วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จะทำอย่างไร...เมื่อพนักงานไม่ยอมเซ็นรับทราบการตักเตือน



            เมื่อคนเรามาทำงานร่วมกันก็ย่อมต้องมีกฎ กติกา มารยาท ในการทำงานร่วมกันซึ่งในแต่ละองค์กรก็จะต้องมีข้อบังคับหรือกฎระเบียบในการทำงานเป็นแนวทางให้พนักงานปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการทำงานร่วมกัน ก็คงคล้าย ๆ กับบ้านเมืองก็ต้องมีกฎหมายนั่นแหละครับ
            แต่คนทุกคนจะประพฤติปฏิบัติตัวเหมือนกันทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้หรอกนะครับ ในคนหมู่มากก็จะมีคนที่ทำตัวอยู่นอกกฎ กติกา ไปมากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับพฤติกรรมของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าหากการประพฤติปฏิบัติตัวที่ละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบขององค์กรจนยอมรับไม่ได้ ก็จะต้องมีการ ตักเตือน กัน
ประเภทของการตักเตือน
            โดยวิธีปฏิบัติทั่ว ๆ ไปเรามักจะใช้วิธีตักเตือนพนักงานที่ทำความผิด 2 วิธีหลัก ๆ คือ
1.      ตักเตือนด้วยวาจา
2.      ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
ในองค์กรของท่านก็คงจะมีแนวปฏิบัติคล้าย ๆ กันเช่นนี้ใช่ไหมครับ ?
โดยกรรมวิธีในการตักเตือนด้วยวาจาส่วนใหญ่ หัวหน้างานของพนักงานคนนั้น ๆ (ที่ทำความผิด) ก็จะเชิญ (หรือเรียก) พนักงานมาพบในที่เฉพาะและตักเตือนให้พนักงานรู้ว่าได้กระทำความผิดใดไปบ้าง และทำให้เกิดความเสียหาย หรือมีผลต่อหน่วยงานหรือองค์กรอย่างไร
            มีหัวหน้างานหลายคนที่ว่ากล่าวตักเตือนพนักงานต่อหน้าเพื่อนพนักงาน หรือว่ากล่าวในที่สาธารณะ(ภายในองค์กร) และหลายครั้งที่การว่ากล่าวนั้นแฝงด้วยอารมณ์โมโหเข้าไปด้วย ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หัวหน้างานพึงระมัดระวังนะครับ เพราะถึงแม้ว่าพนักงานที่ทำความผิดนั้นจะทำผิดจริง แต่การว่ากล่าวกันในที่สาธารณะและให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องได้ฟังได้ยินไปด้วยน่ะ ไม่ใช่เรื่องดีและทำให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีนักนะครับ
            ลองคิดกลับกันดูว่าถ้าหัวหน้างานคนนั้น ถูกหัวหน้าที่เหนือขึ้นไปทำอย่างนั้นบ้าง เขาจะรู้สึกอย่างไร ?
            บ่อยครั้งที่การว่ากล่าวตักเตือนไม่เป็นผลก็เพราะลักษณะที่ผมบอกมานี้แหละครับ คือแทนที่พนักงานจะยอมรับผิด กลับทำให้พนักงานเกิดทิฐิ เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อหัวหน้า ยิ่งถ้าความผิดนั้นไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่หัวหน้างานใช้อารมณ์ที่เกินกว่าเหตุดุด่าว่ากล่าวไปแรง ๆ แล้ว พนักงานคนนั้นก็จะได้รับความเห็นใจจากเพื่อน ๆ ที่ฟังอยู่ด้วยไปเสียอีก
            ซึ่งผลสะท้อนกลับมาที่หัวหน้างานว่า ใช้อารมณ์ในการทำงานกับลูกน้อง ได้เหมือนกันนะครับ
            แทนที่ลูกน้องจะสำนึกผิด กลับได้รับความเห็นใจจากเพื่อน ๆ รอบข้างไปเสียนี่
            ทางที่ดีก็ว่ากล่าวตักเตือนกันในที่เฉพาะระหว่างหัวหน้างานกับพนักงานที่ทำความผิดจะดีกว่าครับ
การเตือนด้วยลายลักษณ์อักษร
            คราวนี้ผมขอพูดเจาะจงในเรื่องการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรนะครับ ซึ่งการเตือนแบบนี้โดยทั่ว ๆ ไปมักจะเป็นการเตือนที่ผ่านการเตือนด้วยวาจามาก่อนหน้านี้แล้ว แต่พนักงานก็ยังทำความผิดซ้ำเดิม เช่น การมาทำงานสาย,การขาดงาน เป็นต้น
            เมื่อมาถึงขั้นของการเตือนเป็นหนังสือตักเตือน หรือเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเราจะต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนนะครับว่า
          หนังสือตักเตือนที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
            ท่านลองพิจารณาสิครับว่าข้างล่างนี้เป็นหนังสือตักเตือนที่ถูกต้องหรือไม่ ?
                                                                       
