วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บริษัทไม่มีเกษียณอายุ ผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ ?

            “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การทำงานก็ย่อมมีวันสิ้นสุด” และการสิ้นสุดของการทำงานก็มักจะเป็นการเกษียณอายุ ซึ่งการเกษียณอายุนี่แหละครับเป็นเรื่องที่เราจะมาคุยกันในวันนี้

            วันนี้ผมมีคำถามที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งครั้งแรกที่ผมได้ยินคำถามนี้ผมก็เลยรีบจดหัวข้อนี้มาเพื่อเอามาแลกเปลี่ยนกับท่านทันทีเพราะกลัวลืม

            คำถามก็มีอยู่ว่า

1. ถ้าที่บริษัทไม่มีการกำหนดให้พนักงานเกษียณอายุ บริษัททำผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่
2. ถ้าบริษัทจะกำหนดระเบียบการเกษียณอายุ จะต้องให้พนักงานเกษียณที่อายุเท่าไหร่
3. บริษัทจะต้องจ่ายเงินอะไรเป็นพิเศษให้พนักงานที่เกษียณอายุหรือไม่

            บางทีเราก็ทำงานกันจนลืมไปว่าวันหนึ่งเราก็จะต้องหยุดการทำงานด้วยวัยที่มากขึ้น ด้วยสังขารที่เปลี่ยนไป ตอนที่เรายังหนุ่มยังสาวเราอาจจะไม่ได้เคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่พออายุเริ่มมากขึ้นก็เลยเริ่มหวนกลับมาคิดแล้วว่าเราจะทำงานไปจนถึงอายุเท่าไหร่กันหนอ ก็เลยเกิดคำถามทำนองนี้ขึ้นมา
             
             ซึ่งแน่นอนครับว่าเจ้าของคำถามนี้อายุเกิน 50 ขึ้นมาแล้วครับ (555..)

            ผมก็เลยขอตอบคำถามแบบเอามาแชร์ให้ท่านที่สนใจเรื่องนี้ได้ทราบพร้อม ๆ กันอย่างนี้ครับ

ตอบข้อ 1 : ส่วนมากที่ผมพบ (หรือที่ผมเคยทำมา) บริษัทมักจะกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ในหมวดของการเลิกจ้างและการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ซึ่งจะอยู่ในข้อบังคับการทำงานของบริษัท โดยหมวดนี้จะพูดถึงการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานมีอะไรบ้าง เช่น การตาย, การลาออก, การเลิกจ้าง และการเกษียณอายุ เป็นต้น

            แต่หากบริษัทใดไม่ได้ระบุเรื่องการเกษียณอายุเอาไว้ให้ชัดเจนอย่างที่ผมบอกมานี้ ก็ไม่ได้ถือว่าทำผิดกฎหมายแรงงานนะครับ แต่ถ้าไม่มีข้อกำหนดเรื่องการเกษียณอายุให้ชัดเจนก็หมายถึงบริษัทจ้างพนักงานทำงานไปตลอดชีวิตจนกว่าพนักงานจะตายจากบริษัท หรือจนกว่าพนักงานจะลาออก หรือบริษัทเลิกจ้างพนักงานคนนั้น ๆ ไปนั่นแหละครับ

             ข้อดีของการไม่กำหนดการเกษียณอายุก็คือพนักงานจะทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะลาอออกไปเอง ซึ่งแน่นอนว่าหากพนักงานลาออกก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ จากบริษัทเพราะถือว่าพนักงานลาออก แต่ถ้าพนักงานทำงานต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะมีงานทำและมีเงินได้ไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิตครับ

            เท่าที่ผมเคยเห็นมาก็พบว่ามีอยู่บ้างเหมือนกันที่บางบริษัทไม่มีการกำหนดการเกษียณอายุเอาไว้ (แต่ก็เป็นส่วนน้อย) ส่วนใหญ่จะกำหนดการเกษียณอายุพนักงานไว้ทั้งนั้นแหละครับ ดังนั้นถ้าท่านอยากรู้ว่าบริษัทของท่านมีกำหนดการเกษียณอายุไว้หรือไม่ก็ต้องสอบถาม HR หรือขอดูข้อบังคับการทำงานของบริษัทครับ

ตอบข้อ 2 : กรณีที่บริษัทกำหนดการเกษียณอายุจะกำหนดไว้ที่อายุเท่าไหร่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายบริหารว่าอยากให้พนักงานเกษียณที่อายุกี่ขวบ จากผลการสำรวจของบริษัท HR Center พบว่าบริษัทกำหนดให้พนักงานเกษียณที่อายุ 60 ปี จะมีอยู่ราว ๆ 56% ส่วนบริษัทที่กำหนดให้พนักงานเกษียณที่อายุ 55 ปีจะมีอยู่ราว ๆ 43% ครับ

ตอบข้อ 3 : บริษัทจะต้องจ่ายเงินอะไรเป็นพิเศษให้กับพนักงานเกษียณหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน) นั่นคือสมมุติว่าอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป (เพราะส่วนมากคนที่เกษียณอายุก็มักจะทำงานกันมาเกิน 10 ปีขึ้นไปทั้งนั้นแหละครับ) ก็จ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณ 300 วัน (คิดค่าจ้างอัตราสุดท้ายหาร 30 ได้เท่าไหร่ก็คูณ 300 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของค่าชดเชยแล้วครับ) เข้าไป ซึ่งภาษาคนทำงานจะบอกว่าได้ค่าชดเชย 10 เดือนนั่นแหละครับ

ถ้าจะถามว่าทำไมต้องจ่ายค่าชดเชยด้วยล่ะ ก็ตอบได้ว่าเพราะการที่บริษัทกำหนดการเกษียณอายุไว้ในระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัท ก็เสมือนบริษัทแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างเมื่อพนักงานมีอายุครบเกษียณยังไงล่ะครับ เมื่อเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายก็เท่านั้นแหละครับ

แต่ถ้าบริษัทจะจ่ายเงินพิเศษอะไรให้กับพนักงานเกษียณมากกว่าที่กฎหมายกำหนดก็จะเป็นเรื่องดีสำหรับพนักงานทั้งที่เกษียณและพนักงานที่ยังปฏิบัติงานอยู่ให้ได้รับรู้ว่าบริษัทให้ความสำคัญและดูแลพนักงานที่ทำงานกับบริษัทมาอย่างยาวนานด้วยดี ซึ่งก็จะทำให้เกิดความรู้สึกดี ๆ ขึ้นระหว่างพนักงานกับบริษัทด้วย


อย่าลืมว่าพนักงานที่เกษียณไปแล้วยังจะต้องมีชีวิตอยู่โดยไม่มีงานประจำทำเหมือนเดิมไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตซึ่งต้องใช้เงินที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานในการกินอยู่และรักษาตัวในบั้นปลายด้วยเหมือนกัน ซึ่งถ้าบริษัทไหนมีโปรแกรมที่ช่วยเหลือพนักงานเกษียณที่มากกว่าค่าชดเชยที่กฎหมายกำหนดก็จะเป็นอานิสงส์กับผู้บริหารและกับบริษัทนั้นไม่น้อยเลยนะครับ.

...........................................

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“ผลสอบ” จะใช้วัดความสามารถในการทำงานได้จริงหรือ ?

