วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

HR ควรปรับตัวอย่างไรให้พร้อมรับ AEC (ตอนที่ 3)


            ผมได้เล่าให้ท่านฟังในเรื่องที่ว่าคนทำงาน HR ควรจะมีการปรับตัวอย่างไรให้พร้อมรับ AEC มาถึงตอนนี้เป็นตอนที่ 3 แล้วนะครับ เพื่อไม่ให้เสียเวลาเรามาพูดกันในข้อต่อไปดังนี้ครับ

7. มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน

ซึ่ง HR ควรจะต้องเข้าใจในเรื่องการทำงานต่างวัฒนธรรม (Cross Cultural) ของเพื่อนบ้านอาเซียนว่าเขามีวัฒนธรรมการทำงานที่เหมือนหรือแตกต่างกับเรายังไงบ้าง เช่น คนสิงคโปร์ก็มักจะมีสไตล์การทำงานแบบมั่นใจในตัวเองสูง กล้าแสดงความคิดเห็น มีกระบวนคิดที่เป็นระบบจะไปพูดลอย ๆ แล้วไม่มีข้อมูลหรือเหตุผลรองรับไม่ได้ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี หรือในกรณีไปทำงานที่บรูไนถ้าเป็นผู้หญิงเขาก็จะไม่ยื่นมือให้ผู้ชายจับ (กรณีจะเช็คแฮนด์) หรือไม่ควรใช้มือซ้ายส่งของให้กับผู้อื่น หรือกรณีไปอินโดนีเซียก็ไม่ควรลูบหัวคนอื่น (อันนี้ถือคล้าย ๆ กับคนไทย) แต่จะรวมถึงการลูบหัวเด็กเล็ก ๆ ก็ไม่สมควร และก็ไม่ใช้มือซ้ายส่งของรับของรวมถึงรับประทานอาหาร เป็นต้น ซึ่งถ้าหาก HR ได้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ก่อนพนักงานก็จะสามารถให้คำแนะนำกับพนักงานในองค์กรได้ดีกว่าที่จะไม่รู้อะไรเลยแล้วรอให้พนักงานมาบอกจริงไหมครับ

          8. มีความรู้และเข้าใจในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแต่ละประเทศ

            เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับ HR อีกเรื่องหนึ่งเลยนะครับ ที่ HR จะต้องศึกษาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น กฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศ, กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, กฎหมายเรื่องเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันสังคม, การทำเรื่องขออนุญาตทำงานในแต่ละประเทศว่ามีขั้นตอนวิธีการอย่างไร เป็นต้น

            เพราะบอกแล้วว่า HR จะต้องตอบข้อซักถามของพนักงานทั้งคนไทย และต่างชาติในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนและสวัสดิการ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทั้งพนักงานไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน และพนักงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาทำงานในบ้านเราซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของ HR ที่จะต้องให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือกับพนักงานในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ถ้า HR ยังไม่ทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้แล้วใครจะมาช่วยให้คำปรึกษาหรือให้ความช่วยเหลือกับพนักงานได้ล่ะครับ

            จากตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านคงจะเห็นภาพแล้วว่าการทำงานของ HR ในยุค AEC จำเป็นจะต้องเดินออกมาจากมุมสบาย ๆ ทำงานแบบ Routine ไปวัน ๆ มาเป็นการทำงานที่จะต้อง “ถึงลูกถึงคน” และสนใจใฝ่หาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ให้มากขึ้นกว่าสมัยก่อนมากเลยนะครับ

          9. ระบบฐานข้อมูลบุคลากร หรือ HRIS (Human Resource Information System) เป็นเรื่องสำคัญ

            วันนี้บริษัทของท่านยังเก็บข้อมูลพนักงานด้วยกระดาษเป็นแฟ้ม ๆ ในตู้เหล็กสี่ลิ้นชักกันอยู่หรือเปล่าครับ ?

