วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทำยังไงถึงจะเป็นหัวหน้าที่ดีและลูกน้องรัก

            ผมเชื่อว่าคนทุกคนที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บังคับบัญชาก็ล้วนแต่อยากจะเป็นที่รักสำหรับลูกน้องกันทั้งนั้น คงไม่มีใครอยากเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องเกลียดหรอกจริงไหมครับ

            แต่ทำไมถึงยังมีหัวหน้าที่ลูกน้องไม่รักอยู่ล่ะ ?

            ลองกลับมาทบทวนวัตรปฏิบัติของหัวหน้ากันดูสักนิดดีไหมครับว่าอะไรคือพฤติกรรมหรือสิ่งที่หัวหน้างานควรปฏิบัติกับลูกน้องบ้าง

1. เป็นหัวหน้าที่รู้จักการให้ (ท่านเคย “ให้” อะไรลูกน้องบ้าง  ?) : ทาน
-          ให้กำลังใจ, ให้คำปลอบใจในยามที่ลูกน้องเริ่มท้อ (Cheer up)
-          ให้คำชมเชย/ให้เครดิตลูกน้องเมื่อเขาทำงานสำเร็จ
-          พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหารือ/ให้ความช่วยเหลือลูกน้อง
-          ไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ซื้อของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเลี้ยงลูกน้องบ้าง
-          รู้จัก Happy Birthday ลูกน้องบ้าง
2. หัวหน้างานต้องระมัดระวังการประพฤติปฏิบัติให้ดีทั้งกาย วาจา ใจ : ศีล
-          หัวหน้าจะอยู่ในสายตาของลูกน้องอยู่เสมอ หัวหน้าต้องระวังพฤติกรรมการแสดงออก  คำพูดคำจากับลูกน้องอยู่เสมอ เพราะหัวหน้ากับลูกน้องจะเหมือนกับพ่อแม่กับลูก (ลูกจะมองพ่อแม่อยู่เสมอและจะจดจำพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีของพ่อแม่อยู่เสมอ, ลูกน้องกับหัวหน้าก็เหมือนกัน)
-          ไม่แสดงกิริยาวาจาก้าวร้าว ดูถูกลูกน้อง หรือพูดจาห้วนไม่มีหางเสียง ทำตัวเป็นนายมองลูกน้องเป็นทาสหรือต่ำกว่า (ความจริงก็เป็นลูกจ้างของบริษัทเหมือนกันนั่นแหละแต่จะต่างกันก็แค่ตำแหน่ง)
3. หัวหน้างานต้องมีความเสียสละ : ปริจจาคะ
-          เป็นหัวหน้าที่เคยเสียสละให้ลูกน้องบ้างไหม เช่น ลูกค้าเอากระเช้ามาอวยพรปีใหม่ให้กับหัวหน้า แล้วหัวหน้าเอากระเช้าเหล่านั้นกลับบ้านหน้าตาเฉย โดยไม่เคยเสียสละให้กับลูกน้องและคิดว่ากระเช้าเหล่านั้นก็เป็นผลงานของลูกน้องด้วย
4. หัวหน้างานต้องมีความซื่อตรง : อาชชวะ
-          ไม่ทุจริตคดโกงบริษัทแม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ ก็ตาม และต้องจัดการกับลูกน้องที่ทุจริตให้ทุกคนเห็นเป็นตัวอย่าง
-          พฤติกรรมเรื่องความซื่อตรงของหัวหน้างานถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าหัวหน้างานขาดความซื่อตรงแล้วลูกน้องจะขาดความเชื่อถือศรัทธา ยอมรับทันที เพราะความลับไม่มีในโลก ดังนั้นพฤติกรรมความซื่อตรงซื่อสัตย์ของหัวหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ
5. หัวหน้างานต้องมีความอ่อนโยน : มัททวะ
-          ความอ่อนโยนไม่ใช่อ่อนแอ แต่หมายถึงหัวหน้างานควรจะเป็นคนที่ให้เกียรติคนพูดจาสุภาพกับคนรอบข้างแม้ว่าคน ๆ นั้นจะมีตำแหน่งต่ำกว่าก็ตาม