วันที่.............................................
เรื่อง      ตักเตือน
เรียน     คุณ.....................................

เนื่องจากท่านขาดงานโดยลาป่วยและลากิจหลายครั้ง ตั้งแต่วันที่15 พค.56 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทขอแจ้งให้ท่านทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่สมควร และบริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะไม่ขาดงานในลักษณะดังกล่าวอีก

จึงแจ้งมาเพื่อทราบ

                                                                        ………………...
                                                                         (นายมั่น หวังดี)
                                                                          ผู้จัดการฝ่าย...
            ใครว่าหนังสือนี้เป็นหนังสือตักเตือนบ้างครับ ?
ถ้าหากหัวหน้าบอกว่านี่เป็นหนังสือเตือนล่ะก็ พอหนังสือฉบับนี้ไปถึงศาลแรงงาน หนังสือฉบับนี้ก็จะไม่ใช่หนังสือตักเตือนที่ถูกต้อง เพราะยังขาดข้อความอะไรบางอย่างไป ทำให้หนังสือตักเตือนฉบับนี้ไม่สมบูรณ์น่ะสิครับ
            แล้วหนังสือตักเตือนที่ถูกต้องจะมีข้อความอย่างไรล่ะ ?”
 ผมทายว่าท่านจะต้องถามคำถามนี้ใช่ไหมครับ เลยขอเล่าสู่กันฟังดังนี้
ข้อความที่พึงมีในหนังสือตักเตือน
1.      วัน เดือน ปี ที่ออกหนังสือตักเตือน (อาจเป็นวันเดียวกับวันที่พนักงานทำความผิดนั้น)
2.      สถานที่ที่ออกหนังสือตักเตือน (โดยทั่วไปใช้หัวกระดาษของบริษัท)
3.      ข้อเท็จจริงโดยย่อเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือการฝ่าฝืนระเบียบของบริษัท โดย บอกถึง วัน เดือน ปี สถานที่ ที่กระทำความผิดหรือฝ่าฝืน
       4.      ข้ออ้างที่ระบุว่าการกระทำความผิดนั้น ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับข้อใดของบริษัท หรือฝ่าฝืนคำสั่งของบริษัทในเรื่องใด ข้อใด
หากความผิดนั้นไม่มีอยู่ในระเบียบข้อบังคับของบริษัทก็ไม่ต้องอ้างถึงข้อใดให้คลุมเครือวุ่นวายไปนะครับ ก็ระบุความผิดนั้นไปตรง ๆ เลย
5.      ข้อความที่มีลักษณะเป็นการตักเตือน โดยอาจจะเป็นคำแนะนำ ห้ามปรามไม่ให้กระทำการฝ่าฝืนอีกต่อไป ถ้าหากฝ่าฝืนหรือทำความผิดอีก บริษัทจะมีบทลงโทษในครั้งต่อไปเป็นอย่างไร
6.      ลายมือชื่อของผู้บังคับบัญชาผู้ออกหนังสือตักเตือน ซึ่งจะต้องมีช่องลงลายมือชื่อไว้สำหรับพยานที่จะต้องร่วมลงนามเมื่อเรียกพนักงานที่ทำความผิดมาตักเตือนต่อหน้าพยานด้วยนะครับ
เอาล่ะครับคราวนี้ผมขอยกตัวอย่างหนังสือตักเตือนกรณีพนักงาน
กระทำความผิดมาเพื่อประกอบความเข้าใจของท่านดังนี้