            ถ้าเป็นอย่างนั้น HR ก็ควรจะต้องคิดหาโอกาสในการเสนอฝ่ายบริหารเพื่อสร้างระบบจัดการฐานข้อมูลพนักงานโดยเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้แล้วครับ เพราะจะทำให้การจัดเก็บข้อมูลในลักษณะต่าง ๆ เช่น ข้อมูลทั่วไป, ข้อมูลการเลื่อนตำแหน่ง-โอนย้าย, ข้อมุลเกี่ยวกับการพัฒนาและฝึกอบรม, ข้อมูลประวัติการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง, ข้อมูลการประเมินผลการปฏิบัติงาน ฯลฯ ไปจนถึงการเรียกใช้ข้อมูล และการออกรายงานตามความต้องการเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการและตัดสินใจของฝ่ายบริหารรวดเร็วฉับไว ซึ่งถ้าหากยังเป็นระบบข้อมูลแบบกระดาษแบบเก่าอยู่กว่าผู้บริหารจะได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเรื่องอะไรก็ตามจะต้องล่าช้าอย่างแน่นอน แล้วจะไปแข่งขันกับใครเขาได้ล่ะครับ

            ผมก็ได้นำเสนอเรื่องที่คิดว่าคนที่ทำงานด้าน HR ควรจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมรับกับ AEC ที่กำลังจะมาถึงในปี 2558 นี้พอสมควรแล้วนะครับ ถ้าหากจะมีอะไรนอกเหนือจากนี้ท่านก็ต้องลองไปหาข้อมูลดูจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการแข่งขันระดับภูมิภาคในอนาคตอีกไม่นานนี้

            แต่ก็อย่างที่ผมบอกไว้ตอนแรกของบทความนี้นะครับว่า อยากจะให้ “ตื่นตัว” เพื่อให้พร้อมรับ แต่ไม่อยากจะให้ “ตื่นกลัว” จนเกินเหตุ

            เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าควรจะต้องปรับปรุงและพัฒนาให้เร็วที่สุดไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงาน HR หรือไม่ก็ตาม นั่นคือเราจำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นกว่านี้นะครับ เพราะจากข้อมูลของ EF Proficiency Index พบว่าทักษะการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักนั้น

ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 42 จาก 44 ประเทศครับ และภาษาอังกฤษก็ถือว่าเป็นภาษากลางที่ใช้กันทั่วโลกไม่แต่เฉพาะในอาเซียนเท่านั้น !

            ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องหันมาให้ความสำคัญสำหรับการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ (ที่ไม่ได้มีความหมายแค่ท่องจำศัพท์, ท่องไวยากรณ์, ผันกริยาสามช่อง ฯลฯ ได้แล้วเพียงแค่ไปสอบให้ได้คะแนนเต็มแต่ฟังและพูดกับชาวต่างชาติไม่ได้) ในทุกระดับตั้งแต่นักเรียนนักศึกษามาจนถึงคนทำงานเพื่อสร้างขีดความสามารถให้พร้อมกับการแข่งขันครับ

…………………………………….

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

HR ควรปรับตัวอย่างไรให้พร้อมรับ AEC (ตอนที่ 2)


            ในตอนที่แล้วผมได้เล่าให้ท่านฟังถึงการเตรียมความพร้อมของคนที่ทำงาน HR ว่าควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อรับกับยุค AEC ในปี 2558 นี้ ซึ่งก็เล่าไปได้ 3 ข้อ เพื่อไม่ให้เสียเวลาผมขอพูดถึงข้อต่อมาเลยนะครับ

4. คนทำงาน HR ควรจะต้องรู้ เข้าใจ และใช้ IT ได้อย่างชำนาญ

            บางคนอาจทำหน้าฉงนสงสัยว่าเอ๊ะ ! ก็เมืองไทยของเราก็ใช้คอมพิวเตอร์กันไม่น้อยแล้วนี่นา แม้แต่เด็กป.1 ก็ยังได้รับแจก Tablet ใช้เรียนกันแล้วทำไมคน HR ยังไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่อง IT อีกหรือ ?

