วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการฝึกงาน


            หลายองค์กรมีการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานกันอยู่เป็นประจำในช่วงปิดเทอม ซึ่งก็จะเกิดประโยชน์ทั้งตัวนักศึกษาเองที่จะได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานก่อนจบการศึกษาว่าจะต้องเจออะไรบ้าง (สำหรับคนที่ไม่เคยต้องทำงานส่งตัวเองเพื่อเรียนหนังสือ) และตัวองค์กรที่ฝึกงานให้นักศึกษาก็จะได้ประโยชน์ของการรับนักศึกษาเข้ามาช่วยงานพี่ ๆ ที่ทำงานประจำได้บ้างในบางส่วนและยังเป็นเรื่องของ CSR สำหรับองค์กรอีกทางหนึ่ง    

            ทั้ง ๆ ที่มีการรับนักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงานกันอยู่เสมอ ๆ แต่ท่านเชื่อไหมครับว่ายังมีอีกหลายองค์กรมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการฝึกงาน !!

            ผมจึงขอนำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 กันยายน 2546 (สิบกว่าปีมาแล้วนะครับ) โดยนำเฉพาะเรื่องที่สำคัญ ๆ ตามประกาศนี้มาแชร์ให้ท่านได้ทราบในวันนี้ (สำหรับประกาศฯตัวเต็มให้ท่านเข้าไปดูได้ที่เว็บไซด์ของกระทรวงแรงงาน www.mol.go.th)

            เรามาดูกันไหมครับว่ามีเรื่องอะไรกันบ้าง

1.      ให้ฝึกงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่ถ้ากรณีงานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของผู้รับการฝึกตามกฎหมายแรงงานก็ให้ฝึกงานเพียงวันละ 7 ชั่วโมง และเมื่อฝึกงานมาแล้ว 4 ชั่วโมงผู้ดำเนินการจัดฝึกจะต้องให้ผู้ฝึกงานพักติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง จากข้อนี้จะเห็นได้ว่าหลายแห่งให้นักศึกษาฝึกงานทำงานเกิด 8 ชั่วโมงไปจนดึกดื่นน่ะ แสดงว่าท่านกำลังทำไม่ถูกต้องตามประกาศฉบับนี้แล้วล่ะครับ

2.      ในการฝึกงานก็จะเหมือนกับกฎหมายแรงงานคือเมื่อผู้รับการฝึกงานได้ฝึกงานมาแล้ว 6 วัน ผู้ฝึกงานจะต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วัน

3.      ห้ามรับผู้ฝึกงานที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และห้ามรับผู้ฝึกงานหญิงและเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ฝึกงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพนะครับ

4.      ผู้รับการฝึกงานสามารถลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริงแต่ไม่เกินวันลาที่กำหนดในหลักสูตร และถ้าป่วยเกิน 3 วันติดต่อกันขึ้นไปก็ต้องมีใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดง

5.      ห้ามผู้ดำเนินการฝึกให้ผู้รับการฝึกไปฝึกงานในสถานที่อื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาฝึกงาน ซึ่งเรื่องนี้มักจะพบอยู่ว่าบางบริษัทพานักศึกษาฝึกงานไปนอกสถานที่ฝึกและสถานที่นั้นอาจจะเสี่ยงอันตราย ดังนั้นการฝึกงานถึงได้ต้องมีการกำหนดสถานที่ฝึกงานให้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายครับ

6.      ให้ผู้ดำเนินการฝึกจ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นเงินตราไทยตามจำนวนวันที่ฝึกในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด และต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง

ซึ่งในเรื่องนี้ผมว่าในเรื่องนี้ยังมีอีกหลายองค์กรที่รับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานแล้วไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้โดยอาจจะอ้างว่าบริษัทรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานก็เป็นบุญคุณล้นเหลือแล้วก็เลยไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้เลย แต่ให้ท่านทราบไว้ด้วยนะครับว่าการไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้นักศึกษาฝึกงานน่ะมันผิดตามประกาศหลักเกณฑ์นี้นะครับ