6. หัวหน้างานต้องมีความเพียรพยายามมีความมุ่งมั่นไม่ท้อถอยง่าย : ตปะ
-          ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญตัวหนึ่งที่ Dr.Dave Ulrich (ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งเป็นคนที่วงการ HR ยอมรับว่าเป็น Guru ด้าน HR ยุคปัจจุบัน) บอกว่าจะต้องมี Commitment  คือต้องมีความมุ่งมั่นในผลสำเร็จไม่ท้อถอยถอดใจง่าย เมื่อมีความตั้งใจแล้วต้องมีความแน่วแน่และทำจริงจนบรรลุเป้าหมาย
-          ไม่ว่าจะพบกับปัญหามากแค่ไหนหัวหน้างานก็จะต้องมีความมุ่งมั่นมีความเพียรที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จให้ได้
-          หากหัวหน้ามีความเพียรพยายามอย่างนี้แล้ว ลูกน้องก็จะเกิดแรงฮึดตามไปด้วย
7. หัวหน้างานต้องมีการควบคุมอารมณ์ให้ดีไม่โกรธง่าย : อักโกธะ
-           ไม่มีลูกน้องคนไหนอยากได้หัวหน้าที่มีวาจาเป็นอาวุธ ดาวพุธเป็นวินาศ จุดเดือดต่ำฟิวส์ขาดง่าย อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดัง ดังนั้นหัวหน้างานจะต้องมีสติและควบคุมอารมณ์เอาไว้ให้ได้อยู่เสมอ แม้ในเวลาที่โกรธมากก็ตาม
-          ดังนั้นถ้าหัวหน้างานเป็นคนขี้โมโห อีคิวต่ำ ลูกน้องก็จะมองด้วยสายตาหวาดระแวงไม่อยากเข้าใกล้เป็นธรรมชาติมนุษย์ของครับ หัวหน้างานจึงต้องมีสติและหาทางระงับความโกรธท่านเคยเห็นใครที่แก้ปัญหาสำเร็จด้วยความโกรธบ้างไหมล่ะครับ
8. หัวหน้างานไม่ควรเบียดเบียนลูกน้อง : อวิหิงสา
-          เช่น ไม่ควรไปแจกซองกฐินผ้าป่าหรือเรี่ยไรเงินกับลูกน้องเพราะลูกน้องอาจจะต้องจำใจทำบุญ แทนที่จะได้บุญกลับจะทำให้ลูกน้องเอาไปนินทา
-          เป็นเจ้ามือหวยหรือเป็นคนปล่อยเงินกู้ให้ลูกน้อง
-          เอางานส่วนตัวที่ไม่ใช่เรื่องงานมาให้ลูกน้องทำ เช่นบางคนเรียนต่อภาคค่ำหรือวันหยุดก็เอารายงานต่าง ๆ ที่อาจารย์มอบหมายให้ทำไปให้ลูกน้องทำต่อในเวลางานซึ่งลูกน้องก็ไม่ได้อยากทำเพราะไม่ใช่งานที่ลูกน้องต้องรับผิดชอบสักหน่อย แต่ต้องจำใจทำเพราะเกรงในความเป็นหัวหน้า เป็นต้น
9. หัวหน้างานต้องมีความอดทนอดกลั้น : ขันติ
-          แม้จะมีเหตุการณ์ไม่ดีเข้ามากระทบ หรือพบกับเรื่องที่ไม่พอใจหัวหน้างานก็ควรจะต้องเก็บอาการให้ดี มีขันติไม่แสดงอาการหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาให้ลูกน้องเห็น เช่นถูกพูดยั่วยุจากผู้ที่มีความขัดแย้งกันในเรื่องงาน หรือถูกหัวหน้าระดับที่สูงกว่าตำหนิแบบไม่มีเหตุผล หัวหน้างานก็ควรจะต้องมีความอดทนอดกลั้นไม่ฟิวส์ขาดง่ายและหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยสติมากกว่าใช้อารมณ์โต้ตอบออกไป
10. หัวหน้างานควรจะต้องประพฤติตัวดีไม่ทำตัวผิดทำนองคลองธรรม : อวิโรธนะ
-          หัวหน้างานควรจะต้องระมัดระวังความประพฤติที่ไม่ถูกต้อง เช่น หัวหน้าไม่ควรมีเรื่องชู้สาวกับลูกน้อง หรือฉวยโอกาสแต๊ะอั๋งลวนลามลูกน้อง (ทำงานตัวเป็นเกลียวแต่หัวเป็นงู)