            ผมไม่ได้หมายความอย่างนั้นเสียทีเดียว จริงอยู่ที่หลายองค์กรมีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้ แต่เราใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไรครับ ? บางคนก็ใช้คอมพิวเตอร์แทนเครื่องพิมพ์ดีดคือพิมพ์งานที่เป็นเอกสารเข้าไฟล์เพื่อที่จะสั่งให้เครื่องพิมพ์ทำการพิมพ์ไฟล์นั้นออกมาเป็นกระดาษเพื่อนำส่งผู้บริหารหรือหน่วยงานอื่น ๆ กันต่อไป หรือจะเรียกว่าแปลงดิจิตอลกลับเป็นอนาล็อกก็ได้ จากข้อมูลของ www.thai-aec.com พบว่าประเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์สูงสุด 5 อันดับแรกคือ 1. สิงคโปร์ 2. บรูไน 3. มาเลเซีย 4. เวียดนาม และ 5. ฟิลิปปินส์ ส่วนไทยยังไม่ติด 5 อันดับแรกเลยนะครับ

            ดังนั้นคนที่ทำงาน HR ควรจะต้องคิดหาวิธีใช้คอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่ เช่น

            4.1 คอยเข้าไป Search ดูข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ จากเว็บไซด์ที่เป็นชุมชนออนไลน์ของคนทำงานที่มีอยู่หลาย ๆ เว็บเพื่อจะได้หาช่องทางติดต่อเข้าไปที่แหล่งงานนั้น ๆ โดยตรง แทนที่จะไปหาผู้สมัครงานแบบเดิม ๆ โดยคิดแต่ละลงโฆษณารับสมัครงานในหน้าหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียวหรือไม่

            4.2   หาวิธีลดงานกระดาษ (Paper Work) โดยการนำ Software ด้าน HR หรือที่เรียกว่า HRIS (Human Resource Information System) มาใช้แทนการเก็บข้อมูลพนักงานในด้านต่าง ๆ ที่ยังเป็นแฟ้มกระดาษ, การประเมินผลต่าง ๆ ผ่านระบบ IT ที่ไม่ต้องใช้แบบฟอร์มกระดาษ, การลาแบบ On Line โดยไม่ต้องใช้กระดาษ, การสมัครงานผ่านเว็บไซด์ของบริษัท, การให้ผู้สมัครงานอัดคลิปนำเสนอตัวเองเพื่อสมัครงาน, การสัมภาษณ์โดยใช้ Face time ในกรณีอยู่ไกลกัน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้งานสะดวกรวดเร็วขึ้น เรียกค้นข้อมูลง่ายลดเวลาการทำงานลงเพื่อเอาเวลาไปทำประโยชน์อื่นที่ดีกว่านี้

            4.3 เพิ่มทักษะความชำนาญในการใช้ซอฟแวร์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยสนใจใฝ่เรียนรู้และนำซอฟแวร์ที่น่าสนใจมาประยุกต์ใช้กับงานด้านต่าง ๆ ของ HR

            พูดง่าย ๆ ว่า HR ควรจะต้องออกจากมุมเดิม ๆ ในเรื่องงานเอกสารกองกระดาษมาสู่โลก IT ได้แล้วครับ

5. HR ควรเป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) กับฝ่ายบริหารอย่างจริงจัง

            อันที่จริงแล้วคำว่า “คู่คิดเชิงกลยุทธ์” นี้มีมานานแล้วล่ะครับ แต่ก็อาจจะยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนนัก เพราะในหลาย ๆ องค์กร HR ก็เป็นเพียง “ผู้ทำตามสั่ง” มากกว่า แต่ในโลกการแข่งขันระดับภูมิภาคแบบ AEC ผมว่าฝ่ายบริหารก็น่าจะต้องหันกลับมาปรึกษาหารือกับ HR ให้มากขึ้น ในขณะที่คนทำงาน HR ก็ควรจะต้องมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น และเตรียมความพร้อมของตัวเองให้มากขึ้นอย่างที่ผมบอกไปแล้วก่อนหน้านี้ในหลาย ๆ เรื่องเพื่อให้ฝ่ายบริหารเกิดการยอมรับในตัว HR ด้วยเหมือนกัน ในมุมมองของผมนั้น HR ควรจะต้องเกี่ยวข้องงานด้าน Strategic Partner ดังต่อไปนี้

            5.1 รับรู้และเข้าใจใน Business Plan ของบริษัท (ซึ่งก็ต้องเกิดจากการที่ HR จะต้องมีความรู้ในธุรกิจที่ดีเสียก่อนที่ผมพูดไปแล้วในข้อที่ 1 ตอนที่แล้ว) คือทราบทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตของบริษัทโดยเข้าร่วมประชุม และรับทราบนโยบายทางธุรกิจเพื่อนำมาสู่การคิดและวางแผนบุคลากรในด้านต่าง ๆ