จริงอยู่ว่าการที่บริษัทรับนักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงาน เป็นการให้ความรู้กับนักศึกษาในภาคปฏิบัติซึ่งก็ถือว่าเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) ให้กับสังคมทางหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งบริษัทก็ใช้แรงงานนักศึกษาฝึกงานในการช่วยเหลือการทำงานของพนักงานประจำเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่านักศึกษาจะยังทำงานไม่ได้เท่ากับพนักงานประจำก็ตาม และก็มีไม่น้อยที่ใช้ให้นักศึกษาฝึกงานทำงานเหมือนกับพนักงานประจำเลยด้วยซ้ำไป

ดังนั้นบริษัทก็จะได้ประโยชน์จากการทำงานของนักศึกษาบ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นผมคิดว่าการจ่ายเบี้ยเลี้ยงตามหลักเกณฑ์คือครึ่งหนึ่งของค่าจ้างขั้นต่ำน่ะคงไม่ทำให้บริษัทถึงกับขาดทุนล้มละลายจริงไหมครับ ซี่งหลายองค์กรก็จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้นักศึกษามากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังมี แหม..ทีบริษัทไปทำกิจกรรม CSR อื่น ๆ ใช้งบประมาณมากมายยังทำได้ กะอีแค่จ่ายเบี้ยเลี้ยงนักศึกษาฝึกงานประมาณ 2-3 เดือน กลับควักกระเป๋าจ่ายไม่ได้นี่ดูมันขัดแย้งกันพิกลนะครับ

7.      หากนักศึกษาฝึกงานประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยในระหว่างการฝึกงาน ผู้ดำเนินการฝึกจะต้องให้การช่วยเหลือ หรือให้บริการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะมีการปฏิบัติกันตามปกติอยู่แล้วครับ

8.      ให้ผู้ดำเนินการฝึกจัดทำประกันอุบัติเหตุจากการฝึกให้แก่ผู้รับการฝึกได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินทดแทน ซึ่งค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุก็ไม่กี่บาทหรอกครับ แต่เรื่องนี้ผมเชื่อว่าบริษัทหลายแห่งยังไม่ทราบว่ามีเรื่องนี้ด้วย และหลายแห่งก็ไม่ได้ทำประกันอุบัติเหตุไว้ตามหลักเกณฑ์นี้ก็เลยแชร์ให้ท่านทราบว่าต้องมีการประกันอุบัติเหตุให้นักศึกษาฝึกงานด้วยครับ

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าท่านคงจะได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและนำกลับไปทบทวนในเรื่องการรับนักศึกษาฝึกงานและมีการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไปแล้วนะครับ

…………………………….

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เพิ่งจบด้านไอที TOEIC 800+ เงินเดือน 25,000 บาท น่าทำไหม


            ผมไปอ่านเจอกระทู้นี้เข้าในเว็บไซด์ชื่อดังแห่งหนึ่งเลยเกิดไอเดียหลาย ๆ อย่างที่อยากจะนำมาแชร์ประสบการณ์กับท่านผู้อ่าน ซึ่งผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจใม่น้อยเลยนะครับ

            ผมขอไล่เรียงเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ท่านอ่านได้ง่าย ๆ อย่างนี้ครับ

1.      น้องคนนี้เพิ่งจบปริญญาตรีด้านไอที (Information Technology-IT) แล้วก็ยังไปสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่รู้จักกันดีคือ TOEIC (The Test of English for International Communication) ได้คะแนน 800 กว่า ๆ (จากคะแนนเต็ม 990 รายละเอียดของ TOEIC สำหรับท่านที่ยังไม่รู้ก็ไปหาอ่านในกูเกิ้ลนะครับ) ซึ่งก็ถือว่าได้คะแนนดี แล้วไปสมัครงานบริษัทแห่งหนึ่งแล้วบริษัทให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท แต่ลักษณะงานเหนื่อยหน่อย (ไม่ได้บอกว่า “เหนื่อย” นี่เหนื่อยแบบไหนยังไง) ก็เลยคิดว่าน่าจะไปหาบริษัทอื่นที่จะให้เงินเดือนมากกว่านี้ เพราะคิดว่าตัวเองก็จบด้านสารสนเทศมา ภาษาก็ดีควรจะได้งานที่จ่ายให้มากกว่านี้