ทั้งหมด 10 ข้อข้างต้นคือหลัก “ทศพิศราชธรรม” นั่นเองที่ถ้าหากหัวหน้างานหรือผู้นำทีมงานได้น้อมนำหลักนี้มาใช้ในการทำงานก็จะทำให้หัวหน้าคนนั้นเป็นคนที่มีพฤติกรรมที่ลูกน้องยอมรับ ศรัทธา

ผมอยากให้หัวหน้างานทุกท่านได้ลองหันกลับมาสำรวจพฤติกรรมที่ตนเองได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันโดยไม่เข้าข้างตัวเองดูนะครับว่าท่านได้ปฏิบัติในข้อไหนได้ดีอยู่แล้ว หรือควรจะปรับปรุงข้อไหนให้ดีขึ้นเพื่อที่จะได้เป็นหัวหน้าที่ดีและลูกน้องรัก ทำงานด้วยกันด้วยความราบรื่นและลดปัญหาในการทำงานร่วมกันลงครับ

ปิดท้ายผมมีกลอนสอนใจไว้เป็นข้อคิดดี ๆ สำหรับหัวหน้าทุกคนครับ (ต้องขออภัยที่ผมไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่เห็นว่าดีเลยเอามาแชร์ต่อจึงขอขอบพระคุณผู้แต่งกลอนนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ)

“อันหัวโขน เขามีไว้ ใส่ครอบหัว
มิใช่ตัว เราจริงจัง ดังที่เห็น
เขามีบท กำหนดแจ้ง แสดงเป็น
เมื่อเลิกเล่น อย่าหลงผิด คิดว่าเรา

ทั้งหน้าพระ ยักษ์ลิง สิ่งสมมุติ
ทั้งเดินหยุด รำเต้น เล่นตามเขา
หมดเวลา ลาโรง จงถอดเอา
หน้าโขนเก่า เก็บไว้ ใช้หน้าจริง

ในเวที ชีวิต มีมิตรไว้
มีน้ำใจ ไมตรี ดีกว่าหยิ่ง
เพื่อนสนิท มิตรสหาย ไว้พึ่งพิง
พระยักษ์ลิง ควรคิดย้อน สอนตัวเรา”


……………………………

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ใครเป็นคนกำหนดค่าจ้างตัวจริง ?

            ผมไปอ่านเจอคำถามในกระทู้ดังแห่งหนึ่ง มีคนเข้าไปตั้งคำถามว่า....
            “เงินเดือนแอร์โฮสเตส 150,000 บาท เวอร์เกินไปไหม....”

            เท่านั้นแหละครับ มีคนเข้ามาเม้นท์มาเม้าท์มาตอบกันเยอะพอสมควร ต่างก็ตอบไปตามความคิดเห็น หรือความรู้สึกของตัวเองต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าขี้โม้ไม่จริงหรอก เงินเดือนแสนห้านี่ต้องเป็นเงินเดือนของนักบินผู้ช่วย (Co-Pilot) แล้วตะหาก เงินเดือนของแอร์ฯจะมาเท่ากับนักบินผู้ช่วยได้ยังไง

หรือบ้างก็ว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องทำงานหนักต้องคอยดูแลผู้โดยสารยิ่งเป็นไฟลท์ไกล ๆ ก็เหนื่อยมากก็ต้องได้แสนห้าสิเหมาะสมแล้ว ฯลฯ

          น่าแปลกที่ว่าผู้คนที่เข้ามาให้ความเห็นในเรื่องนี้ส่วนใหญ่ใช้ “ความรู้สึก” หรือความคิดเห็นส่วนตัวเข้ามาตอบมากกว่าที่จะใช้ “ข้อมูล” !!