            จากเด็กจนโตจนพร้อมที่จะทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ยุคนี้ก็คงจะต้องใช้เวลาประมาณ 19 ปี คือเรียนอนุบาล 3 ปี ประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี และอุดมศึกษาประมาณ 4 ปี ซึ่งระยะเวลาที่ผมบอกมานี้นักเรียนทุกคนก็ล้วนแต่อยู่ในระบบการทดสอบ โดยมี “ข้อสอบ” เป็นตัวชี้วัดหลัก (Key Performance Indicators-KPIs) ว่าจะมีความสามารถ “เลื่อนชั้น” ขึ้นไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งเรา-ท่านล้วนแต่เคยผ่านระบบอย่างนี้มาทั้งสิ้น

            แถมยังเชื่อว่าถ้าใครสอบผ่านได้คะแนนสูง เมื่อเรียนจบก็จะไปทำงานแล้วจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทำงานเก่ง ฯลฯ จนเกิดค่านิยมในหลายองค์กรที่เวลาจะพิจารณารับคนเข้าทำงานก็จะดูจากสถาบันการศึกษาที่จบมาบ้าง ดูจากเกรดเฉลี่ยบ้าง คือถ้าผู้สมัครคนไหนจบจากสถาบันการศึกษาชื่อดัง หรือจบมาด้วยเกรดที่สูงก็จะพิจารณารับเข้าทำงานอย่างง่ายดาย และตั้งเงินเดือนให้สูงกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้จบสถาบันที่บริษัทกำหนด หรือมีเกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกียรตินิยมโดยใช้ตรรกะเชื่อโยงแบบ Halo Effect (Search คำว่า “Halo Effect กับการบริหารงานบุคคล” ในกูเกิ้ลนะครับ ผมเคยเขียนไว้แล้ว)

          ผลก็คือหลายครั้งที่ความเชื่อแบบนี้เกิดการคัดเลือกคนที่ผิดพลาดเข้ามาทำงานในองค์กร !!

            เพราะคนเรียนเก่งสามารถสอบผ่านวิชาใด ๆ ก็ตามได้คะแนนสูง หรือจบจากสถาบันชื่อดัง ก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จแบบที่จะเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะทำงานเก่งและประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานระยะยาวไปด้วยเสมอไปน่ะสิครับ

            แล้วอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้คนประสบความสำเร็จในการทำงาน ?

            Competency คือคำตอบครับ..

            อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคน ๆ ไหนสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ (Knowledge-K) ที่มีอยู่ในตัวเอง, ใช้ทักษะ (Skills-S) ที่มีอยู่ในตัวเองและตำแหน่งงานนั้น ๆ ต้องการคนที่มีทักษะหรือความชำนาญในงานแบบนั้น และใช้คุณลักษณะภายใน (Attributes-A) ที่คน ๆ นั้นมีอยู่ในตัวเอง เช่น งานในตำแหน่งนี้ต้องการคนที่มีความละเอียดรอบคอบ, ต้องการคนที่มีความรับผิดชอบสูง, ต้องการคนอดทน ฯลฯ

เห็นไหมครับว่า K S A เหล่านี้มันจะต้องมาเรียนรู้และเพิ่มพูนเอาจากการทำงานจริงแทบทั้งหมด !

โธ่! ก็การทำงานไม่ใช่การท่องตำราไปเพื่อสอบให้ผ่านนี่ครับ..แต่ต้องการคนที่สามารถประยุกต์เรื่องต่าง ๆ ในงานมาสู่ภาคปฏิบัติได้จริงต่างหาก

          พูดง่าย ๆ ว่าคนที่จะทำงานแล้วประสบความสำเร็จคือคนที่มี K S A ในตัวเองและสามารถประยุกต์ใช้ K S A ที่มีอยู่ในตัวเองให้เหมาะกับงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ คน ๆ นั้นก็จะสามารถเติบโตก้าวหน้า ประสบความสำเร็จในงานที่ทำนั้นได้เป็นอย่างดี  และเป็นคนที่องค์กรต้องการ ซึ่งเราก็จะเรียกว่าคน ๆ นั้นมี “Competency” นั่นเองครับ