2.      จากข้อมูลตามข้อ 1 เงินเดือนเริ่มต้นที่บริษัทแห่งนี้เขาเสนอให้ที่ 25,000 บาท (ซึ่งผมก็ว่าดีพอสมควรสำหรับคนจบปริญญาตรีใหม่) สำหรับน้องคนนี้ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลยแต่อยากจะได้เงินเดือนมากกว่านี้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานอะไรเลย แต่น้องอาจจะคิดว่าตัวเองก็มีจุดเด่นเรื่องผลสอบ TOEIC ได้ 800 กว่า ๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่นเขาอาจจะมีผลสอบ TOEIC น้อยกว่านี้ก็เลยอาจจะคิดว่าน่าจะเอาคะแนน TOEIC มาเพิ่มค่าตัวให้มากขึ้นได้ทำนองนั้นมั๊งครับ

3.      ถ้าน้องมองไปไกล ๆ ยาว ๆ ในอนาคตข้างหน้า สิ่งที่จะทำให้น้องยืนยงอยู่ในวงการแบบมืออาชีพได้ (ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างมืออาชีพหรือเถ้าแก่ก็ตาม) สำหรับผม ๆ ว่านั่นคือเรื่องของ “ผลงาน+ความสามารถ” ในการทำงานนะครับ หรือจะเรียกเชิงวิชาการหน่อย ๆ เขาก็อาจจะเรียกว่า P+C (Performance+Competency)

            ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะได้มาจากประสบการณ์ทำงาน การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในงานที่รับผิดชอบ การสร้างผลงานที่เป็น Signature ของตัวเองให้คนรอบข้างยอมรับ ซึ่งเรื่องพวกนี้แน่นอนว่าในคนจบใหม่ยังไม่มีในทันทีที่จบ แต่จะต้องใช้เวลาในการสั่งสมและสร้างมันขึ้นมาครับ

4.      P+C  นี่แหละจะทำให้ค่าตัวของน้องเพิ่มขึ้นตามเวลา อายุตัว อายุงานที่ผ่านไป ถ้าน้องมี P+C ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดการยอมรับจากคนรอบข้าง (ผู้บริหาร, หัวหน้า, เพื่อนร่วมงาน, ลูกน้อง ฯลฯ) แต่ถ้า P ก็ไม่ได้มีอะไรเพิ่มขึ้น แถม C ก็ไม่มีความสามารถอะไรที่พัฒนาขึ้นมาเลยทำงานมากี่ปีก็มีความรู้ในงานทักษะในงานใกล้เคียงกับเด็กจบใหม่ แล้วใครเขาจะมามาให้เงินเดือนเยอะ ๆ ล่ะครับ

5.       จากที่ผมบอกมาข้างต้น ถ้าแทนที่น้องจะเอาเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท ที่น้องบอกว่าน้อยกว่าความสามารถที่น้องมี (ซึ่งตอนนี้ก็คงมีเพียงเรื่องผลสอบ TOEIC เพียงอย่างเดียว แต่ความสามารถในเรื่องงานยังไม่มีอะไรเลย) มาเป็น..เอาตัวเนื้องานที่น้องจะต้องทำมาเป็นตัวตั้งต้น คือตอบตกลงทำงานแล้วเก็บเกี่ยวความรู้และทักษะในงานที่รับผิดชอบ ทำงานนี้ให้ดีที่สุด สร้างผลงาน (Performance) ที่หัวหน้าและคนรอบข้างยอมรับ ซึ่งจะทำให้น้องพัฒนาขีดความสามารถ (Competency) ให้เพิ่มขึ้นกว่าตอนเรียนหนังสือ เพราะตอนเรียนเราจะรู้แต่ทฤษฎี

แต่การทำงานจริงเราจะได้ประยุกต์สิ่งที่เรียนในตำรามาสู่การปฏิบัติ (Practice) ซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในตำรา ถ้าน้องมีวิธีคิดได้อย่างนี้ผมว่าในอนาคตน้องจะเติบโตไปในแบบ “มืออาชีพ” ตัวจริงเสียงจริงและเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ มากกว่านะครับ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้นผมว่าน้องจะเป็นคนประเภท “หล่อเลือกได้” หรือ “สวยเลือกได้” เพราะคนมีประสบการณ์มีผลงานมีความสามารถใคร ๆ ก็อยากได้ไปทำงานด้วยอยู่แล้วครับ

อยากจะฝากข้อคิดอีกอย่างก็คือ เมื่อน้องจบการศึกษามาแล้วไม่ว่าผลการสอบใด ๆ ที่เรียนมามันจบไปตั้งแต่ตอนที่บริษัทเขารับเข้าทำงานแล้ว ส่วนที่ต่อจากนั้นบริษัทเขาต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถในงาน มีประสบการณ์ทำงาน มีผลงานอย่างที่เขาต้องการมากกว่าเพียงแค่เกรดหรือผลการสอบในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้นอย่าไปยึดติดเรื่องผลการสอบสมัยเรียนหนังสือให้มากจนเกินไป แล้วเอามาโยงกับชีวิตการทำงานในปัจจุบันเพราะมันคนละเรื่องกันครับ

อย่าติดกับอดีตให้อยู่กับปัจจุบัน !