            ผมว่าเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาในการทำงานของบ้านเราอยู่

            เพราะเรามักใช้ความรู้สึก..มากกว่าการใช้ข้อมูลหรือเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบคำถามน่ะสิครับ

            มีคำพูดอยู่คำหนึ่ง (ใครพูดผมก็จำไม่ได้แล้ว) ว่า “ใครมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง คนนั้นได้เปรียบในการตัดสินใจอยู่เสมอ”

          แต่น่าแปลกที่หลายครั้งในการแก้ปัญหาและตัดสินใจที่สำคัญ ๆ ในระดับองค์กรหรือระดับชาติเรากลับใช้ความรู้สึกตัดสินใจ แทนที่จะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ อย่างรอบด้านและกลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้นให้ดีเสียก่อน แล้วจึงนำมาคิดวิเคราะห์เพื่อวางแผนแก้ปัญหาและตัดสินใจ ซึ่งน่าจะทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาสำเร็จลุล่วงได้ดีกว่าการใช้ความรู้สึก หรือ “มโน” ในการแก้ปัญหา

         
อย่างในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ผมเล่ามาให้ฟังข้างต้นนี่ก็เป็นเพียงภาพเล็ก ๆ ในภาพใหญ่ต่อไปเหมือนกันนะครับ

            ปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร อินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย การหาข้อมูลไม่ใช่เรื่องยากเหมือนสมัยก่อน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและตรวจสอบความถูกต้องได้เร็วเช่นเดียวกัน

            แต่ไม่มีใครสักคนหาข้อมูลหรือไปเช็คดูจากแหล่งต่าง ๆ ดูว่าตกลงแล้วในสายการบินยี่ห้อต่าง ๆ นั้นเขาจ่ายเงินเดือนแอร์ฯกันเดือนละเท่าไหร่, มีเงินเพิ่มพิเศษอะไรอีกหรือไม่ ซึ่งเมื่อเราได้ข้อมูลจากสายการบินต่าง ๆ แล้วก็เราก็สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาค่าเฉลี่ย หรือเลือกใช้ข้อมูลที่มีได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องมาใช้ความรู้สึกถกเถียงกันแบบนี้

            ดังนั้น ถ้าจะถามว่าตกลงเงินเดือนของแอร์โฮสเตสเดือนละ  150,000 บาทใช่หรือไม่ คำตอบก็คือต้องไปหาข้อมูลจาก “ตลาด” (หมายถึงตลาดแรงงานนะครับ) คือบรรดาสายการบินต่าง ๆ ที่เขาจ่ายกันอยู่แหละครับว่าเขาจ่ายกันเท่าไหร่ก็จะได้คำตอบที่ดีที่สุดมากกว่าการใช้ความรู้สึกมาตอบ

            และตรงนี้ผมก็มีข้อคิดสำหรับผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนจากตัวอย่างข้างต้นก็คือ....

          คนที่เป็นผู้กำหนดค่าจ้างตัวจริงหรือ “ตลาด” นะครับ ไม่ใช่นายจ้าง หรือผู้บริหารเป็นคนกำหนด ซึ่งยังมีเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงหลายคนยังเข้าใจว่าฉันเป็นผู้กำหนดค่าจ้างในตำแหน่งงานต่าง ๆ ในบริษัท และก็กำหนดค่าจ้างตามใจฉันโดยไม่เคยไปดูเลยว่าในตลาดเขาจ่ายกันเท่าไหร่ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ทำงานอย่างเดียวกัน

            เมื่อพนักงานทำงานไปแล้วพบว่าตัวเองได้ค่าจ้างต่ำกว่าตลาดที่เขาจ่ายกันอยู่ ในที่สุดพนักงานคนนั้นก็จะลาออกเพื่อไปทำงานในบริษัทที่เขาจ่ายให้สูงกว่าที่พนักงานคนนั้นได้รับในปัจจุบัน

          ถ้าจะถามว่าแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตลาดเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่ในตำแหน่งงานต่าง ๆ ?

