วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

การลาออกไม่ใช่การเลิกจ้าง


            วันนี้ผมมีเรื่องแปลก ๆ เกี่ยวกับการลาออกมาเล่าสู่กันฟังกับท่านอีกแล้วนะครับ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เราท่านพบเห็นได้ในชีวิตการทำงานอยู่เสมอ ๆ

            นั่นคือ..การลาออกครับ

            ปกติแล้วการลาออกนั้นถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างจากทางฝั่งลูกจ้างคือลูกจ้างไม่อยากจะทำงานที่บริษัทนี้อีกต่อไปก็ยื่นใบลาออกให้หัวหน้าทราบว่าชั้นไม่อยากจะทำงานที่นี่อีกต่อไปแล้วนะ ซึ่งโดยทั่วไปบริษัทต่าง ๆ ก็มักจะมีกฎเกณฑ์คล้าย ๆ กันว่าถ้าพนักงานจะยื่นใบลาออกก็ให้ยื่นล่วงหน้าสัก 30 วันหรือ 1 เดือนนั่นแหละครับ เขาจะได้หาคนมารับมอบงานหรือส่งมอบงานให้คนใหม่ได้ทันโดยไม่ทำให้งานเสียหาย

            แต่นั่นก็เป็นการลาออกตามระเบียบบริษัทนะครับ เพราะในความเป็นจริงแล้วในกรณีที่ลูกจ้างมีปัญหาอะไรก็ตามกับนายจ้าง ลูกจ้างก็มักจะยื่นใบลาออกวันนี้แล้วระบุวันที่มีผลลาออกเป็นวันพรุ่งนี้เสียเป็นส่วนใหญ่โดยไม่แคร์ว่าระเบียบบริษัทจะบอกไว้ยังไง

ซึ่งในกรณีนี้ในทางกฎหมายแรงงานแล้วก็ถือว่าถ้าลูกจ้างระบุวันที่มีผลลาออกเอาไว้วันไหนในใบลาออกลูกจ้างก็พ้นสภาพได้ในวันที่ระบุเลยนะครับ โดยไม่ต้องให้นายจ้างมาอนุมัติการลาออกด้วยซ้ำไป ส่วนถ้านายจ้างจะเสียหายจากการที่ลูกจ้างยื่นใบลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบบริษัทหรือทำให้บริษัทเสียหายยังไง บริษัทก็ต้องไปฟ้องร้องลูกจ้างกันเอาภายหลังครับ

            แต่เรื่องที่ผมนำมาคุยกันในวันนี้เป็นปัญหาในการลาออกอีกแบบหนึ่งน่ะสิครับ

          คือลูกจ้างยื่นใบลาออกกับนายจ้าง  แต่ไปฟ้องศาลแรงงานว่าถูกเลิกจ้างโดยนายจ้าง !!??

            ตัวอย่างเช่น นายมนู (นามสมมุติ) ทำงานบกพร่องต่อหน้าที่จนถูกบริษัทย้ายให้ไปทำงานในตำแหน่งอื่นและลดเงินเดือนลง (โดยนายมนูก็ยินยอม) และบริษัทก็ออกหนังสือตักเตือนให้นายมนูปรับปรุงตนเองใน 3 เดือน ต่อมานายมนูก็ต่อรองกับทางบริษัทโดยให้บริษัททำหนังสือเลิกจ้างตนเอง แต่บริษัทเสนอกลับมาว่าให้นายมนูเขียนใบลาออกมาแล้วบริษัทจะจ่ายเงินพิเศษให้เท่ากับเงินเดือน 3 เดือน นายมนูตกลงเขียนใบลาออกนำมายื่นให้ทางบริษัทโดยระบุสาเหตุการลาออกไว้ว่าถูกบริษัทเลิกจ้าง ?