            5.2 วิเคราะห์และนำเสนอแผนอัตรากำลัง/แผนการสรรหาคัดเลือกบุคลากร

            5.3 วางแผนและนำเสนอกลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สามารถแข่งขันได้

            5.4 นำเสนอการประเมินผลการปฏิบัติงานที่วัดผลงานได้ชัดเจน และนำผลการปฏิบัติงานไปใช้ในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท

            5.5 วางแผนและนำเสนอแนวทางในการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ

            5.6 วางแผนและนำเสนอแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานสัมพันธ์

          6. หาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, วัฒนธรรม ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่เสมอ ๆ

ข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้นำมาปรับปรุงแผนงานต่าง ๆ ของบริษัทให้มีความพร้อม และช่วยในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างทันสถานการณ์ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วเดี๋ยวนี้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มีความรวดเร็วอยู่ที่ใครจะเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราและองค์กรได้เร็วกว่าพร้อมทั้งนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้ดีกว่ากัน โดย HR ยุคใหม่ควรจะต้องรู้จักการท่องเว็บ และ Search หาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ บนอินเตอร์เน็ตอยู่เสมอ ๆ รวมถึงต้องเข้าสัมมนา อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังข่าวเพื่อ Update ตัวเองด้วยนะครับ

            ว้า ! หมดโควต้าอีกแล้ว คงต้องต่อในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนที่ 3 ว่า HR ควรจะต้องปรับตัวเพื่อรับกับ AEC อย่างไร ซึ่งคงจะจบครบถ้วนในตอนหน้านี่แหละครับ
..........................................

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

HR ควรปรับตัวอย่างไรให้พร้อมรับ AEC (ตอนที่ 1)


            ตอนนี้กระแส AEC (Asean Economic Community) กำลังมาแรงและมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันในวงสนทนารวมถึงวงการ HR ด้วย ซึ่งตอนนี้กระแสดังกล่าวจะว่าไปแล้วก็คล้าย ๆ กับช่วงที่มีกระแส Y2K (คือช่วงที่เราจะเปลี่ยนเข้าสู่ปีคศ.2000) ที่หลายคนตื่นกลัวว่าจะเกิดเหตุอย่างนั้นอย่างนี้กันจนเกินเหตุ (จนเป็น Y2K Phobia) ทั้ง ๆ ที่เราก็ผ่านปี 2000 มาได้โดยสวัสดิภาพแล้วก็ได้เรียนรู้ว่าบางทีเรื่องที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด (ตื่นกลัวจนเกินเหตุ) ก็ได้จริงไหมครับ

            เรื่อง AEC นี่ก็คล้าย ๆ กัน ที่ผมคิดว่าการเตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ด้วยความไม่ประมาทนั้นเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ควรตื่นตกใจกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงจนกลายเป็น AEC phobia แล้วมองว่ามันจะเลวร้ายไปหมด คือตื่นตัวแต่ไม่ควรตื่นตกใจจริงไหมครับ

            แน่นอนว่าทุกองค์กรก็คงจะต้องเตรียมตัวและเตรียมคนให้พร้อม   แต่ก่อนที่จะเตรียมคนในฝ่ายอื่น ๆ นั้น HR ก็ควรจะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเสียก่อน เราลองมาดูกันสิว่าคนที่ทำงานด้าน HR ควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างกับ AEC ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตกันใกล้นี้

1.      HR ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนคนอื่น เช่น

1.1  HR ต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ในเชิงธุรกิจ (Business Acumen) ให้มากขึ้น เพื่อจะได้คุยกับฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายอื่น ๆ รู้เรื่อง ไม่ใช่รู้แค่เรื่องรับคนเข้า-เอาคนออก หรือรู้เฉพาะแต่งานของ HR เพียงอย่างเดียวจริงไหมครับ ดังนั้น HR ควรจะต้องมีความรู้ทางด้านธุรกิจด้วย เช่น เขาพูดเรื่อง 4P’s เราก็ควรจะต้องรู้ว่าคืออะไร ไปคุยกับฝ่ายขายก็ต้องรู้เรื่องของการขาย ติดต่อฝ่ายบัญชีการเงินก็ควรจะต้องพูดคุยกับเขาในเรื่องงบการเงินได้รู้จักเรื่อง Ratio บ้าง อันที่จริงแล้วคนที่ทำงาน HR ควรจะไปเรียนรู้หลักสูตรประเภท Mini MBA เพื่อให้รู้จักธุรกิจไว้บ้าง หรือถ้าเรียนต่อปริญญาโทด้าน MBA ก็จะเป็นประโยชน์เพราะจะได้เข้าใจเรื่องของธุรกิจมากขึ้นและจะทำให้คุยกับบรรดา Line Manager หรือผู้บริหารได้ด้วยความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น และจะทำให้ Line Manager เกิดความยอมรับมากขึ้นด้วยนะครับ