6.      สำหรับบริษัทที่น้องไปสมัครงานแล้วให้เงินเดือน 25,000 บาทนั้น ผมยังมีข้อคิดข้อสังเกตบางประการคือ ถ้าเป็นปริญญาตรี IT เหมือนกับน้อง แต่ไม่ได้สอบ TOEIC หรือผลการสอบ TOEIC ได้ต่ำกว่า 800 เช่น ได้ 600 คะแนน อย่างนี้จะให้เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 เท่ากันด้วยหรือไม่ ถ้าให้ไม่เท่ากันเหตุผลคืออะไร เพราะตำแหน่งงานนี้ต้องการคนที่เป็น IT Man ที่ใช้ภาษาอังกฤษ พูด-อ่าน-เขียน คล่องแคล่วต้องติดต่อกับต่างชาติอย่างนั้นหรือเปล่า

ถ้าสมมุติว่าในตำแหน่งที่น้องสมัครงานนี้ไม่ได้ติดต่อต่างชาติไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเลย จะไปกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นในตำแหน่งนี้ให้สูงกว่าคนที่จบวุฒิเดียวกันแต่ไม่ได้สอบ TOEIC หรือ ผลคะแนน TOEIC น้อยกว่าน้องคนนี้ไปเพื่ออะไรกันครับ

ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะยังมีหลายองค์กรมีการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะนี้ที่พอผมถามไปก็หาเหตุผลในการตอบผมไม่ได้ว่าทำไมถึงไปจ่ายแพงกว่าในเรื่องที่เราก็ไม่ได้ใช้ แถมทำให้ Staff Cost สูงขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล และยังทำให้เกิดปัญหาเชิงแรงงานสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันอีกต่างหาก เพราะทำงานเดียวกัน ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษติดต่อต่างชาติอะไรเลยเหมือน ๆ กัน แต่เพื่อนดันได้เงินเดือนเยอะกว่าทั้ง ๆ ที่ผลสอบ TOEIC ก็ไม่ได้เอามาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์กับบริษัทคุ้มค่ากับเงินที่บริษัทจ่ายเพิ่มขึ้น ??

ผู้บริหารองค์กรไม่ควรลืมสัจธรรมที่ผมพูดไว้เสมอ ๆ ว่า “เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่” ด้วยล่ะครับ เรื่องเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารงานบุคคลมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว

จากที่ผมแชร์ความคิดเห็นและข้อสังเกตมาทั้งหมดนี้คงจะพอทำให้ทั้งท่านที่เป็นน้องใหม่เพิ่งจบการศึกษา และท่านที่เป็นผู้บริหารกิจการได้มีข้อคิดอะไรบางอย่างเพื่อกลับไปปรับปรุงอะไรบางอย่างบ้างแล้วนะครับ

……………………………….

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผู้สมัครงานควรจะถามเรื่องเงินเดือนเมื่อไหร่ดี ?


            ในระหว่างการสัมภาษณ์งานมักจะมีคำถามหนึ่งที่มักจะเป็นประเด็นสอบถามกันอยู่เสมอ ๆ ว่า..

ผู้สมัครงาน : “เราควรจะถามเรื่องเงินเดือนกับผู้สัมภาษณ์ (ไม่ว่าจะเป็น HR หรือ Line Manager ก็ตาม) ดีหรือไม่”

ผู้สัมภาษณ์ : “เราควรจะตอบคำถามข้างต้นยังไงดี”

            ผมว่าเป็นเรื่องปกตินะครับที่ผู้สมัครงานเองก็อยากจะรู้ว่าถ้าเรามาทำงานที่บริษัทนี้จะได้เงินเดือนสักเท่าไหร่ เพื่อจะได้เอาไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ไปสมัครงานอยู่ ถ้าบริษัทไหนให้เงินเดือนดีกว่าก็มีแนวโน้มจะไปทำงานกับบริษัทที่จ่ายดีกว่า ก็เลยอยากจะรู้ว่าที่บริษัทนี้เขาจ่ายเท่าไหร่

            แต่อันนี้เป็นมุมมองหรือความคิดของทางฝั่งผู้สมัครงานนะครับ !