            แล้วนายมนูก็ไปฟ้องศาลแรงงานโดยบอกว่าถูกบริษัทเลิกจ้าง (โดยอ้างตามสาเหตุในใบลาออก)

            กรณีนี้ศาลฎีกาท่านได้ตัดสินไว้ว่า “....แม้ใบลาออกจะระบุเหตุที่ลาออกว่าถูกเลิกจ้าง ก็ไม่ถือว่าลูกจ้างถูกเลิกจ้าง เพราะลูกจ้างเป็นฝ่ายเขียนใบลาออก นายจ้างไม่ได้กระทำการใดที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้าง....” (ฎ.2393/2545)

            หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่งดังนี้ครับ

            คุณบังอร (นามสมมุติ) ทำงานเป็นพนักงานขายหน้าร้านแล้วรู้จักกับลูกค้าเป็นการส่วนตัวเที่ยวเตร่ด้วยกันจนสนิทสนมกันขนาดหยิบยืมเงินจากลูกค้าอยู่บ่อย ๆ ก็เลยถูกผู้จัดการฝ่ายขายตำหนิพฤติกรรมที่หยิบยืมเงินลูกค้าอย่างรุนแรงว่าไม่เหมาะสมเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ทำอย่างนี้เป็นการทำลายชื่อเสียงของบริษัทและอาจจะกระทบกระเทือนถึงตำแหน่งหน้าที่ของคุณบังอรได้ คุณบังอรก็เลยย้อนถามว่า “แล้วบริษัทจะเอายังไง” ผู้จัดการฝ่ายขายก็เลยบอกให้คุณบังอรพิจารณาตัวเอง คุณบังอรก็เลยยื่นใบลาออก แล้วคุณบังอรก็เลยไปฟ้องศาลแรงงานว่าถูกหัวหน้าหลอกลวงให้ลาออกทั้ง ๆ ที่คุณบังอรยังไม่อยากลาออก ?

            เรื่องนี้ศาลฎีกาตัดสินว่า “....ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงให้ลูกจ้างลาออก กรณีเป็นเรื่องที่ลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง ไม่ใช่ถูกนายจ้างเลิกจ้าง” (ฎ.9450/2545)

            จากเรื่องที่ผมเล่ามาข้างต้นจึงมาสู่ข้อสรุปที่ว่า....

            ก่อนที่ท่านจะยื่นใบลาออกก็คิดให้ดีเสียก่อนจึงไม่ควรจะเขียนใบลาออกในขณะที่ท่านกำลังมีอีคิวที่ไม่ปกติ เช่น กำลังโกรธ, กำลังท้อ, กำลังเซ็ง, กำลังเบื่อหน่าย ฯลฯ คิดให้รอบคอบในสภาพจิตที่ปกติโดยใช้เหตุใช้ผลให้ดี เพราะเมื่อท่านตัดสินใจยื่นใบลาออกเมื่อไหร่ก็จะมีผลตามที่ท่านระบุไว้ทันที และจะมาเปลี่ยนประเด็นว่าเป็นการถูกเลิกจ้างมันขัดแย้งกัน เพราะเราเป็นคนเซ็นใบลาออกเองระบุวันที่มีผลลาออกเองนี่ครับ

………………………….

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

ทำไมคนเราถึงทำงานไม่ตรงกับที่เรียนจบมา ?


            คำถามข้างต้นนี้ผมมักจะได้ยินอยู่บ่อย ๆ นะครับ และผมก็เชื่อว่าท่านก็คงจะเคยได้ยินมาแล้วแบบเดียวกัน แถมอาจจะมีคำถามต่อมาอีกด้วยว่า “ถ้างั้นเราจะเรียนไปทำไมกันล่ะ ก็เรียนไปแล้วอาจจะทำงานไม่ตรงกับที่เรียนมาก็ได้นี่....”

            แหม..ถ้าคิดอย่างนี้สรุปแล้วก็ไม่ต้องเรียนอะไรกันเลยดีไหมครับ เรียกว่าพออายุถึงเกณฑ์ทำงานก็ทำงานกันไปเลย..ล้อเล่นนะครับอย่าซีเรียส

            ในวันนี้ผมเลยอยากจะขออธิบายเรื่องของการทำงาน-การเรียน และสมรรถนะหรือขีดความสามารถในการทำงาน (หรือที่เรียกกันว่า “Competency”) แบบง่าย ๆ ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกันยังไง

            ดังนี้ครับ....