1.2  ต้อง Update ความรู้ต่าง ๆ อยู่เสมอ ๆ มีคำ ๆ หนึ่งบอกว่า “ใครมีข้อมูลข่าวสารดี คนนั้นได้เปรียบ” ดังนั้น HR จะต้องสนใจติดตามข่าวสารไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, ต่างประเทศ, กีฬา, การเกษตร, เทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อจะได้มีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์นำเสนอเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หรือจะบอกว่า HR ยุค AEC นี้ต้อง “รู้ลึก รู้รอบ” ก็ได้ครับ

2.      เพิ่มทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทำงาน HR (หรือคนทำงานในฝ่ายอื่นก็ตาม) ที่จะต้องหันมาให้ความสนใจในการสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งถือเป็นภาษากลางของอาเซียนให้ได้แล้วล่ะครับ

ดังนั้น HR ควรจะต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครงานเป็นภาษาอังกฤษได้, มีการประชุมเป็นภาษาอังกฤษ, สามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานต่างชาติได้ ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติในองค์กรข้ามชาติในเมืองไทย ซึ่งในอนาคตก็มีแนวโน้มจะเป็นไปแบบที่ผมว่ามานี่แหละครับ ดังนั้นก่อนที่จะให้คนอื่นพร้อม HR ควรจะต้องพร้อมเสียก่อนจริงไหมครับ ตอนนี้ผมเห็นหลายองค์กรที่เริ่มให้พนักงานไปทดสอบ TOEIC กันแล้วก็มีนะครับ

3.      พร้อมที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ

เรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนที่ชอบเดินทางไปในที่ต่าง ๆ แต่จะเป็นปัญหาสำหรับคนที่มีภาระทางครอบครัว หรือคนที่ไม่ชอบการโยกย้าย ซึ่งก็อาจจะเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุ

โดยเฉพาะสาเหตุหลักจากข้อ 2 คือภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงก็เลยไม่อยากจะไปต่างประเทศก็การไปทำงานต่างประเทศไม่เหมือนกับการไปเที่ยวนี่ครับ เพราะเราจำเป็นจะต้องสื่อสารพูดคุยกับคนต่างชาติให้รู้เรื่องได้ด้วย หรือ HR อาจจะต้องไปสรรหาคัดเลือกพนักงานในประเทศนั้น ๆ (Local Staff) เพื่อทำงานในบริษัทที่เราไปเปิดสาขาอยู่ หรือในทางกลับกัน HR ก็ต้องไปสรรหาคัดเลือกผู้สมัครงานในประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำงานกับบริษัทของเราในเมืองไทย  ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะเอาใกล้ ๆ ก็แถว ๆ อาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการไปทำงาน (หรือดูงาน) 1 สัปดาห์ 1 เดือน หรือไปประจำที่ต่างประเทศเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ดังนั้น HR ก็ควรจะมีความคล่องตัวในการแพ็กกระเป๋าไปทำงานต่างประเทศไว้ด้วยนะครับ

ฝอยมาพอสมควรแล้วยังบอกไปได้แค่สามข้อเอง คงต้องมีตอนที่สองแล้วล่ะครับว่า HR ควรจะต้องเตรียมความพร้อมอะไรสำหรับ AEC บ้างในครั้งต่อไปครับ

………………………………….