            ผมอยากจะให้ท่านที่เป็นผู้สมัครงานลองคิดและมองในมุมของผู้สัมภาษณ์ที่อยู่ทางฝั่งบริษัทบ้าง....

            ทุกบริษัทจะถือว่าเรื่องเงินเดือนเป็นความลับ แทบทุกบริษัทก็มักจะมีแนวปฏิบัติคล้าย ๆ กันก็คือก่อนเงินเดือนจะออกก็จะมีการแจกสลิปเงินเดือนเป็นรายบุคคลปิดผนึกอย่างดี แถมบางแห่งก็ตีตรา “ลับ” หรือ “ลับเฉพาะ” นัยว่าไม่อยากให้พนักงานรู้เงินเดือนกัน  เพราะสัจธรรมที่ผมมักจะพูดเสมอ ๆ ว่า....

          “เงินเดือนเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเงินเดือนคนอื่นได้เท่าไหร่” น่ะสิครับ

            นี่ขนาดเป็นพนักงานของบริษัทนะครับ ยังพยายามปิดเรื่องเงินเดือนกันขนาดนี้

          แล้วท่านที่เป็น “คนนอก” คือเป็นผู้สมัครงาน ซึ่งบริษัทเองก็ยังไม่รู้ว่าจะรับท่านเข้าทำงานหรือเปล่า แล้วทำไมเขาถึงต้องเอาเรื่องความลับ (เงินเดือน) ของบริษัทมาบอกกับคนภายนอกด้วยเล่า ?

            แม้ว่าผู้สมัครบางท่านอาจจะบอกว่า “แหม..ก็บอกแบบกว้าง ๆ ก็ได้ว่าอยู่ในโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทหรือเปล่า หรือบอกแบบประมาณ ๆ เอาก็ได้  จะได้เอาไปเปรียบเทียบกับที่อื่นได้....ฯลฯ”

            ผมก็อยากจะบอกว่า การบอกแบบประมาณ  ๆ เอา หรือบอกแบบกลาง ๆ ที่ว่า “ก็คงจะอยู่ในโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทนะ....น่าจะไม่มีปัญหานะ.... ฯลฯ” ทำนองนี้ มันก็คือการให้คำรับรองโดยกลาย ๆ ที่จะทำให้ผู้สมัครงานฟังแล้วพออนุมานและนำไป “มโน”  ต่อได้แล้วนะครับ

            ยกตัวอย่างเช่น ผู้สมัครงานแจ้งขอเงินเดือนมาในใบสมัครงานมาที่อัตรา 20,000 บาท แล้วถามกรรมการสัมภาษณ์ว่า “ที่ขอเงินเดือนมา 20,000 บาทเนี่ยะบริษัทจะจ่ายได้หรือไม่” ถ้ากรรมการสัมภาษณ์ตอบว่า “ก็คิดว่าคงจะอยู่ในโครงสร้างเงินเดือนนะครับ” อย่างนี้ก็เท่ากับการยอมรับโดยปริยายแล้วว่าถ้าบริษัทรับเราเขาทำงานในตำแหน่งงานนี้เราก็จะได้เงินเดือนประมาณ 20,000 บาทนี่แหละ

          แต่....โลกทุกวันนี้คือโลกของ Social media ครับ..เมื่อเรารู้..โลกต้องรู้ด้วย !!

            ผู้สมัครรายนี้ก็เอาเรื่องนี้ไปโพสขึ้นกระทู้ในเว็บไซด์ดัง ๆ ทันทีว่า....