1.      เรื่องของการเรียน : ทุกคนก็ต้องเรียนหนังสือกันตามภาคบังคับ และก็ร่ำเรียนกันโดยใช้เวลากันโดยประมาณ 20 ปี (อนุบาล 3 ปี ประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี อุดมศึกษาประมาณ 4-6 ปี) ซึ่งการเรียนของแต่ละคนก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจจะเรียนอะไรด้านไหน บางคนก็เรียนตามเพื่อน ตามกำลังทรัพย์ของทางบ้าน ฯลฯ ซึ่งสาขาที่เรียนก็อาจจะตรงกับที่ธุรกิจหรือตลาดต้องการ หรืออาจจะไม่ตรง ก็ต้องไปวัดดวงกันตอนจบมาแล้วไปสมัครงานนั่นแหละครับว่าเขาจะรับเข้าทำงานหรือไม่และเมื่อเริ่มทำงานแล้วก็ต้องมาเรียนรู้งานที่ทำกันใหม่แต่ยังไงก็ตามการเรียนในภาคบังคับก็ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานต่อไปในอนาคตนะครับ

2.      การทำงาน : แต่เมื่อเข้ามาทำงานแล้ว ในที่ทำงานทุกแห่งต้องการพนักงานที่มีสมรรถนะหรือขีดความสามารถ (หรือที่เรียกว่า “Competency”) ใน 3 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้

2.1  Knowledge K หมายถึง บริษัท, หน่วยงาน หรือหัวหน้างาน ต้องการพนักงานที่มี “ความรู้ในงาน” ในตำแหน่งนั้น ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งความรู้ในงานไม่ได้หมายถึงความรู้ที่เรียนจบมานะครับ ผมยกตัวอย่างเช่น ในตำแหน่งงานเจ้าหน้าที่บัญชี ต้องการคนจบปริญญาตรีบัญชี ซึ่งจริงอยู่ว่าในสมัยเรียนบัญชีนั้น ทางสถาบันเขาก็สอนเรื่องหลักการบัญชี เดบิต เครดิต งบการเงิน ฯลฯ ให้นักศึกษาได้มีความรู้ในเรื่องของหลักการบัญชี แต่เมื่อนักศึกษาจบมาแล้วมาทำงานในบริษัทตำแหน่งเจ้าหน้าที่บัญชีน่ะ เขาจะมีความรู้เกี่ยวกับระบบบัญชีของบริษัทหรือไม่

ซึ่งความรู้ที่เกี่ยวกับงานระบบบัญชีของบริษัทนี้ไม่ใช่ความรู้ระบบบัญชีสมัยเรียนนะครับ เพราะความรู้บัญชีสมัยเรียนเป็นทฤษฎี แต่ตอนนี้เราจะต้องมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับระบบบัญชีของบริษัทที่เป็นของจริงที่อยู่ตรงหน้าซึ่งอาจจะมีความแตกต่างไปจากตอนที่เรียน ซึ่งถ้าใครมีความรู้ในระบบงานบัญชีของบริษัทอย่างแท้จริงคนนั้นแหละครับคือคนที่บริษัทต้องการ

2.2  Skills – S หมายถึงทักษะในการทำงานที่ตำแหน่งงานนั้น ๆ ต้องการ เช่นตัวอย่างเดิมคือบริษัทอยากจะได้เจ้าหน้าที่บัญชีที่มีทักษะในการปิดงบการเงินของบริษัทได้ถูกต้อง และทันตามเวลาที่กำหนด ซึ่งตอนที่เรียนหนังสืออยู่ก็อาจจะเคยเรียนเรื่องการปิดงบการเงิน หรือเคยสอบผ่านมาแล้ว แต่มันก็จะแตกต่างจากงบการเงินของบริษัท เพราะนี่คือเรื่องจริงของจริง ไม่เหมือนกับงบการเงินสมัยเรียนหนังสือ ดังนั้นถ้าใครสามารถมีทักษะในการลงมือปฏิบัติหรือปิดงบการเงินของบริษัทได้ถูกต้อง ทันเวลา นี่แหละครับคือทักษะหรือการลงมือทำจริงในงานได้อย่างที่หัวหน้าต้องการก็คือคนที่จะเหมาะสมกับการทำงานในตำแหน่งนี้