บริษัท...........................................
                                    วันที่ .............................................
เรื่อง      ตักเตือน
เรียน     คุณตามใจ ไทยแท้
เนื่องจากท่านได้ประพฤติตนฝ่าฝืนระเบียบ และข้อบังคับของบริษัท กล่าวคือ ท่านขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 นั้น
            บริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของท่านดังกล่าว เป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อระเบียบและข้อบังคับของบริษัทบทที่ 9 วินัย การลงโทษ ข้อ 2.2.1 คือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท , ข้อ 2.2.20 คือ ละทิ้งหน้าที่ ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการทำงาน หรือขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
            ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ บริษัทจึงขอตักเตือนท่านเป็นลายลักษณ์อักษร มิให้ประพฤติปฏิบัติตนเช่นนี้อีก และให้ท่านปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทโดยเคร่งครัด และหากท่านยังประพฤติฝ่าฝืนอีก บริษัทจะพิจารณาลงโทษสถานหนักต่อไป


ลงชื่อ……….………..ผู้แจ้งการตักเตือน/ผู้บังคับบัญชา
วันที่…………….......
ลงชื่อ...................พนักงาน/ผู้รับทราบการตักเตือน
วันที่.....................
ลงชื่อ...................พยาน
วันที่.....................
ลงชื่อ...................พยาน
วันที่.....................

วิธีการตักเตือนพนักงานที่ทำความผิดเป็นลายลักษณ์อักษร
            อย่างที่ผมได้บอกไว้แล้วในตอนต้นว่า การตักเตือนพนักงานควรทำในที่เฉพาะดังนั้นจึงควรเชิญพนักงานไปที่ห้องประชุม หรือห้องของหัวหน้างานที่เหมาะสม แล้วเชิญพยานซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล หรือผู้ที่หัวหน้างานเห็นว่าเหมาะสมมานั่งรับฟังการตักเตือน แล้วปฏิบัติดังนี้ครับ
1.  เตรียมหนังสือตักเตือนให้เรียบร้อย โดยท่านควรจะปรึกษากับฝ่าย
บุคคลเพื่อให้หนังสือตักเตือนถูกต้องอย่างที่ผมได้บอกไปข้างต้นแล้ว
2.  มีพยานร่วมในการตักเตือน
3.  เชิญพนักงานที่ทำความผิดมารับทราบการตักเตือน
4.  ให้พนักงานเซ็นรับทราบการตักเตือน
5.  ให้พยานลงนาม
6.  หัวหน้างานลงนาม
7.  สำเนาหนังสือตักเตือนให้พนักงานที่ทำความผิด
8.  ส่งหนังสือตักเตือน(ตัวจริง)ให้ฝ่ายบุคคล