            คำตอบก็คือ  บริษัทของท่านก็ต้องเข้าร่วมการสำรวจค่าตอบแทนกับองค์กรที่เขาเป็นคนกลางในการสำรวจค่าตอบแทนประจำปี ซึ่งก็มีอยู่หลาย ๆ องค์กรที่เขาทำกันทุกปี เช่น สมาคมจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) หรือบริษัท  HR Center จำกัด เป็นต้น

            เพียงเท่านี้ท่านก็จะมีข้อมูลเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการเพื่อเป็นฐานความคิดในเรื่องการบริหารค่าตอบแทนขององค์กรของท่านอย่างมีเหตุมีผลมากกว่าการใช้ความรู้สึกแล้วล่ะครับ


………………………………..

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ลงเวลาแทนกัน..เป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่

          หลายบริษัทมักจะมีกฎระเบียบในการทำงานที่เกี่ยวกับการทำงานในเรื่องของการลงเวลามาทำงานเอาไว้ว่า “ห้ามพนักงานลงเวลาทำงานแทนกัน ถ้าหากฝ่าฝืนจะถือว่าทุจริตและบริษัทจะพิจารณาเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง” โดยพนักงานจะต้องลงเวลามาทำงานทุกครั้งที่เข้าและออกจากสถานที่ทำงาน

            อยู่มาวันหนึ่งชวนพิศต้องออกไปติดต่อลูกค้าในช่วงบ่ายซึ่งชวนพิศก็รู้ดีว่ากว่าจะไปถึงบริษัทลูกค้า กว่าจะพูดคุยกับลูกค้าเสร็จก็คงเย็นหรือค่ำ แล้วถ้าต้องฝ่าการจราจรเพื่อกลับมารูดบัตรลงเวลาออกจากบริษัทคงไม่ทันเป็นแน่ ก็เลยฝากบัตรพนักงานไว้กับชิดชมเพื่อนซี้ในแผนกเดียวกันให้ช่วยรูดบัตรในช่วงเย็นให้ด้วย

            ตกเย็นชิดชมก็ไปรูดบัตรออกจากบริษัททั้งของตัวเองและของชวนพิศ ปรากฏว่ารปภ.เห็นเข้าว่าชิดชมรูดบัตรสองใบก็เลยแจ้งไปที่ฝ่ายบุคคล วันรุ่งขึ้นฝ่ายบุคคลก็แจ้งมาที่หัวหน้างานของชวนพิศและชิดชมว่าทั้งสองคนทำผิดกฎระเบียบของบริษัทโดยรูดบัตรแทนกันถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นบริษัทจะต้องเลิกจ้างทั้งสองคนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

            หัวหน้าของชวนพิศและชิดชมก็เรียกลูกน้องมาสอบถามว่าเรื่องราวเป็นยังไง ทั้งสองคนก็ให้การมาตามที่ผมเล่าให้ฟังมาตั้งแต่ต้นแล้วล่ะครับ และเมื่อหัวหน้างานโทรไปหาลูกค้าทางลูกค้าก็ยืนยันว่าชวนพิศไปพบในเรื่องงานของบริษัทจริงกว่าจะประชุมเลิกก็หกโมงเย็นแล้ว อีกทั้งชวนพิศและชิดชมก็บอกว่าเธอไม่ได้ทุจริตยักยอกเงินทองหรือมีการจ้างวานให้รูดบัตรอะไรนี่นา แต่ยอมรับว่ารูดบัตรแทนกันจริงเพราะชวนพิศไม่อยากจะฝ่ารถติดเพื่อเข้ามารูดบัตรตอนค่ำที่บริษัท

          ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ..ตกลงว่าการรูดบัตรแทนกันแบบนี้ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงเพราะเข้าข่ายทุจริตหรือไม่ ?

          เรื่องทำนองนี้เคยต้องไปถึงศาลแรงงานมาแล้วนะครับ ผมขอนำคำพิพากษาศาลฎีกามาให้ท่านดูตามนี้

ฎ.3095/2537 การตอกบัตรแทนกันช่วงเลิกงานไม่ได้ค่าจ้างเพิ่ม นายจ้างไม่เสียหายแต่เป็นการผิดข้อบังคับการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง..