2.3  Attributes – A หมายถึงคุณลักษณะภายในตัวคน ๆ นั้นว่าจะเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ทำอยู่หรือไม่ เช่น ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บัญชีต้องการคนที่มีความละเอียดรอบคอบสูงมากเพราะงบการเงินจะผิดพลาดไม่ได้ แต่ถ้าใครที่แม้จบบัญชีมาโดยตรงก็ตามแต่เป็นสะเพร่า ไม่ละเอียดรอบคอบก็จะไม่เหมาะกับการเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีของบริษัทนี้เป็นต้น ซึ่งคุณลักษณะภายในนี้จะเป็นลักษณะเชิงนามธรรมในตัวคนทุกคน ที่ต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันนาน ๆ หรือทำงานร่วมกันนาน ๆ ถึงจะค่อย ๆ เห็น เช่น  ความซื่อสัตย์, ความรับผิดชอบ, ความอดทน, ความขยัน,  ทัศนคติเชิงบวก, ความละเอียดรอบคอบ, ความมุ่งมั่น ฯลฯ เป็นต้น

จากที่ผมอธิบายมาข้างต้นจะสรุปได้ว่าถ้าใครมี K-S-A ในตัวเองเหมาะกับงานที่ทำอยู่ก็จะประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าไปในงานที่ทำได้อย่างแน่นอน เพราะมีความรู้ในงานที่ทำอยู่อย่างคนรู้จริง, มีทักษะในงานที่ทำอยู่จริงสามารถลงมือปฏิบัติทำงานที่รับผิดชอบได้อย่างชำนิชำนาญ และมีคุณลักษณะภายในตัวที่ดี ซึ่ง 3 สิ่งนี้แหละครับจะมีอิทธิพลอย่างสำคัญที่จะทำให้คน ๆ นั้นประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ ที่ฝรั่งเขาเรียกว่ามี Competency” ซึ่งแปลเป็นไทยว่าคน ๆ นั้นมี “สมรรถนะ หรือมีขีดความสามารถ” ตรงกับงานที่เขารับผิดชอบนั่นเอง

            ผมขอยกตัวอย่างเรื่องของ Competency อย่างง่าย ๆ เป็นรูปธรรม เช่น พี่บี้เดอะสตาร์ จบอะไรมาครับ ? แน่ะแฟนคลับพี่บี้ก็จะรู้ว่าพี่บี้จบวิศวกรรมศาสตร์มาจริงไหมครับ แต่ถามต่อมาอีกว่า K S A ในตัวพี่บี้น่ะเหมาะกับจะไปประกอบอาชีพวิศวกรตามที่ร่ำเรียนมาไหมล่ะครับ คำตอบก็คือไม่น่าจะใช่เพราะ K S A ในตัวของพี่บี้น่ะมาทางนักร้องนักแสดงจะเหมาะกว่า ดังนั้นแม้ว่าพี่บี้จะจบวิศวะมาและจะสามารถไปทำงานเป็นวิศวกรได้ก็จริง แต่ก็คงจะไม่ดีเหมือนมาทำงานในด้านการเป็นนักร้องนักแสดงจริงไหมครับ

            นี่แหละครับถึงเป็นคำตอบว่าทำไมคนที่เรียนอะไรมาก็ตามอาจจะต้องมาทำงานไม่ตรงกับที่ตัวเองจบมาก็ได้ (แต่คนที่ทำงานได้ตรงกับสาขาที่จบมาก็มีไม่น้อยนะครับอยู่ที่ว่า K S A ที่มีในตัวมันตรงกับที่เรียนมาด้วยหรือไม่ ซึ่ง K S A อาจจะตรงกับที่เรียนจบมาหรือไม่ตรงกับที่เรียนจบมาก็ได้) 

จึงอยู่ที่คน ๆ นั้นค้นหาตัวเองเจอหรือไม่ว่าตัวเรามี K S A อะไรอยู่ในตัวบ้าง และ K S A นั้นมันเหมาะกับงาน (หรือตำแหน่งงาน) ที่เราทำอยู่หรือไม่ ถ้าเรามี K S A ในตัวของเราตรงกับตำแหน่งงานที่ทำอยู่ (ซึ่งงานที่ทำอยู่อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบมาก็ตาม) แล้วเราก็สะสมความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการทำงานให้เพิ่มพูนมากขึ้น พัฒนา K S A ในตัวเองให้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็จะทำงานประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองถนัดได้ในที่สุดครับ

แล้วตอนนี้..ท่านล่ะค้นหา K S A ในตัวของท่านเจอแล้วหรือยังครับ ?