          “วันนี้ เราไปสมัครงานที่บริษัท....ตำแหน่ง....เขาให้เงินเดือนสองหมื่น เพื่อน ๆ ว่างัย....” เท่านั้นแหละครับ เดี๋ยวก็จะมีพวกเข้ามาเม้นท์มาเม้าท์กันสนุกสนาน ทั้ง ๆ ที่คนเม้นท์เองก็ไม่ได้ไปสัมภาษณ์ด้วย ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานในตำแหน่งนี้อะไรเลยอีกต่างหาก แต่อยากจะขอเม้าท์ออกความเห็นในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้รายละเอียดอ้ะ เพราะเม้นท์ไปแล้วเราไม่ต้องรับผิดชอบอะไรนี่

            แต่ที่จะมีปัญหาดราม่ามากกว่านั้น ก็คือพนักงานของบริษัทในตำแหน่งเดียวกัน ดันไปอ่านกระทู้นี้ด้วยก็จะปรี๊ดขึ้นทันที เพราะตัวเองก็ทำงานตำแหน่งนี้อยู่แต่ได้เงินเดือน 18,000 บาทเอง ทำไมใครก็ไม่รู้มาสมัครงานตำแหน่งเดียวกับเราดันได้มากกว่าเราตั้งสองพัน!!

          เห็นไหมครับว่าสัจธรรม “เงินเดือนเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับคนอื่นได้เท่าไหร่” เริ่มทำงานแล้ว ! เกิดปัญหาภายในบริษัทขึ้นตั้งแต่บริษัทยังไม่ได้รับผู้สมัครคนนี้เข้ามาทำงานเลย แถมในที่สุดก็อาจจะไม่ได้รับผู้สมัครรายนี้เข้าทำงานอีกตะหาก

            ผมถึงมักจะแนะนำให้คนที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ตอบผู้สมัครงานแบบกลาง ๆ ไปว่า “บริษัทกำลังหาผู้สมัครงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้อยู่ ยังสัมภาษณ์ไม่หมด ถ้าบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าคุณเหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากกว่าผู้สมัครรายอื่นและตัดสินใจรับคุณเข้าทำงาน บริษัท (โดยฝ่าย  HR) จะติดต่อกลับไปอีกครั้งพร้อมทั้งจะคุยรายละเอียดเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการกันต่อไป”

            แปลว่าจบครับ ยังไม่ต้องมาคุยกันเรื่องเงินเดือนเพราะบริษัทก็ยังไม่รู้ว่าจะรับผู้สมัครรายนี้เข้าทำงานหรือไม่ คุยกันไปก็ยังไม่มีประโยชน์ตอนนี้ สู้มาคุยกันเรื่องงานที่จะต้องทำต้องรับผิดชอบในตำแหน่งนี้กันก่อนจะดีกว่า ว่าผู้สมัครมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับงานนี้มากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับรายอื่น ๆ

          จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ก็มาสู่คำตอบของทางฝั่งผู้สมัครงานว่า “แล้วถ้ายังงั้นควรจะถามเรื่องเงินเดือนกันเมื่อไหร่ดี ?”

            ก็ตอบว่า “ก็ถามตอนที่บริษัทเขาติดต่อกลับมาแจ้งว่ารับท่านเข้าทำงานแล้วและจะเรียกไปเซ็นสัญญาจ้างงานน่ะสิครับ” เพราะตอนนี้แหละเป็นตอนที่ท่านได้รับการยืนยันแล้วว่าบริษัทรับเข้าทำงานเป็นพนักงานแน่นอน เราก็มีสิทธิจะต้องรู้ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของเราแล้ว เพราะเรื่องงานและความรับผิดชอบเราคุยกันไปหมดแล้วตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์ ตรงนี้ท่านก็ต่อรองเรื่องเงินเดือนและผลตอบแทนกันตามที่จะ WIN-WIN ทั้งสองฝ่ายได้เต็มที่

            แต่ถ้าผู้สมัครงานไปถามตอนที่ยังสัมภาษณ์อยู่ (ซึ่งยังไม่รู้ว่าบริษัทจะรับเข้าทำงานหรือเปล่า) ต่อให้บริษัทบอกว่าในตำแหน่งนี้จ้างอยู่ 30,000 บาท ถ้าเขาไม่รับท่านเข้าทำงานเพราะคุณสมบัติไม่ตรงกับตำแหน่งงานนี้ ถึงจะรู้เงินเดือนไปก็ไม่มีประโยชน์ (สำหรับผู้สมัครงานที่เขาไม่ได้รับ) จริงไหมครับ

            อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงจะเข้าใจตรงกันแล้วทั้งสองฝ่ายว่าควรจะถามเรื่องเงินเดือนตอนไหน และควรจะตอบเรื่องอัตราเงินเดือนยังไงถึงจะเหมาะสมนะครับ

 

………………………………..