            ส่วนผลการสอบ, เกรดเฉลี่ย, สถาบันที่จบ นั้นจะใช้เพียงแค่เป็นข้อมูลในการสมัครงานตอนที่เพิ่งจบใหม่เท่านั้น เมื่อประสบการณ์ทำงานเริ่มมากขึ้นผมว่าคงไม่มีใครนำเอาเกรดเฉลี่ย, สถาบันที่จบ มาพิจารณาร่วมกับผลการปฏิบัติงานเพื่อนำไปขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสอย่างแน่นอน

            การสอบวิชาต่าง ๆ นั้นจะใช้วัดผลได้ก็ตอนเรียนหนังสือเท่านั้น เพราะไม่มีอะไรจะมาวัดสัมฤทธิผลในเรื่องการเรียนได้นอกจากการสอบ

            แต่เหตุใดเมื่อเข้ามาสู่โลกการทำงานองค์กรหลายแห่งจึงยังไปยึดติดกับ “การสอบ” สมัยเรียนมาคาดคะเน แถมคิดมโนไปว่า ถ้าเด็กคนไหนมีผลการทดสอบ (ไม่ว่าจะเป็นวิชาใด ๆ ขณะเรียนหนังสือ) ที่ได้คะแนนสูงแล้วจะประสบความสำเร็จในการทำงานไปด้วยล่ะครับ ?

          แถมยังไปให้เงินเดือน (ของคนที่สอบได้คะแนนสูงหรือจบจากสถาบันที่บริษัทกำหนดไว้) สูงกว่าพนักงานคนอื่น ๆ ที่จบคุณวุฒิเดียวกันเสียอีก (บางแห่งเขาเรียน “ค่าเกียรตินิยม”) ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มทำงานพิสูจน์ฝีมือในการทำงานเลยด้วยซ้ำ

            องค์กรที่มีนโยบายแบบนี้จะแน่ใจได้หรือไม่ครับว่าคนที่จบเกียรตินิยม “ทุกคน” จะทำงานแล้วประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า มี Competency เหมาะกับงานที่เขารับผิดชอบ ส่วนคนที่จบ 2.00 หรือคนที่ไม่ได้จบจากสถาบันชื่อดังจะทำงานแล้วไม่ได้เรื่อง ขาด Competency และไม่มีวันที่จะก้าวหน้า หรือประสบความสำเร็จ ??

            ที่ผมพูดมานี้ไม่ได้แปลว่าผมแอนตี้คนที่จบเกียรตินิยมหรือจบจากสถาบันดัง ๆ นะครับ แต่เพียงแค่อยากจะแชร์ประสบการณ์และให้ข้อคิดในอีกมุมหนึ่ง เพื่อให้องค์กรได้หันกลับมาคิดทบทวนอย่างมีเหตุมีผล เพื่อไม่ให้ค่านิยมที่เป็น Halo Effect มาทำให้เกิดปัญหาการจ้างและรับคนเข้าทำงานด้วยตรรกะที่ไม่ถูกต้อง และยังจะทำให้เกิดปัญหาเชิงแรงงานสัมพันธ์ตามมาในอนาคต

เพราะถ้าจบมาคะแนนสูงแล้วทำงานได้ดีจริงจะได้เงินเดือนมากกว่าคนอื่นคงไม่มีใครข้องใจ แต่จบมาคะแนนสูงแล้วทำงานก็สู้คนอื่นไม่ได้ แต่ดันได้เงินเดือนมากกว่าคนอื่นตั้งแต่ต้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ฝีมือน่ะมันมีแต่เสียกับเสียนะครับ

เสียแรกคือบริษัทต้องจ่ายค่าจ้างแบบ Overpaid คือจ่ายเงินมากในขณะที่พนักงานทำงานไม่คุ้มค่าเงินที่บริษัทจ่ายไป เสียที่สองคือเสียความรู้สึกสำหรับพนักงานที่ทำงานดีแต่ไม่ได้จบมาได้เกรดสูงหรือไม่ได้จบมาจากสถาบันดัง ๆ แล้วเสียที่สามคือถ้าคนที่ทำงานดี (แต่ไม่ได้เกียรตินิยมหรือจบสถาบันดัง) รับไม่ได้ก็จะลาออกไปทำให้บริษัทเสียพนักงานที่ทำงานดีไปในที่สุด

ฝากไว้เป็นข้อคิดกันดูสำหรับองค์กรที่ยังมีนโยบายทำนองนี้นะครับ.