……………………………

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

ค่าจ้างคืออะไร ?


            วันนี้ผมมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่านอีกแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่คนทำงานไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้บริหารไปจนถึงเจ้าของกิจการยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่และอาจจะมีการปฏิบัติแบบไม่ถูกต้องนัก ผมก็เลยขอนำมาแลกเปลี่ยนความรู้กันในตอนนี้คือตอนที่ตั้งคำถามว่า “ค่าจ้าง”  คืออะไร

            ทุกบริษัทต่างก็จะมีการจ่าย “เงินเดือน” ให้กับพนักงานกันทุกเดือนอยู่แล้วใช่ไหมครับ แต่ก็ยังมีบริษัทอีกไม่น้อยที่จะมีการจ่ายเงินอื่นให้กับพนักงานที่นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ค่าตำแหน่ง, ค่าครองชีพ, ค่าภาษา (ต่างประเทศ), ค่าวิชา (กรณีใช้วิชาชีพเฉพาะทางเช่น ด้านที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์), ฯลฯ

            ซึ่งการจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ นี่แหละครับที่จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในหลายบริษัท ยกตัวอย่างเช่น

            บริษัท YYY จำกัด ทำสัญญาจ้างคุณชวนชัยเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ โดยมีเงินเดือน ๆ ละ 50,000 บาท ค่าตำแหน่ง 5,000 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท และค่าภาษาจีน (เนื่องจากต้องใช้ภาษาจีนในการติดต่อกับลูกค้าจีน) เดือนละ 3,000 บาท

            สำหรับค่าตำแหน่งนั้น บริษัทจะมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายคือหากเป็นผู้จัดการฝ่ายจะได้ค่าตำแหน่งเดือนละ 5,000 บาท ผู้จัดการแผนกจะได้ค่าตำแหน่งเดือนละ 3,000 บาท หัวหน้าแผนกจะได้ค่าตำแหน่งเดือนละ 2,000 บาท

            ส่วนค่าภาษาต่างประเทศนั้น บริษัทจะจ่ายให้ในกรณีที่พนักงานที่ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ จำเป็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศในการติดต่อธุรกิจของบริษัทเท่านั้นเช่นกรณีของคุณชวนชัย ถ้าตำแหน่งใดไม่ได้ใช้ภาษาต่างประเทศทำงานที่ตรงกับความต้องการของบริษัท ก็จะไม่ได้รับค่าตำแหน่ง

            สำหรับค่าครองชีพนั้นบริษัทจ่ายให้พนักงานทุกคนเท่ากันทั้งบริษัทเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งจ่ายอย่างนี้มา 5 ปีแล้ว ซึ่งค่าครองชีพดังกล่าวก็ไม่ได้มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามสภาพทางเศรษฐกิจหรือตามภาวะการครองชีพใด ๆ

            ดังนั้นสรุปแล้วคุณชวนชัยก็จะมีรายได้ต่อเดือนเป็นดังนี้

เงินเดือน = 50,000 บาท ค่าตำแหน่ง = 5,000 บาท ค่าครองชีพ = 2,000 บาท ค่าภาษา = 3,000 บาท

            ปัญหาเกิดขึ้นก็ตอนที่คุณชวนชัยทำงานกับบริษัทมาปีเศษ ๆ บริษัทก็แจ้งว่าจะเลิกจ้างคุณชวนชัยเพราะไม่สามารถหาลูกค้าต่างชาติได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ และบริษัทจะจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้างให้ตามกฎหมายแรงงาน (ตามมาตรา 118) คือทำงานมา 1ปีไม่เกิน 3 ปี จะได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า “ค่าจ้าง” อัตราสุดท้าย 90 วัน หรือพูดง่าย ๆ ภาษาคนทำงานว่าคุณชวนชัยจะได้ค่าชดเชย 3 เดือนนั่นแหละครับ

          ปัญหามาเกิดขึ้นก็ตรงที่บริษัทบอกว่า “ค่าจ้าง” สุดท้ายของคุณชวนชัยคือ 50,000 บาท (คือบริษัทหมายถึงเพียงแค่เงินเดือนตัวเดียว) จึงจะจ่ายค่าชดเชยให้คุณชวนชัย 150,000 บาท ?