เมื่อพนักงานที่ทำความผิดไม่ยอมเซ็นชื่อ
            เมื่อท่านได้แจ้งการกระทำความผิดของพนักงานให้เจ้าตัวเขารับฟัง พร้อมทั้งตักเตือนแล้ว และส่งหนังสือตักเตือนให้เขาเซ็นชื่อเพื่อรับทราบความผิด
            ปรากฏว่าเขาไม่ยอมเซ็นชื่อ ซึ่งส่วนมากจะด้วยเหตุผลว่า ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นผิด หรือ ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม หรือ ฯลฯ ทำให้หัวหน้างานหลายคนออกอาการ หัวเสีย หรือหงุดหงิดขึ้นมาทันที
            ใจเย็น ๆ ครับ ใจเย็น ๆ ถ้าพนักงานที่ทำความผิดไม่ยอมเซ็นชื่อให้หัวหน้างานปฏิบัติดังนี้ครับ
1.      หัวหน้างานอ่านหนังสือตักเตือนให้พนักงานทราบอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ
2.      สอบถามเหตุผลที่พนักงานไม่ยอมเซ็นชื่อรับทราบการตักเตือนครั้งนี้
3.      หัวหน้างานเขียนข้อความลงในหนังสือตักเตือนทำนองนี้
ได้แจ้งความผิดให้พนักงานรับทราบตามข้อความข้างต้นแล้ว พนักงาน
ไม่ลงนามรับทราบความผิดโดยให้เหตุผลว่า.........(ให้ใส่คำตอบของพนักงานตามข้อ 2 ลงไป กรณีที่พนักงานไม่ตอบอะไรเลยก็ให้เขียนว่า พนักงานไม่ให้เหตุผลใด ๆ ) จึงบันทึกความผิดไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยานซึ่งลงนามไว้ข้างท้ายหนังสือตักเตือนฉบับนี้แล้ว
4.      หัวหน้างานลงนามในหนังสือตักเตือน
5.      พยานลงนามในหนังสือตักเตือน
6.      ส่งสำเนาหนังสือตักเตือนให้พนักงานที่ทำความผิด
7.      ส่งหนังสือตักเตือน (ตัวจริง) มายังฝ่ายบุคคลเพื่อเข้าแฟ้มไว้เป็นหลัก
ฐาน
จะเห็นได้ว่าทั้ง 7 ข้อที่ผมบอกมานี้ พนักงานที่ทำความผิดไม่ต้องเซ็น
ชื่อรับทราบความผิด

 แต่หนังสือตักเตือนฉบับนี้ถือว่าสมบูรณ์แล้วครับใช้เป็นหลักฐานต่อไปได้

อ้อ ! อย่าลืมว่าหนังสือตักเตือนจะมีผลกรณีที่พนักงานทำความผิดซ้ำความผิดเดิมอยู่ 1 ปีนับแต่วันที่พนักงานกระทำความผิด (ไม่ใช่นับแต่วันที่ตักเตือน) นะครับ
            ซึ่งหากพนักงานกระทำความผิดซ้ำความผิดเดิมภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ทำความผิดครั้งก่อนหน้านี้ บริษัทก็สามารถดำเนินการทางวินัยไปตามระเบียบข้อบังคับได้ต่อไป
            ผมอยากจะฝากไว้ในตอนท้ายนี้ว่า การลงโทษทางวินัยนั้นผู้บริหารจะต้องมีความยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติที่จะทำให้พนักงานเกิดคำถามข้อโต้แย้ง หรือเกิดความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามมาซึ่งจะส่งผลกระทบถึงแรงงานสัมพันธ์ในอนาคตด้วยนะครับ

.............................................................................

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เหตุใดจึงต้องทดลองงาน 120 วัน ใครควรพิจารณาว่าผ่านทดลองงานหรือไม่ ?