            จากกรณีข้างต้นเมื่อดูจากข้อเท็จจริงแล้วพนักงานทั้งสองคนมีความผิดในเรื่องรูดบัตรแทนกันจริง แต่ความผิดนี้ “ไม่ร้ายแรง” เพราะไม่ได้เป็นการทุจริตนะครับ

            ดังนั้น ในกรณีนี้ข้อแนะนำก็คือบริษัทควรออกหนังสือตักเตือนพนักงานทั้งสองคนว่าห้ามรูดบัตรลงเวลาแทนกันอีก ถ้าลงเวลาแทนกันอีกบริษัทจะลงโทษยังไงต่อไปเช่นจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะบริษัทได้เคยตักเตือนในเรื่องนี้ไว้แล้วเป็นต้น

            แต่การที่บริษัทจะเลิกจ้างทันทีในครั้งนี้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น ถ้าทั้งสองคนนี้ไปฟ้องศาลแรงงานบริษัทก็เตรียมค่าชดเชยตามอายุงานเอาไว้จ่ายพนักงานทั้งสองคนด้วยก็แล้วกันนะครับ

          แล้วแบบไหนล่ะที่บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่พนักงานลงเวลาแทนกัน ?
            ก็เช่น..บริษัทให้ชวนพิศทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 17.00-22.00 น.แต่พอถึงเวลาทำโอทีชวนพิศกลับแว๊บไปดูหนังกับแฟนแล้วฝากบัตรให้ชิดชมช่วยรูดบัตรแทนให้ด้วย แล้วเอาค่าโอทีมาแบ่งกัน

            อย่างนี้แหละครับเข้าข่ายทุจริตเพราะรับเงินค่าโอทีของบริษัทไปแล้วแต่ไม่ได้ทำงานให้บริษัทจริง แถมยังเอาเงินค่าโอทีมาติดสินบนเพื่อนให้รูดบัตรกลับบ้านแทนเสียอีก พฤติการณ์แบบนี้แหละครับถึงจะเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ และบริษัทสามารถเลิกจ้างทั้งสองคนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน

          ประเด็นหลักที่สำคัญในเรื่องนี้ก็คือ..ให้ดูที่ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และข้อเท็จจริงนั้นเข้าข่ายทุจริตเป็นความผิดร้ายแรงจริงหรือไม่

            ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านคงเข้าใจความผิดที่เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ดีขึ้นแล้วนะครับ


…………………………………..

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สัญญาจ้างพิสดาร

            วันนี้ผมไปอ่านเจอเรื่องแปลก ๆ เกี่ยวกับสัญญาจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งที่พนักงานเขาเอามาโพสลงในสื่อออนไลน์ตั้งกระทู้ถามผู้คนในโลกออนไลน์ ผมอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ก็เลยอยากจะนำมาแชร์เป็นความรู้กันท่านเพื่อเป็นข้อคิดและข้อควรระวังต่อไปครับ

            บริษัทแห่งนี้มีข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง 5 ข้อคือ

1. การลาออกของพนักงานจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหารเสียก่อนจึงจะลาออกได้ และต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 2 เดือน
2. หากพนักงานลาออกไปโดยที่ฝ่ายบริหารยังไม่อนุมัติ พนักงานจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท 3 เท่าของเงินเดือน
3. หากพนักงานลาออก สิทธิในการพักร้อนเป็นอันถูกยกเลิกในวันที่ยื่นใบลาออก
4. หากผ่านการทดลองงานจะต้องทำงานให้กับบริษัทอย่างน้อย 18 เดือน
5. หากพนักงานทำผิดข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น พนักงานจะโดนปรับ 10 เท่าของเงินเดือน

      ทั้ง 5 ข้อข้างต้นนี่แหละครับที่เป็นที่มาของหัวเรื่องในวันนี้ว่า “สัญญาจ้างพิสดาร” ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ยังมีสัญญาจ้างทำนองนี้อยู่

          หากท่านเป็นผู้สมัครงานแล้วท่านอยากจะทำงานกับบริษัทที่มีสัญญาจ้างแบบนี้ไหมครับ ?

            ในทำนองเดียวกันก็อยากจะถามผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้เหมือนกันว่า เมื่อทำสัญญาจ้างแบบนี้แล้วคิดหรือว่าจะทำให้พนักงานมี “ใจ” ที่อยากทำงานอยู่กับบริษัทในระยะยาว ?