            แต่คุณชวนชัยบอกว่าบริษัททำไม่ถูกต้อง เพราะฐาน “ค่าจ้าง” ของเขาจะต้องรวมค่าตำแหน่ง, ค่าครองชีพ และค่าภาษา เข้าไปในเงินเดือนด้วย นั่นก็คือบริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้เขา 180,000 บาทถึงจะถูกต้อง (คุณชวนชัยบอกว่า “ค่าจ้าง” ของเขาคือ เงินเดือน+ค่าตำแหน่ง+ค่าครองชีพ+ค่าภาษา นั่นเองครับ)

          ตกลงกรณีนี้ใครจะบอกได้ว่า “ค่าจ้าง” ของคุณชวนชัยคือเท่าไหร่กันแน่ล่ะครับ ?

            ตรงนี้แหละครับผมอยากจะนำท่านมารู้จักกับคำว่า “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานดังนี้นะครับ

            มาตรา 5 ....ค่าจ้างหมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

            ผมอยากจะให้ท่านดูตรงที่ผมขีดเส้นใต้ไว้ในมาตรา 5 ข้างต้น นี่แหละครับคือความหมายของ “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายแรงงาน !

          ในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “เงินเดือน” นะครับ มีแต่คำว่า “ค่าจ้าง” !!

            ซึ่ง “ค่าจ้าง” ก็คือ “เงิน” (เป็นอย่างอื่น  เช่น คูปอง หรือการจ่ายที่ไม่ใช่เงินก็ไม่ได้นะครับ) ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันตั้งแต่ตอนรับเข้ามาทำงาน เพื่อเป็น “ค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง” หมายถึงเงินใดก็ตามที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง “เพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงาน” จะเข้าข่ายคำว่าค่าจ้างครับ สำหรับระยะเวลาทำงานปกติ ก็หมายถึงในเวลาทำงานปกติของพนักงาน ดังนั้นค่าทำงานล่วงเวลา (ที่เรามักจะเรียกติดปากว่า “โอที” ไม่ใช่ค่าจ้างเพราะเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติไงครับ)

            เมื่อนำความหมายของค่าจ้างในมาตรา 5 มาวิเคราะห์เรื่องของคุณชวนชัยแล้ว ผมเชื่อว่าท่านคงได้คำตอบแล้วนะครับว่า “ค่าจ้าง” ของคุณชวนชัยที่ถูกต้องคือเท่าไหร่ที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย..

          50,000+5,000+2,000+3,000 = 60,000 บาท เป็นคำตอบสุดท้ายครับ

            ถ้าท่านยังข้องใจว่าเพราะอะไร..อธิบายได้อย่างนี้ครับ

            เงินเดือน 50,000 บาท เป็นค่าตอบแทนการทำงานของคุณชวนชัยให้กับบริษัทไหมครับ (ใช่), ค่าตำแหน่ง 5,000 บาท เป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับบริษัทในฐานะผู้จัดการฝ่ายไหมครับ (ใช่), ค่าภาษา 3,000 บาทเป็นค่าตอบแทนการทำงานเพราะต้องใช้ภาษาจีนในการทำงานใช่หรือไม่ (ใช่), ค่าครองชีพเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับบริษัทไหมครับ (ใช่..แม้ว่าบริษัทจะบอกว่าเป็นสวัสดิการก็ตาม แต่เพราะบริษัทจ่ายเงินตัวนี้โดยไม่ได้มีเจตนาให้เป็นสวัสดิการอย่างแท้จริง โดยจ่ายเท่ากันหมดทุกคนและไม่เคยปรับปรุงเงินตัวนี้ให้เป็นไปตามสภาวะค่าครองชีพที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงเงินตัวนี้จึงกลายเป็นค่าจ้างครับ - คำพิพากษาที่ ฎ.8938-8992/2552)

          ปิดท้ายเรื่องนี้ผมจึงอยากจะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “ค่าจ้าง” ไม่ได้มีแค่ “เงินเดือน” เพียงอย่างเดียวนะครับ แล้วบริษัทของท่านล่ะครับมี “อะไร” ที่เป็นค่าจ้างอีกบ้าง ?

 

………………………………………….