            เวลาบริษัทรับคนเข้าทำงาน ท่านเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมบริษัทจะต้องมีการให้ทดลองงานและทำไมต้องทดลองงาน 120 วันเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำไมถึงทดลองงาน 60 วัน, 90 วัน, 180 วัน หรือทดลองงานสัก 1 ปีไม่ได้หรือ นี่คำถามข้อแรกนะครับ
            ส่วนคำถามข้อที่ 2 ก็คือ เมื่อพนักงานทดลองงานครบกำหนด (เช่น 120 วัน) แล้ว ใครควรเป็นคนพิจารณาว่าจะผ่านทดลองงานหรือไม่ หัวหน้าหน่วยงานนั้น ๆ หรือฝ่ายบุคคล ?
            เรามาตอบข้อสงสัยในคำถามแรกกันก่อนนะครับ
          ผมเคยถามผู้เข้าอบรมในหัวข้อกฎหมายแรงงานอยู่เสมอ ๆ ว่า “เหตุใดถึงต้องมีการทดลองงาน 120 วัน ?” แล้วก็จะได้รับคำตอบจากผู้เข้าอบรมบ่อยครั้งว่า
เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดไว้อย่างนั้น !?
            เพื่อพิสูจน์ว่าคำตอบนี้ถูกต้องหรือไม่ก็ต้องไปเปิดดูพรบ.คุ้มครองแรงงานดูทั้ง 166 มาตรา เอ้า ! ผมให้เวลาท่านไปเปิดดูสิครับว่ามีมาตราใดเขียนว่าให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างทดลองงาน 120 วันนั้นมีหรือไม่ เปิดดูเลยครับ....
            ติ๊กต็อก...ติ๊กต็อก.....หมดเวลา....
            หาเจอไหมครับ....ไม่เจอหรอก....เพราะไม่มีมาตราไหนเขียนเอาไว้อย่างนี้แน่นอน
          อ้าว....ถ้างั้นเจ้าตัวเลขมหัศจรรย์ (Magic Number) 120 วันมันมาจากไหนกันล่ะ ?
            ตอบได้อย่างนี้ครับ....
            ท่านลองเปิดไปดูมาตรา 118 ที่เขาพูดถึงเรื่องของการจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ได้กระทำความผิดทางวินัยร้ายแรงงาน เช่น ลูกจ้างที่ทำงานไม่ดีไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่นายจ้างกำหนด, ลูกจ้างขี้เกียจ, นายจ้างไม่ชอบโหวงเฮ้งของลูกจ้างเพราะหมอดูบอกว่าจะเป็นกาลกิณีกับบริษัท, ลูกจ้างสุขภาพไม่ดีสามวันดีสี่วันป่วย ฯลฯ เมื่อจะเลิกจ้างนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานโดยกำหนดตั้งแต่ 120 วันไม่เกิน 1 ปี ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน (หรือพูดภาษาชาวบ้านว่าจ่ายค่าชดเชย 1 เดือน) ครับ
          ดังนั้น ถ้าหากทดลองงานกันตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป แม้พนักงานจะทำงานไม่ดีจนไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทจะเลิกจ้างก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้างพร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานในอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
            แต่ในทางปฏิบัติพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานเมื่อครบ 120 วัน ก็มักจะไม่รอให้บริษัทเลิกจ้างเพราะจะเสียประวัติ หากจะไปสมัครงานที่อื่นเวลาเขาสอบถามว่าพ้นสภาพจากที่เดิมด้วยสาเหตุอะไร ก็ต้องตอบไปว่า “ถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน” ซึ่งอาจจะเป็นเหตุทำให้กรรมการสัมภาษณ์เขาไม่รับเข้าทำงาน ก็เลยเขียนใบลาออกจะดีกว่า