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แนะนำหนังสือใหม่ของผมเองแหละครับ

   หนังสือ "ตอบโจทย์ปัญหาค่าตอบแทน" เพิ่งออกมาอุ่น ๆ เลยครับสำหรับคนที่สนใจในเรื่องของค่าตอบแทน หนังสือเล่มนี้จะเรียกว่าเป็น Season 2 ต่อจาก Season 1 คือ "ค่าตอบแทน บริหารให้โปร่งใส จูงใจพนักงาน" ก็ว่าได้

   จะรวมรวมปัญหาเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่ผมได้รับจากทั้งในห้องสัมมนา และจากอีเมล์ที่ท่านสอบถามกันเข้ามา ซึ่งจะเรียกว่าหนังสือเล่มนี้คนที่มีส่วนร่วมอย่างสำคัญคือมิตรรักแฟนคลับทุกท่านก็ว่าได้โดยผมเป็นเพียงผู้รวบรวมเป็นเล่ม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมีข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนเพิ่มเติมคือ "จะบริหารค่าตอบแทนอย่างไรในยุค AEC" ในความคิดเห็นของผม

   หนังสือนี้อ่านได้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงาน HR หรือจะเป็นคนที่ทำงานหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช HR ก็อ่านได้ครับ ถ้าหากอ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็ช่วยกันบอกต่อเพื่อเป็นความรู้ต่อไปด้วยนะครับ

   หาได้ตามร้านซีเอ็ดฯ หรือที่บู๊ทของสำนักพิมพ์ส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น (ผู้พิมพ์) ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 18-28 ตค.55 ครับ


วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ค่าอะไรบ้างจะรวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง


วันนี้มีคำถามถึงผมในเรื่องของคนที่กำลังจะถูกเลิกจ้างว่าทำงานมาแล้ว 5 ปีเศษ ๆ กำลังจะถูกให้ออกเนื่องจากทางบริษัทแจ้งว่าผลการปฏิบัติงานไม่ได้ตามเป้าหมาย จะได้รับเงินอะไรบ้างหรือไม่เมื่อถูกไล่ออก ปัจจุบันได้รับเงินเดือน ๆ ละ 20,000 บาท ค่าตำแหน่ง 1,500 บาท และค่าครองชีพ 1,000 บาท

ขอตอบดังนี้นะครับ

1. คำว่าถูก "ให้ออก" ที่คุณถามมาในทางกฎหมายแรงงานก็จะเรียกว่าถูก "เลิกจ้าง" ครับ ซึ่งหลายแห่งจะบอกว่าให้ออก (กรณีที่พนักงานไม่ทำความผิดร้ายแรง) หรือไล่ออก (กรณีพนักงานทำความผิดร้ายแรง) ซึ่งในกฎหมายแรงงานมีอยู่คำเดียวว่า "เลิกจ้าง" นั่นแหละครับ อยู่ที่ว่าเมื่อนายจ้างเลิกจ้างแล้วจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานหรือไม่ (กรณีที่พนักงานทำความผิดตามมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงานก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้าไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน)

2. ในกรณีของคุณถามมาว่าทำงานมา 5 ปีเศษ และจะถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้ทำความผิดใด ๆ เพียงแต่ทำงานแล้วมีผลงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่บริษัทกำหนดไว้นั้นก็ถือว่าไม่ได้ทำความผิดร้ายแรง

ดังนั้นบริษัทจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานคือ คุณมีอายุงานระหว่าง 3 ปีไม่เกิน 6 ปีก็จะได้รับค่าชดเชย 180 วันครับ

วิธีการคำนวณก็คือต้องมาดูว่าค่าจ้างของคุณได้รับอยู่เดือนละเท่าไหร่ ?

ผมใช้คำว่า "ค่าจ้าง" ไม่ใช่ "เงินเดือน" นะครับ เพราะในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า "เงินเดือน" ครับ

คำว่า "ค่าจ้าง" ในกฎหมายแรงงานมาตรา 5 หมายถึง....

"เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้"

 

     ดังนั้น ในกรณีของคุณฐานในการคำนวณค่าชดเชยก็คือ เงินเดือน+ค่าตำแหน่ง+ค่าครองชีพ

     ค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยก็คือ 20,000+1,500+1,000=22,500 บาท แล้วหารด้วย 30

     คุณจะได้รับค่าจ้างวันละ 750 บาท ดังนั้นค่าชดเชยที่คุณจะได้รับคือ 750x180=135,000 บาท ครับ

     หวังว่าคงจะเข้าใจตามนี้แล้วนะครับ

......................................................