……………………………………………

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คำถามเกี่ยวกับสัญญาจ้าง

            อันที่จริงแล้ว ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับสัญญาจ้างไว้หลายครั้งแล้วแต่ก็ยังมักจะมีคำถามในเรื่องสัญญาจ้างของคนที่เพิ่งจะได้งานทำและสอบถามมาอยู่เสมอ ๆ แต่ไม่เป็นไรครับเรื่องพวกนี้ถามบ่อย ๆ ตอบบ่อย ๆ เดี๋ยวก็ค่อย ๆ ซึม (หมายถึงเข้าใจนะครับ ไม่ได้หมายถึงคนตอบหรือคนถามนั่งซึม) เรื่องเหล่านี้ไปเอง

            คำถามมีอย่างนี้ครับ

1. เมื่อบริษัทรับเข้าทำงานแล้วทำสัญญาจ้างโดยมีการระบุว่าทดลองงาน 119 วัน เมื่อพ้นทดลองงานแล้ว บริษัทถึงจะทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานประจำใช่หรือไม่
2. กรณีมีเงื่อนไขว่าเมื่อพ้นทดลองงาน (ศัพท์คนทำงานเขาเรียกว่า “พ้นโปรฯ” หมายถึง Probation=ทดลองงาน นั่นแหละครับ) แล้ว บริษัทจะปรับเงินเดือนให้อีก 2,000 บาท จะมีวิธีคำนวณยังไงในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการทดลองงาน และการบรรจุเป็นพนักงานประจำ
3. หากบริษัททำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา พนักงานไม่ต้องมีช่วงเวลาทดลองงานใช่หรือไม่ และเมื่อครบระยะเวลาแล้ว บริษัทจะต้องมีหนังสือแจ้งเตือนพนักงานอีกหรือเปล่า

ผมตอบแต่ละข้อดังนี้นะครับ

            ตอบข้อ 1 : ถ้าบริษัทรับคุณเข้าเป็นพนักงานประจำ บริษัทก็จะทำสัญญาอย่างที่คุณถามมานั่นแหละครับ โดยส่วนใหญ่มักจะระบุระยะเวลาทดลองงานไว้ไม่เกิน 120 วัน อย่างที่คุณถามมา เพราะเหตุผลว่า ถ้ามีการทดลองงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไปแล้วผลงานของพนักงานทดลองงานไม่เป็นที่น่าพอใจ บริษัทก็จะต้องแจ้งผลว่าไม่ผ่านทดลองงาน ซึ่งก็มักจะให้พนักงานเขียนใบลาออกไป ซึ่งถ้าพนักงานเขียนใบลาออกก็ไม่มีปัญหาอะไรกับทางบริษัท

            แต่ถ้าพนักงานไม่เขียนใบลาอออก บริษัทก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้างด้วยสาเหตุไม่ผ่านทดลองงาน ซึ่งก็จะเป็นประวัติด้านลบสำหรับพนักงาน (ส่วนใหญ่พนักงานไม่ผ่านทดลองงานถึงเขียนใบลาออกเพราะไม่อยากมีปัญหากับบริษัทแห่งใหม่ที่ไปกรอกใบสมัครงานเพราะต้องให้ข้อมูลว่า “ถูกเลิกจ้าง” เนื่องจากไม่ผ่านทดลองงาน) แต่ในกรณีเลิกจ้างดังกล่าวบริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานตามกฎหมายแรงงานมาตรา 118 คือ พนักงานที่อายุงาน (นับแต่วันเข้าทำงานจนถึงวันที่เลิกจ้าง) 120 วันไม่เกิน 1 ปี จ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