ซึ่งถ้าเขียนใบลาออกก็จะไม่ได้รับค่าชดเชย 1 เดือนเนื่องจากเป็นการสมัครใจลาออกเอง
          จากสาเหตุใดกล่าวถึงได้เป็นที่มาของการทดลองงานไม่ให้เกิน 119 วันเผื่อไว้ว่าถ้าพนักงานทดลองงานกล้าได้กล้าเสีย ยอมให้บริษัทเลิกจ้างบริษัทจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย 30 วันเนื่องจากอายุงานยังไม่ถึง 120 วันยังไงล่ะครับ
            คราวนี้มาคำถามที่สองคือ แล้วใครควรเป็นคนพิจารณาว่าพนักงานทดลองงานควรจะผ่านทดลองงานหรือไม่ ?
          โดยหลักสามัญสำนึก โดยหลักเหตุและผล ก็ควรเป็นหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาของพนักงานคนนั้น ๆ ใช่ไหมครับ ?
            ผมก็เชื่อว่าส่วนใหญ่ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงพยักหน้าเห็นด้วยกับหลักการนี้ แต่....
            จากที่ผมพบเห็นมากลับไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิครับ....
            หลายแห่งยังโบ้ยมาให้ฝ่ายบุคคลเป็นคนตัดสินใจว่าพนักงานของฝ่ายนั้น ๆ จะผ่านทดลองงานหรือไม่ โดยหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาโดยตรงบอกว่า “เป็นเรื่องของคน ฝ่ายบุคคลต้องพิจารณา”
            มันแปลกดีนะ....ลูกน้องตัวเองทำงานดีหรือไม่ดีบอกไม่ได้ (ไม่กล้าบอก) แต่โยนไปให้คนอื่นที่ไม่ได้ทำงานอยู่ด้วย (เช่นฝ่ายบุคคล) เป็นคนตัดสินใจว่าลูกน้องของตัวเองควรจะผ่านทดลองงานหรือไม่
            ผมมักจะพูดทีเล่นทีจริงอยู่เสมอว่า “ไม่ใช่แฟน..ทำแทนไม่ได้” นะครับ “วัวของใครก็เข้าคอกคนนั้น” ไม่ใช่จะมาอ้างว่าเป็นเรื่องของคน แล้วมาเหมาว่าฝ่ายบุคคลต้องพิจารณาตัดสินใจ แล้วถามว่า “งั้นบริษัทจะตั้งคุณมาเป็นหัวหน้างานไว้ทำอะไรล่ะครับ”
            หัวหน้ากับลูกน้อง ก็เหมือนกับพ่อแม่กับลูกนั่นแหละ ถ้าพ่อแม่ไม่ดูแลลูกของตัวเองจะไปโบ้ยให้ครูหรือโรงเรียนดูแล เขาก็ดูได้ระดับหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วพ่อแม่ก็ยังต้องดูแลลูกของตัวเอง
          แต่ถ้าหัวหน้างานบอกว่าจะไม่ดูแลลูกน้องของตัวเอง ไม่อยากจะรับผิดชอบลูกน้องของตัวเองแต่จะคอยปัดความรับผิดชอบไปให้คนอื่น บริษัทก็ไม่ควรจะแต่งตั้งคนที่มีความคิดทำนองนี้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าเป็นผู้บังคับบัญชานะครับ
            เพราะนอกจากจะขาดภาวะผู้นำ (Leadership) ไม่กล้าแม้แต่จะแจ้งผลกับลูกน้องทดลองงานแล้ว บริษัทยังจะได้คนที่ขาดความรับผิดชอบขึ้นมาเป็นผู้บริหารอีกด้วย ซึ่งหลายบริษัทที่มีปัญหาในเรื่องคนทุกวันนี้ก็เพราะผู้บริหารที่ไม่กล้าและขาดความรับผิดชอบในเรื่องคนทำนองนี้แหละครับ
            ตกลงมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านคงจะได้คำตอบแล้วนะครับว่าใครควรเป็นคนพิจารณาให้พนักงานในหน่วยงานของตัวเองผ่านทดลองงานหรือไม่