            ผมวิเคราะห์ว่าสไตล์การบริหารของบริษัทแห่งนี้เน้นการ “ควบคุม” และ “ลงโทษ” เป็นหลักนะครับ ดังนั้นคงไม่ต้องไปเดาต่อไปว่าเรื่องแรงงานสัมพันธ์ของบริษัทแห่งนี้จะเป็นยังไง พนักงานจะมีความรักหรือมีจิตใจที่อยากจะทำงานกับบริษัทนี้หรือไม่

            แล้วก็เลยอยากจะอธิบายสัญญาจ้างพิสดารที่ว่านี้ไปทีละข้อเพื่อให้ทั้งผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้เผื่อมาอ่านเจอ (รวมถึงผู้บริหารในบริษัทอื่นที่มีสัญญาจ้างทำนองเดียวกันนี้) และพนักงานได้เข้าใจตรงกันดังนี้นะครับ

1. การลาออกของพนักงานจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหารเสียก่อนจึงจะลาออกได้และต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 2 เดือน

ข้อนี้ผู้บริหารยังขาดความรู้ในเรื่องกฎหมายแรงงานนะครับ เพราะเมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออกโดยระบุวันที่มีผลลาออกไว้เมื่อไหร่ เมื่อถึงวันที่ระบุในใบลาออกนั้นก็จะมีผลในเรื่องการลาออกทันทีโดยไม่จำเป็นต้องให้นายจ้างหรือใครมาอนุมัติทั้งสิ้น

เพราะการลาออกเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างจากลูกจ้างที่ไม่อยากจะทำงานต่อไปกับบริษัทนั้นอีกต่อไป ดังนั้นบริษัทไม่มีอำนาจและไม่มีหน้าที่มาอนุมัติการลาออกของลูกจ้าง 

แม้บริษัทจะระบุตามระเบียบว่าต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 2 เดือนก็ตาม หากลูกจ้างยื่นใบลาออกวันนี้และในใบลาออกระบุวันที่มีผลคือวันพรุ่งนี้ก็ย่อมทำได้ ถ้าบริษัทเห็นว่าลูกจ้างทำผิดกฎระเบียบที่ไม่ลาออกล่วงหน้า 2 เดือน ก็เป็นเรื่องของบริษัทที่จะต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างเอาเองโดยจะต้องไปพิสูจน์ให้ศาลแรงงานท่านเห็นว่าการที่ลูกจ้างไม่ลาออกตามระเบียบจะทำให้บริษัทเกิดความเสียหายกี่บาทกี่สตางค์

2. หากพนักงานลาออกไปโดยที่ฝ่ายบริหารยังไม่อนุมัติ พนักงานจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท 3 เท่าของเงินเดือน

             ข้อนี้เป็น “มโน” ของฝ่ายบริหารขึ้นมาล้วน ๆ เพราะบริษัทไม่มีสิทธิจะไปอนุมัติการลาออกของลูกจ้างตามข้อ 1 ที่ผมอธิบายข้างต้นอยู่แล้ว ดังนั้นบริษัทก็ไม่มีสิทธิหักค่าเสียหายจากลูกจ้างด้วยเช่นเดียวกัน 

              หากเห็นว่าลูกจ้างทำให้บริษัทเสียหายก็ต้องไปฟ้องศาลแรงงานเอาตามที่ผมบอกไว้ตามข้อ 1 ข้างต้น ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะหักได้ 3 เท่าของเงินเดือนนะครับ (ผมก็ไม่รู้ว่าบริษัทไปเอาตัวเลข 3 เดือนนี้มาจากไหนหรือมีกุมารทองจากไหนมาเข้าฝันบอกให้หัก 3 เดือน) อันนี้อยู่ที่ศาลแรงงานท่านจะพิจารณาว่าลูกจ้างทำให้บริษัทเสียหายจริงหรือไม่และลูกจ้างจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทหรือไม่จำนวนเงินเท่าไหร่ 

               แหมทำยังกะลูกจ้างไปขโมยของตามห้างสรรพสินค้าแล้วจะต้องถูกปรับกี่เท่าของราคาสินค้าเลยนะครับ อิ..อิ..