            แต่ถ้าคุณผ่านทดลองงานบริษัทก็มักจะมีคำสั่งบรรจุให้คุณเป็นพนักงานประจำ ดังนั้นส่วนใหญ่มักไม่ทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานประจำขึ้นมาใหม่หรอกครับ จะใช้คำสั่งบรรจุเป็นตัวยืนยันกับพนักงานมากกว่า ซึ่งสัญญาจ้างงานแบบนี้เรียกภาษากฎหมายว่า “สัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา” คือจ้างเป็นพนักงานประจำกันจนกว่าพนักงานจะลาออก หรือจนเกษียณ หรือจนบริษัทจะเลิกจ้างกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละครับ

ตอบข้อ 2 : วิธีคิดก็คือ นำเงินเดือนที่จะปรับเพิ่มคือ 2,000 บาท มาหาร 30 (คือ 1 เดือนทำงาน 30 วัน) จะได้วันละ 67 บาท แล้วคุณพ้นโปรฯ ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ในเดือนนั้นล่ะ เช่น พ้นโปรฯ วันที่ 18 มิถุนายน บริษัทก็จะจ่ายเงินเดือนส่วนเพิ่มนี้ให้คุณ 12 วัน (ตั้งแต่วันที่ 19-30 มิถุนายน) วันละ 67 บาท รวมเป็นเงิน 67x12=804 บาท และในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป คุณก็จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 2,000 บาทเต็มเดือนครับ

ตอบข้อ 3 : ปกติ “สัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา” บริษัทมักจะทำสำหรับพนักงานชั่วคราวที่จ้างเข้ามาทำงานเป็นโครงการเฉพาะเรื่องเฉพาะกิจเป็นครั้ง ๆ ไป โดยระบุระยะเวลาการทำงานไว้อย่างชัดเจนในสัญญา เมื่อจบโครงการตามสัญญาพนักงานก็ไม่ต้องเขียนใบลาออก และบริษัทก็ไม่ต้องบอกเลิกจ้าง โดยจะถือว่าสภาพการจ้างหมดไปโดยระยะเวลาในสัญญา

เช่น บริษัท ABC ทำสัญญาจ้างนายทรงยศ เข้ามาทำงานวิจัยตลาดคู่แข่งให้บริษัท โดยระบุระยะเวลาในสัญญาไว้ 1 ปี ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2557 ถึง 31 พฤษภาคม 2558 เมื่อถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 นายทรงยศ ก็ไม่ต้องมาทำงานกับบริษัท ABC อีกต่อไปโดยที่นายทรงยศไม่ต้องยื่นใบลาออก และบริษัทก็ไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง โดยบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างให้นายทรงยศจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2558

แต่ถ้าบริษัทยังปล่อยให้นายทรงยศมาทำงานต่อไปหลังจากครบสัญญา ก็จะกลายเป็นว่าเกิดสภาพการจ้างต่อเนื่องดังนั้นจะกลายเป็นสัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา (ซึ่งก็คือสัญญาจ้างพนักงานประจำทั่วไปนั่นเอง) ไปทันที ถ้าบริษัทจะเลิกจ้างนายทรงยศเมื่อไหร่ก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานนับแต่วันแรกที่นายทรงยศเข้ามาทำงานกับบริษัทตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน (ไป Search คำว่า “กฎหมายแรงงาน” ในกูเกิ้ลดูนะครับว่ามาตรา 118 มีรายละเอียดยังไงบ้าง) แต่ถ้านายทรงยศลาออกเองบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

หวังว่าเราคงเข้าใจเรื่องของสัญญาจ้างตรงกันแล้วนะครับ


………………………………….