……………………………………..

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

HR กับความลับ




            ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากจะรู้เรื่องลับ ๆ ไม่ว่าจะเป็นความลับส่วนบุคคล, ความลับของหน่วยงาน, ขององค์กร ฯลฯ ยิ่งลับยิ่งอยากรู้
            ในขณะที่ก็จะมีคนอีกจำนวนหนึ่งเหมือนกันที่พอรู้ความลับก็เก็บเอาไว้ไม่อยู่ เมื่อรู้เรื่องที่ลับ ๆ มาก็อยากจะ “แฉ” ไม่ว่าจะแฉแต่เช้าหรือแฉยันเย็นยันดึกก็อดใจไว้ไม่ได้จะต้องหาทางไปนั่งเม้าท์มอยบอกเพื่อน บอกญาติพี่น้อง ฯลฯ ระบายความลับเหล่านั้นออกไปบ้างไม่งั้นจะรู้สึกเหมือนอกจะแตกเสียให้ได้ ซึ่งพวกนี้ก็อาจจะเป็นพวกที่เรียกว่า “อะไรที่เรารู้ (ความลับเรื่องอะไรก็ตาม)....โลกต้องรู้”
          จากที่ผมเกริ่นนำมาข้างต้นก็เพื่อต้องการจะนำท่านเข้าสู่เรื่องของ HR กับความลับนี่แหละครับ !!
            อยากจะฝากข้อคิดกับคนทำงานอาชีพ HR ด้วยกันว่า การทำงาน HR นั้น เราจะต้องเป็นคนกลางระหว่างผู้บริหารกับพนักงานซึ่งจะต้องได้รับรู้เรื่องราวของทั้งสองฝ่ายและจะได้ยินได้ฟังเรื่องลับ ๆ ของทั้งสองฝ่ายนี้อยู่เป็นประจำ เช่น....
            1. ในที่ประชุมเลื่อนตำแหน่งพนักงาน ผู้จัดการฝ่ายคนหนึ่งเสนอให้ลูกน้องที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าที่ประชุมผู้บริหารให้พิจารณาเลื่อนตำแหน่ง แต่เมื่อถูกผู้บริหารซักถามเกี่ยวกับลักษณะงานและคุณสมบัติของลูกน้องมาก ๆ เข้า ผู้จัดการฝ่ายก็เลยขอถอนเรื่องการเสนอเลื่อนตำแหน่งลูกน้องคนนี้ออกมาก่อนดีกว่า หรือ....
            2. พนักงานมานั่งปรับทุกข์ในเรื่องปัญหาทางบ้านที่ทะเลาะกับภรรยาอยู่บ่อย ๆ เพราะภรรยาเป็นคนขี้หึงชอบระแวงว่าสามีจะไปมีกิ๊กทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้นสักหน่อยกับ HR เพราะคิดว่าเผื่อจะได้คำแนะนำอะไรดี ๆ บ้าง
              จากแค่เพียงสองตัวอย่างข้างต้นที่ถ้าหากคนทำงาน HR จะต้องเข้าไปรับทราบข้อเท็จจริงอยู่ในห้องประชุมหรือได้ฟังทุกข์ของพนักงานแล้วเกิดเป็นคนที่เก็บความลับไว้ไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้นครับ ก็คงจะต้องนำออกไปบอกต่อทำนองนี้....
            1. พนักงานที่ได้รับการเสนอให้เลื่อนตำแหน่งไม่กล้าถามผลจากหัวหน้า ก็เลยดอดมาถาม HR ว่าผลการประชุมเลื่อนตำแหน่งเป็นยังไงบ้าง จะมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งครั้งนี้กับเขาบ้างไหม HR ก็แฉทันทีว่า “คุณอย่าไปหวังอะไรจากหัวหน้าของคุณเลย ผมเห็นเขานั่งจ๋อย ชี้แจงเรื่องความเหมาะสมของคุณไม่ได้ซักอย่าง แถมพอจะจนมุมก็เลยตัดบทขอถอนเรื่องที่เสนอให้คุณเลื่อนตำแหน่งกลับมาก่อนเฉยเลย แต่คุณก็อย่าไปบอกแกนะว่าผมบอก....” หรือ....
             2. พอเจอผู้จัดการฝ่ายของพนักงานที่มีปัญหาเรื่องปัญหาทางบ้านก็เข้าไปรายงานทันที “คุณรู้เรื่องลูกน้องคุณบ้างไม๊” แน่นอนว่าพอขึ้นต้นแค่นี้ผู้จัดการฝ่ายก็ต้องมีคำถามต่อว่า “เรื่องอะไรล่ะ” เท่านั้นแหละครับ เรื่องราวที่พนักงานเล่าให้ฟังก็พรั่งพรูไปสู่ผู้จัดการฝ่าย ทั้ง ๆ ที่ตัวพนักงานเองไม่อยากจะให้หัวหน้ารู้ถึงได้มาปรึกษากับ HR ซึ่งเมื่อหัวหน้าของเขารู้ก็อาจจะมีผลกระทบกับงานของเขาได้
ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างง่าย ๆ สักสองเรื่องข้างต้นนี้ก็เพื่ออยากจะให้ข้อคิดเตือนใจคนทำงาน HR
ว่านี่คือจรรยาบรรณของคนทำงาน HR ที่จะต้องเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็นความลับ เพราะยิ่งพูดออกไปยิ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายในเชิงแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร แต่คนบางคนอาจจะไม่คิดอย่างนั้น เพราะเขาจะคิดว่ายิ่งได้แพลมความลับออกไปเป็นระยะ ๆ ก็จะเป็นการสร้างความสำคัญให้กับตัวเองประมาณว่าฉันก็เป็น Insider คนหนึ่งที่รู้เรื่องราวเหล่านี้ดีนะ  ฉันอยู่ใกล้แหล่งข่าว ฉันรู้จริง ฯลฯ หรือพูดง่าย ๆ ว่าอยากจะอวดว่าฉันแสนรู้ก็ได้กระมังครับ
            ผมเคยทำงาน HR ในบริษัทแห่งหนึ่งที่ MD อยากจะให้ผมเอาเรื่องของพนักงานมาเล่าให้ฟังว่าพนักงานคนไหนนินทาอะไร MD บ้าง (ซึ่งแกคงจะเอาไว้ให้คุณให้โทษกันตอนปลายปีสำหรับคนที่เป็นลูกรักหรือลูกชัง) ผมก็ต้องบอกว่า “ไม่ทราบ” เสียส่วนใหญ่เวลาแกถามถึงพนักงานคนนั้นคนนี้ว่าพูดถึงแกว่ายังไงบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าผมบอกไปตามที่พนักงานเหล่านั้นพูดกับผมก็จะมีผลร้ายกับพนักงานเหล่านั้นแหง ๆ จนแกมักจะบอกกับผมว่า “ทำไมคุณไม่รู้เรื่องของพนักงานบ้างเลย” ก็ได้แต่คิดในใจว่าก็เรื่องที่พี่อยากรู้มันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับทั้งตัวพี่และบริษัทเลยนี่ครับ
            ผมจะถือหลักว่าถ้าสิ่งที่ผมรู้จะทำให้เกิดความเสียหายกับองค์กรหรือตัวบุคคล เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นแล้ว ผมก็จะหาวิธีบอกเรื่องเหล่านี้อย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดผลดีกับส่วนรวมทั้งหมด บางเรื่องอาจจะจำเป็นต้องบอกทั้งหมดให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ
แต่บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องบอกทั้งหมดโดยบอกเพียงประเด็นสำคัญก็พอเพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายแต่ถ้าเป็นเรื่องเอามาเม้าท์แบบเล่าสู่กันฟังเฉย ๆ หรือพูดแล้วทำให้คนที่เขาไว้ใจมาบอกเราเกิดความเสียหายแล้วผมก็ไม่ทำอย่างแน่นอน
            จากที่ผมแชร์ประสบการณ์มาทั้งหมดก็เพื่ออยากจะให้เพื่อน ๆ ที่ทำงาน HR ได้มีวิจารณญาณที่ดีในเรื่องเหล่านี้ และควรจะตั้งสติยั้งคิดให้ดีถือหลักที่ว่า คิดก่อนพูดและไม่ต้องพูดทุกอย่างที่เราคิดก็ได้นะครับ
          สำหรับผมแล้ว เนื่องจากการทำงาน HR เป็นงานที่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายพนักงาน ผมจึงเห็นว่าเรื่องของการเก็บรักษาความลับอย่างเหมาะสมทั้งของทางด้านผู้บริหารและด้านพนักงาน โดย HR จะต้องรู้ว่าเรื่องใดควรพูดหรือเรื่องใดไม่ควรพูด เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายกับองค์กรในภาพรวมเป็นจรรยาบรรณสำคัญเรื่องหนึ่งในงาน HR ครับ

............................................