3. หากพนักงานลาออก สิทธิในการพักร้อนเป็นอันถูกยกเลิกในวันที่ยื่นใบลาออก

                 ข้อนี้แม้บริษัทจะระบุไว้ในสัญญาจ้างหรือกฎระเบียบใด ๆ ของบริษัท แต่มันผิดกฎหมายแรงงานมาตรา 30 (ไปหาอ่านได้ในกูเกิ้ลนะครับ) ดังนั้นหากลูกจ้างยังมีสิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแล้วบริษัทก็ยังไม่ได้ “จัดให้” ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีคืนให้กับลูกจ้างอีกต่างหากด้วย เพราะวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็น “สิทธิ” ของลูกจ้างที่นายจ้าง “จะต้อง” จัดให้นะครับ

4. หากผ่านการทดลองงานจะต้องทำงานให้กับบริษัทอย่างน้อย 18 เดือน
               ข้อนี้แม้ว่าบริษัทจะเขียนไว้ในสัญญาจ้างก็จริง แต่สัญญาจ้างลูกจ้างในลักษณะนี้เป็นสัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา (หมายถึงสัญญาจ้างพนักงานประจำของบริษัททั่วไปนั่นแหละ) เพราะไประบุไว้ในข้อ 1 ว่าถ้าพนักงานจะลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า 2 เดือน 

                 แสดงว่าสัญญาจ้างประเภทนี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา) เพราะแปลว่าพนักงานมีสิทธิจะยื่นใบลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ครับ แต่ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกแล้วทำให้บริษัทเกิดความเสียหายเพราะไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างข้อนี้ยังไง ก็เป็นเรื่องที่บริษัทต้องไปฟ้องร้องลูกจ้างเรียกค่าเสียหายจากศาลแรงงานอย่างที่ผมบอกไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 อีกเหมือนเดิมนั่นแหละครับ ผมว่าที่มาของสัญญาข้อนี้คงจะเป็นเพราะผู้บริหารดูละครเรื่องจำเลยรักแล้วคิดว่าจะกักขังพนักงานไว้ได้อีก 18 เดือนเหมือนในละครมั๊งครับ 55555

5.หากพนักงานทำผิดข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น พนักงานจะโดนปรับ 10 เท่าของเงินเดือน

               สัญญาจ้างข้อนี้ผมถือว่า “หลุดโลก” เอามาก ๆ เลยนะครับ (ขอขำแป๊บ..) ไม่ทราบว่าบริษัทนี้มี HR มืออาชีพตัวจริงเสียงจริงทำงานอยู่หรือไม่ (แต่สันนิษฐานว่าคงไม่มี HR มืออาชีพแหง ๆ ) เพราะถ้าผู้จัดการฝ่ายบุคคลมืออาชีพเห็นข้อนี้เข้าจะต้องให้ตัดออกไปเพราะเป็นสัญญาที่ “ไร้สาระ” เอามาก ๆ เลยน่ะสิครับ 55555

                ที่ผมเล่าให้ฟังมาทั้งหมดนี้ก็ให้เป็นอุทธาหรณ์เตือนใจสำหรับทั้งทางด้านของนายจ้างหรือผู้บริหารที่เมื่อจะคิดนโยบายหรือสั่งอะไรออกมาควรจะต้องคิดอยู่เสมอว่า กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ น่ะบริษัทมีสิทธิจะออกมาได้เสมอแหละ แต่ถ้ากฎระเบียบข้อไหนของบริษัทที่ออกมาแล้วขัดต่อกฎหมายแรงงานแล้วล่ะก็ กฎระเบียบเหล่านั้นจะเป็นโมฆะแหง ๆ

ส่วนในฝั่งของลูกจ้างหรือพนักงานก็จะได้ดูเอาไว้ว่าหากไปสมัครงานแล้วเจอกฎระเบียบหรือสัญญาจ้างที่ประหลาดและส่อเจตนาเอาเปรียบลูกจ้างตั้งแต่แรกอย่างนี้แล้ว ก็ควรไปหางานในบริษัทอื่นที่เขามีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้เถอะนะครับ


…………………………………