่างนี้จะมีหน้าไปตักเตือนให้ลูกน้องมาทำงานตรงเวลา รักษาผลประโยชน์ให้บริษัทได้ยังไงล่ะครับ ?

            ฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับ


………………………………………

วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ความภูมิใจเล็ก ๆ ของคนทำงาน HR


           เปิดบล็อก http://tamrongsakk.blogspot.com มาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 นับถึงวันนี้ก็ประมาณ 5 ปีเศษ ๆ
จากจุดเริ่มต้นในการลงบทความด้าน HR ไป 19 เรื่องในวันนั้นก็ตั้งใจว่าจะเขียนถ่ายทอดเรื่องราวด้าน HR ให้ได้สัปดาห์ละ 1 เรื่อง 

            มาถึงวันนี้ก็ราว ๆ 400 เรื่อง

            แต่ละเรื่องเป็นเรื่องที่เขียนมาจากประสบการณ์ทำงานด้าน HR ที่พบเห็นมาผมบอกเสมอว่าเรื่องที่ผมแชร์ไปนั้นเป็นประสบการณ์เป็นความคิดเห็นของผมที่เคยพบเจอมาจากการทำงานกว่า 30 ปี

            จึงไม่ใช่ทฤษฎี ไม่ใช่ตำรา แต่เป็นเรื่องที่นำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสอนในตำราเพื่อให้ผู้อ่านเกิดไอเดียในการนำไปประยุกต์ใช้งานในส่วนที่เป็นประโยชน์กับท่านเท่านั้น

             ท่านผู้อ่านจึงควรใช้หลักกาลามสูตรด้วย คืออย่าเชื่อว่าทุกอย่างที่ผมบอกไปจะถูกไปทั้งหมด!!

             ท่านต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมและคิดไตร่ตรองด้วยสติปัญญาของท่านให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเชื่อและนำไปใช้

              วันนี้มีคนเข้ามาดูมาอ่านบล็อกนี้แล้วห้าแสนกว่าวิวและคงจะถึงหกแสนวิวในเร็ว ๆ นี้ เฉลี่ยคนเข้ามาอ่านประมาณ 100,000 วิวต่อปี หรือประมาณ 8,000 วิวต่อเดือน

               เป็นเรื่องที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีคนสนใจเข้ามาอ่านบล็อกเล็ก ๆ ได้ขนาดนี้

               จึงเป็นความภูมิใจของคนทำบล็อกนี้ว่าเรื่องราวที่แชร์ไปคงจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างแหละน่าไม่งั้นคงไม่มีคนสนใจเข้ามาอ่านกันแบบนี้หรอก (คิดเข้าข้างตัวเองมากไปไหมเนี่ยะ :-)

                จากจุดนี้เลยเป็นกำลังใจกับผมและคิดว่าจะแชร์ความรู้และประสบการณ์แบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว

                ที่พูดมานี้ไม่ได้ต้องการจะอวดหรือโชว์ภูมิรู้อะไรทั้งนั้นนะครับ

                เพียงแต่อยากจะแชร์เรื่องนี้ให้เป็นข้อคิดว่า ถ้าหากท่านมีความรู้ที่ดี ๆ ในเรื่องใดก็ตามและเห็นว่าเรื่องนั้นเป็นประโยชน์กับผู้คน ท่านจะสามารถแบ่งปันความรู้นั้นให้กับคนรอบข้างได้เช่นเดียวกัน

              เพราะยังมีคนอื่นอีกมากมายที่ยังไม่รู้ในเรื่องที่เรารู้นะครับ

                วันนี้ทุกคนมีสื่อโซเชียลอยู่ในมืออยู่แล้ว ถ้าเรามาช่วยกันแชร์เรื่องดี ๆ ต่อสังคมก็จะเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งผู้ให้และผู้รับเหมือนกับคำที่ว่า.... 

             “ยิ่งให้เท่าไหร่..ยิ่งได้มากขึ้นเท่านั้น”

                อย่างน้อยก็ได้มิตรภาพ ได้ความรู้สึกดี ๆ จากคนที่อ่านเรื่องที่เราแชร์ให้กับสังคมกลับมาบ้างแหละน่า....

                จริงไหมครับ ?


………………………………………….